สธ.เผย4กลุ่มก้อน ‘สถานบันเทิง’แพร่ 'โควิด 19' 

สธ.เผย4กลุ่มก้อน ‘สถานบันเทิง’แพร่ 'โควิด 19' 

สธ.เผยพบสัญญาณ "สถานบันเทิง"แพร่โควิด 19 มากขึ้น มีรายงานแล้ว 4 กลุ่มก้อนใน 3 จังหวัด กทม.-ปทุมธานี-นครปฐม กรณีพระมรณภาพ ผลชันสูตรศพเบื้องต้นเส้นเลือดหัวใจตีบ

     เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 2 เม.ย. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในแถลงข่าวสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด 19 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า  สัญญาณที่เตือนในช่วงใกล้หยุดยาวเทศกาลสงกรานต์  โดยสถานที่เสี่ยงที่เริ่มมีรายงานพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น

          สรุปสถานการณ์และปัจจัยเสี่ยงจากการเฝ้าระวังและสอบสวนโรครายสัปดาห์ที่ผ่านมา  มี 5 เหตุการณ์ คือ  1.ตลาดย่านบางแค พบการระบาดของโรคเชื่อมโยงไปหลายจังหวัด จากกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและการค้นหาเชิงรุกต่อเนื่องจาก 2-3 สัปดาห์ก่อน  2.สถานบริการ ผับบาร์ ร้านอาหาร พบผู้ติดเชื้อที่มีไทม์ไลน์ไปทานอาหาร  ดื่มเครื่องดื่มแอลกอลออล์ ร่วมกับเพื่อน ครอบครัว ย่านพระราม 9 ทองหล่อ พื้นที่กทม. จ.ปทุมธานี และจ.นครปฐม 3.โรงงาน สถานประกอบการ ตลาดและชุมชนจ.สมุทรสาคร พบผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อต่อเนื่องจากกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและการค้นหาเชิงรุก  4.สถานที่กักตัวในสถานที่กักกันทางเลือก พบผู้เดินทางและบุคลากรติดเชื้อ เน้นย้ำมาตรการป้องกันโรคตามมาตรฐานกำหนด และ 5.ห้องกัก สำนักงานตำรวจเข้าเมือง พบเจ้าหน้าที่และผู้ช่วยตักอาหารติดเชื้อเพิ่มเติม
        4 กลุ่มก้อนสถานบันเทิงแพร่โควิด 19
         นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า สถานการณ์การติดโควิด 19 ที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง ร้านอาหาร ผับบาร์ซึ่งพบการแพร่เชื้อแล้วใน 4 กลุ่มก้อน คือ  1. กรณีเชื่อมโยงสถานบันเทิงใจ.ปทุมธานี และกทม.ย่านจตุจักร  มีการติดเชื้อเชื่อมโยงแล้ว 12 ราย โดยเป็นนักศึกษา 5 รายมีประวัติไปสถานบันเทิงในจ.ปทุมธานี ก่อนที่จะมี 1 รายนำเชื้อมาแพร่ต่อให้รุ่นถัดไปเป็นเพื่อนนักศึกษาที่ไม่ได้ไปเที่ยวสถานบันเทิงในจ.ปทุมธานีอีก 4 ราย จากนั้นมี 1 รายแพร่เชื้อต่อไปยังรุ่นที่ 3 เพิ่มอีก 1 รายจากไปเที่ยวสถานบันเทิงในกทม.ด้วยกัน และรายนี้แพร่ต่อไปยังรุ่นที่ 4  เป็นคนในครอบครัว 1 ราย
      2.เชื่อมโยงสถานบันเทิงแห่งหนึ่งในจ.นครปฐม ซึ่งมีผู้ติดเชื้อขณะนี้แล้ว  6 ราย  โดย 5 รายมีประวัติไปสถานบันเทิงดังกล่าว และ 1 รายไม่ได้ไปแต่เป็นคนในครอบครัว 3.เชื่อมโยงสถานบันเทิงย่านทองหล่อ มีผู้ติดเชื้อแล้ว 4 ราย รอผลการตรวจอีก 3 รายโดยทั้งหมดมีประวัติไปสถานบันเทิงย่านทองหล่อ และมี 1 รายไปสถานบันเทิงย่านรัชดาด้วย  และ4.เชื่อมโยงกับสถานบันเทิงย่านทองหล่ออีกเหตุการณ์ มีผู้ติดเชื้อแล้ว 9 ราย โดย 1 รายมีประวัติไปเที่ยวสถานบันเทิงย่านทองหล่อ จากนั้นนำมาแพร่เชื้อต่อในที่ทำงานอีก 5 ราย  ลูกชาย อายุ 2 ปี 1 ราย และชายไทยอายุ  33 ปี อีก 1 ราย รวม 7 ราย  และเพื่อนร่วมงานที่ติดเชื้อ 1 รายนำเชื้อแพร่ต่อไปยังหญิงไทย 30 ปี ก่อนที่หญิงรายนี้จะแพร่ต่อไปยังหญิงไทยอายุ 28 ปี รวมขณะนี้แพร่เชื้อไป 3 รุ่น แล้ว
      “เริ่มมีสัญญาณเตือนพบการติดโควิด 19 ที่มีประวัติเชื่อมโยงกับสถานบันเทิงมากขึ้นในช่วงนี้สิ่งสำคัญคือผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการต้องเพิ่มการระมัดระวังตัวในการป้องกันโรคมากขึ้นเพราะในระลอกแรกมีการติดเชิ้อเชื่อมโยงกับสถานบันเทิงมาก และระลอกใหม่  ช่วงต้นมีสัญญาณการแพร่เชื้อในสถานกบันเทิงด้วย และขณะนี้มีสัญญาณเตือนพบการติดเชื้อในสถานบันเทิงมากขึ้น ขอให้สถานประกอบการ สถานบันเทิงที่มีความแออัดมาก โอภาสแพร่เชื้อมาก และสงสัยมีการแพร่ให้แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าไปตรวจสอบได้”นพ.จักรรัฐกล่าว   

       นพ.จักรรัฐ กล่าวด้วยว่า ประเด็นที่ต้องเน้นย้ำ คือ ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ คลุกคลีใกล้ชิด ไม่สวมหน้ากาก ทานอาหาร ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกัน ทั้งครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงานที่เที่ยวด้วยกัน  ส่วนผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคที่กำหนดอย่างเคร่งครัดในสถานที่เสี่ยง ได้แก่ ตลาด สถานบริการ สถานบันเทิง ร้านอาหาร โดยเฉพาะสถานที่ที่มีผู้ใช้บริการจากหลายพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่จะมีการกำกับติดตามอย่างใกล้ชิด  ขณะที่ประชาชน ผู้ใช้บริการ ควรปฏิบัติตนตามมาตรการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ สแกนไทยชนะ หมอชนะอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและแพร่โรค เน้นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาว เทศกาลสงกรานต์

         มาตรการควบคุมป้องกันโรคสำหรับสถานบริการ ผับบาร์ ร้านอาหาร  ประกอบด้วย 1.มาตรการ DMHTT คือ การเว้นระยะห่างที่นั่ง จุดนั่งรอคิว เว้นระยะห่างของเวทีและที่นั่ง ให้เพียงพอตามสัดส่วนของพื้นที่ที่กำหนด ไม่ควรจัดกิจกรรมที่มีผู้ใช้บริการอย่างแออัด พนักงาน ผู้ใช้บริการสวมหน้ากากทุกคน ยกเว้นช่วงทานอาหาร หรือดื่ม จัดจุดให้บริการล้างมือ แอลกอฮอล์เจลให้เพียงพอ มีการวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนใช้บริการ และแจ้งให้พบแพทย์กรณีพบมีไข้ มีการบันทึก สแกนไทยชนะหรือหมอชนะ เพื่อให้ติดตามผู้สัมผัสได้ทันเวลา หากพบผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อมาใช้บริการในช่วงเวลาใกล้กัน 2.ระบบจองคิว เพื่อลดความแออัดของการใช้บริการ และ3.งดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ผู้ใช้บริการที่มึนเมา ลดความเสี่ยงของการติดเชื้อและอุบัติเหตุ 

       พระมรณภาพผลชันสูตรไม่เป็นทางการพบเส้นเลือดหัวใจตีบ

       ด้านนพ.ชำนิ จิตตรีประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์ กรมการแพทย์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2564 มีการออกหน่วยบริการฉีดวัคซีนให้พระสงฆ์ที่วัดไตรมิตรวิทยาฯ เป็นการประเดิมที่เขตสัมพันธวงศ์ ซึ่งถวายฉีดวัคซีนพระ 412 รูป มีแพ้วัคซีน 2 รูป เป็นผื่นทั้ง 2 รูปเกิดขึ้นภายใน 30 นาที  เป็นวัคซีนของซิโนแวค 1 รูป แอสตร้าเซนเนก้า 1 รูป และอาการผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน เช่น อ่อนเพลีย ไข้

     กรณีพระสงฆ์ที่มรณภาพเป็นคนไข้รพ.สงฆ์มา 15 ปี รักษาเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เมื่อปี 2561-2562 ทำคลื่นหัวใจเริ่มมีภาวะหัวใจโต และรักษามาตลอด แต่ขาดรักษาเมื่อปี 2563 เพราะไปจำวัดในต่างประเทศ และไม่ได้ฉันยาในต่างประเทศเพื่อควบคุมเบาหวาน ความดันและไขมัน  และเบาหวานควบคุมค่อนข้างยากต้องใช้ยาฉีด

       เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ได้รับการคัดกรองก่อนรับวัคซีนโควิด 19 พบความดันปกติ ไม่มีไข้ ไม่มี ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นข้อห้ามฉีดวัคซีน จึงถวายวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หลังฉีดสังเกตอาการ 30 นาที่ไม่มีอาการ จึงนิมนต์ไปฉันก็ฉันได้  ก่อนที่วันที่ 1 เม.ย.จะพบมรณภาพ ส่วนพระอีก 10 รูปที่รับวัคซีนจากขวดเดียวกัน มีไข้ 5 รูปและฉันยาก็หาย

       “สิ่งที่เกิดขึ้นได้ติดตามผลชันสูตรที่รพ.ตำรวจทราบผลอย่างไม่เป็นทางการว่าไม่มีลิ่มเลือดทุกจุด ทั้งสมอง หัวใจ  แต่ทราบผลอย่างไม่เป็นทางการว่ามีเส้นเลือดหัวใจตีบ  อาจจะมีผลต่อการเสียชีวิตได้ วัคซีนที่ได้รับไม่ได้ทำให้มรณภาพ แต่จะต้องให้แพทย์ชันสูตรเป็นผู้ลงความเห็นที่เป็นทางการ ถึงสาเหตุของการมรณภาพที่เป็นทางการต่อไป”นพ.ชำนิกล่าว