เหลื่อมล้ำทางเพศขยายวง-โควิดซ้ำเติมปัญหาเอเชีย

เหลื่อมล้ำทางเพศขยายวง-โควิดซ้ำเติมปัญหาเอเชีย

เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (ดับเบิลยูอีเอฟ)เผยแพร่รายงานฉบับใหม่ที่บ่งชี้ว่าการระบาดของโรคโควิด-19 กำลังทำให้ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศทั่วเอเชียมีมากขึ้น ส่งสัญญาณว่าช่องว่างที่ขยายตัวขึ้นระหว่างเพศหญิงและเพศชายกำลังเป็นปัญหาสำคัญ

ดับเบิลยูอีเอฟ เผยแพร่รายงาน"Global Gender Gap Report 2021"เมื่อวันพุธ(31 มี.ค.)ซึ่งติดตามความคืบหน้าเรื่องความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษาและสุขภาพ คาดการณ์ว่า ขณะนี้ทั่วโลกต้องใช้เวลา 135 ปีจึงจะประสบความสำเร็จในการทำให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริง เทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19ที่คาดว่าใช้เวลา 99 ปี

“การระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มส่งผลกระทบรุนแรงต่อโอกาสทางเศรษฐกิจของผู้หญิง การกลับมาทำงานใหม่เสี่ยงได้ตำแหน่งงานต่ำกว่าเดิมแล้วรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง นโยบายเยียวยาและการปฏิบัติที่เอื้อต่อความเสมอภาคทางเพศ สามารถแก้ไขความท้าทายเหล่านั้นได้”

ดับเบิลยูอีเอฟ ระบุว่า ในช่วงที่โควิดระบาด ผู้หญิงตกงานในอัตราสูงขึ้นได้รับการว่าจ้างกลับมาทำงานใหม่ช้าลง ทั้งยังต้องรับผิดชอบงานบ้านและดูแลเด็ก

รายงานเตือนด้วยว่า แม้พ้นช่วงโควิดระบาดแล้วความเหลื่อมล้ำในโอกาสทางเศรษฐกิจระหว่างหญิงและชายอาจเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากสัดส่วนผู้หญิงในงานแห่งอนาคตหลายงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ เช่น งานด้านคลาวด์คอมพิวติงและวิศวกรรม

อันดับของอินเดียร่วงลงมากกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ตกลง 28 อันดับมาอยู่ที่ 140 ใน 156 ประเทศ คะแนนของอินเดียลดลง 3 ใน 4 เกณฑ์ แต่ที่เสื่อมถอยมากที่สุดคือการเพิ่มอำนาจให้ผู้หญิงในทางการเมือง เนื่องจากสัดส่วนรัฐมนตรีหญิงลดลงจาก23% เหลือ 9%

การมีส่วนร่วมของแรงงานหญิงในอินเดียยังล้าหลังเช่นกัน ผู้หญิงอยู่ในตลาดแรงงานเพียง 22.3% เท่านั้น ในแง่สุขภาพและการอยู่รอด อินเดียติดกลุ่ม 5 ประเทศสุดท้ายของโลก เนื่องจากอัตราส่วนทารกเพศหญิงและชายไม่สมดุล และอายุขัยที่เหลือโดยที่ยังมีสุขภาพดีอยู่ในระดับต่ำ

อินเดียไม่ใช่ประเทศเดียวที่เสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็วอินโดนีเซีย ร่วง 16 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 101 ส่วนใหญ่เนื่องมาจากโอกาสและการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจเหลื่อมล้ำมากขึ้นสัดส่วนผู้หญิงในตำแหน่งระดับสูงลดลงครึ่งหนึ่งจาก 54.9% เหลือ 29.8% ในเวลาเพียงปีเดียว

ขณะที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้อันดับดีขึ้นโดยญี่ปุ่น ดีขึ้น1อันดับ อยู่อันดับที่ 120ส่วนเกาหลีใต้ดีขึ้น 6อันดับมาอยู่อันดับที่ 102 หลังจากผู้หญิงเข้าไปนั่งในสภาและดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมากขึ้น