จาก ‘เงิน’ จนถึง ‘Stablecoin’

ทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของระบบการเงินโล เมื่อ “เงิน” ในระบบการเงินเดิม พัฒนามาสู่ “Stablecoin” ในโลกการเงินยุคใหม่ บทบาทหน้าที่และวิวัฒนาการนี้เป็นอย่างไร มีกฎหมายเข้ามารองรับการเปลี่ยนแปลงนี้แค่ไหน?

ฉบับที่แล้ว ผู้เขียนได้เล่าถึงระบบการเงินแบบไร้ตัวกลาง (Defi) ซึ่ง Stablecoin ถือเป็นกลไกสำคัญในระบบการเงินแบบ Defi ฉบับนี้ ผู้เขียนขอเล่าถึง “เงิน” ในระบบการเงินเดิม และ “Stablecoin” ในโลกการเงินยุคใหม่

  • หน้าที่และบทบาทของเงิน

หากจะเข้าใจ “เงิน” ก็ต้องเข้าใจ “หน้าที่และบทบาทของเงิน” ในระบบเศรษฐกิจก่อน ซึ่งเงินมีคุณสมบัติที่สำคัญ 3 ประการ คือ 1.เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน หมายความว่าเงินมีหน้าที่เป็นตัวกลางที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถชำระค่าสินค้า/บริการได้ 2.เป็นมาตรฐานที่ใช้ในการวัดมูลค่า กล่าวคือเมื่อเราจะใช้เงินเพื่อชำระราคา ก็หมายความว่าเงินมีคุณสมบัติในการใช้เป็นเครื่องมือในการวัดหรือเทียบมูลค่าของสินค้า/บริการดังกล่าวได้ เช่น ข้าวจานละ 5 บาท เป็นต้น 

3.เป็นเครื่องรักษามูลค่า หมายความว่าหากเทียบ “เงิน” กับ “สินค้า” พบว่าสินค้าอาจเสื่อมสภาพตามกาลเวลา เพราะโดยสภาพไม่อาจเก็บมูลค่าไว้ได้นาน เช่น ข้าวที่เราซื้อไว้ 5 บาทไม่นานก็เน่าเสีย ทำให้มูลค่าลดลง และขาด “สภาพคล่อง” ในการเป็น “สินทรัพย์” ดังนั้น เราจึงนิยมเก็บเงินไว้แทนสิ่งอื่น เนื่องจากสามารถเปลี่ยนเป็นสินค้า/บริการได้โดยง่าย มีสภาพคล่องสูง และมีคุณสมบัติในการรักษามูลค่าได้ดี

  • วิวัฒนาการของเงิน

เดิมที เงิน มักสื่อความหมายถึง วัตถุที่มีรูปร่าง จับต้องได้ เช่น เงินเหรียญกษาปณ์และธนบัตร ต่อมาด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวัตกรรมของระบบชำระเงิน ทำให้เกิดระบบการชำระเงินแบบดิจิทัล เช่น บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต (Payment cards) ซึ่งการชำระเงินรูปแบบนี้ยังคงใช้ “เงิน” เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนอยู่ (เพราะมีการอนุญาตให้ธนาคารหักเงินจากบัญชีลูกค้าหลังจากมีการทำธุรกรรม) จนต่อมาได้มีการใช้ e-money ซึ่งเป็นการใช้ระบบข้อมูลที่มีการบันทึกเพื่อเก็บ “มูลค่าของเงิน” ไว้ในไมโครชิพของสมาร์ทการ์ด หรือในเครือข่ายของระบบคอมพิวเตอร์ 

แม้จะไม่ได้ใช้ “เงิน” เป็นสื่อกลางโดยตรง แต่ก็มีการเก็บมูลค่าของเงินไว้เพื่อใช้แลกเปลี่ยนเป็นสินค้า/บริการในอนาคต (ในลักษณะ Prepaid) จนปัจจุบัน เงิน ถูกพยายามสร้างให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลผ่านรูปแบบของคริปโตเคอเรนซี (คริปโต) ในลักษณะต่างๆ โดยใช้ Blockchain และ Smartcontract เป็นเทคโนโลยีพื้นฐาน

  • Stablecoin คือ คริปโตประเภทหนึ่ง

ในทางปฏิบัติ เราสามารถจำแนกคริปโตออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.CBDC หรือแบบที่ธนาคารกลางเป็นคนออก เช่น ดิจิทัลหยวนของจีน 2.แบบ Decentralized หรือแบบที่ไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นคนออก ไม่มีกลไกรักษามูลค่า และไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง เช่น บิทคอยน์และอีเธอร์ 3.Private-entity issued หรือคริปโตประเภทที่ออกโดยองค์กรเอกชน และมักมีการสร้างกลไกรักษามูลค่าของเหรียญให้คงที่

Stablecoin จัดอยู่ในคริปโตประเภทนี้โดยในทางปฏิบัติ ผู้ออก Stablecoin มักเลือกสร้างกลไกรักษามูลค่าใน 3 ลักษณะ คือ แบบที่ใช้เงินตราหนุนหลัง (Fiat-backed) หรือแบบที่ใช้สินทรัพย์หนุนหลัง (Asset-Backed) หรือแบบที่ไม่มีสิ่งใดหนุนหลังแต่ใช้กลไกของ Smart contract และอัลกอริทึ่มในการรักษามูลค่าของเหรียญไว้แทน

  • Stablecoin คือ การสร้างสื่อกลางเพื่อรักษามูลค่า

ดังนั้น เมื่อประสงค์ให้ Stablecoin เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมูลค่าและทำธุรกรรมทางการเงินได้ไม่ต่างจากเงิน ก็ต้องพยายามให้ Stablecoin เป็น “สินทรัพย์” ที่มี “สภาพคล่อง” ให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะมีสภาพคล่องได้ดี ก็ขึ้นอยู่กับว่า “สามารถเปลี่ยนเป็นสินค้า/บริการได้ง่ายเพียงใด” และ “มีความเสี่ยงในการลดลงของมูลค่าได้น้อยแค่ไหน” 

ดังนั้น ด้วยวิธีคิดเช่นนี้จึงเป็นที่มาในการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างกลไกให้ Stablecoin สามารถเก็บรักษามูลค่าได้ตามวิธีการที่ได้กล่าวมาข้างต้น ทั้งนี้ เพื่อพยายามให้เกิดกระบวนการ “เสถียรภาพในค่า” และให้มีสภาพใกล้เคียงกับเงินและระบบการเงินที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันให้มากที่สุดในเชิงเปรียบเทียบ เพื่อหวังผลในการเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการให้บริการทางการเงิน

  • กฎหมายและการกำกับดูแล

ปัจจุบันการกำกับ Stablecoin ในต่างประเทศมีความหลากหลายและอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการกำกับดูแล เช่น จีน ประเทศที่กำลังจะมีสกุลเงินดิจิทัลเป็นของตัวเอง มีแนวทางในการห้ามซื้อขาย/ขุดคริปโตที่ออกโดยภาคเอกชน ในทางกลับกัน ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ไม่ห้ามการออก Stablecoin แบบใช้เงินตราหนุนหลัง และมีการกำกับดูแลในลักษณะที่ใกล้เคียงกับ e-Money

สำหรับประเทศไทย พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.2501 กำหนดให้ “เงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย” หมายถึงเงินเหรียญกษาปณ์และธนบัตรที่ออกโดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เท่านั้น ดังนั้น หากพิจารณา Stablecoin ตามกฎหมายปัจจุบัน จะไม่มีคุณสมบัติเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายแต่ในอนาคตอาจถูกกำกับในฐานะที่เป็นระบบหรือบริการชำระเงินภายใต้ พ.ร.บ.ระบบชำระเงิน พ.ศ.2560 ได้

มาตรา 12 และ 16 ของกฎหมายฉบับดังกล่าวรองรับการกำกับดูแลในกรณีที่มีการใช้ระบบชำระเงิน หรือบริการชำระเงินซึ่งนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ (ซึ่งต้องผ่านการทดสอบการให้บริการโดย ธปท.ก่อน)

ดังนั้น ในทางปฏิบัติ หากเป็นการออก Stablecoin ประเภทใช้เงินบาทหนุนหลังอาจสามารถกำกับในลักษณะใกล้เคียงกับ e-Money ได้ (แต่ต้องพิจารณารายละเอียดของการออกและความเสี่ยงในการใช้งานประกอบด้วย) อย่างไรก็ดี หากเป็นการออก Stablecoin โดยใช้สกุลเงินต่างประเทศ (Fx-Backed) หรือสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ตลอดจนการใช้กลไกของอัลกอริทึ่ม ยังคงเป็นประเด็นท้าทายของกฎหมายการเงินและการกำกับดูแลของภาครัฐในปัจจุบัน

  • กฎหมายและการใช้งานในปัจจุบัน

ดังนั้น การใช้ Stablecoin เพื่อทำธุรกรรมทางการเงินของเอกชน เช่น ชำระค่าสินค้า/บริการระหว่างกัน ถือเป็นสัญญาระหว่างเอกชน ซึ่งสิทธิ หน้าที่ ความรับผิด และผลทางกฎหมาย เป็นสิ่งที่ประชาชนผู้ทำธุรกรรมต้องศึกษาและพิจารณาความเสี่ยงด้วยตนเอง เพราะไม่ใช่กิจการที่อยู่ภายใต้การกำกับของภาครัฐ เช่น ความเสี่ยงจากการผันผวนของมูลค่า ความน่าเชื่อถือของผู้ออกเหรียญและแพลตฟอร์ม ความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ และความเสี่ยงจากการถูกนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้โดยมิชอบ

ท้ายที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่ากฎหมายไม่ได้จะตามเทคโนโลยีทันในทุกแง่มุม เทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่กฎหมายหรือแนวกำกับดูแลจากภาครัฐต้องใช้เวลาเพื่อให้ได้แนวทางที่เหมาะสม ดังนั้น “การส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้กับผู้บริโภค” คือสิ่งที่ทำได้ก่อนในลำดับแรก

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน