ลงทุนดันเศรษฐกิจ 'อีอีซี' อย่าทำให้เสียของ

ลงทุนดันเศรษฐกิจ 'อีอีซี' อย่าทำให้เสียของ

"อีอีซี" นับเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการลงทุน ท่ามกลางวิกฤติโควิด ปี 63 มีคำขอส่งเสริมการลงทุน 208,720 ล้านบาท จากทั้งหมด 481,150 ล้านบาท ซึ่งภาครัฐต้องเร่งแก้อุปสรรคที่มี เพื่อสร้างความได้เปรียบและช่วงชิงการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายกับคู่แข่ง

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2564 มีเครื่องจักรบางตัวที่สามารถกระตุ้นเพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ โดยเฉพาะเครื่องจักรด้านการลงทุนที่เป็นการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนในระยะยาว สำหรับรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ ซึ่งการลงทุนหลายรายการเป็นการลงทุนระยะยาวที่ใช้เวลา 3-5 ปี โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่รัฐบาลชุดปัจจุบันประมูลหลายโครงการ แต่หลายโครงการติดปัญหาการฟ้องร้อง เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีนบุรี) 142,788 ล้านบาท

หันมาดูการลงทุนภาคเอกชนที่สะดุดไปในปี 2563 จากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ในช่วงปลายปีที่แล้วรัฐบาลวางแผนที่จะผลักดันให้ปี 2564 เป็นปีแห่งการลงทุน โดยเปิดเวทีรับฟังความเห็นบริษัทเอกชนรายใหญ่ของไทยและบริษัทต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทย แต่มาเกิดการระบาดรอบใหม่ใน จ.สมุทรสาครและภาคตะวันออก ซึ่งทำให้ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลต้องมาโฟกัสที่มาตรการเยียวยาผลกระทบแทน แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว ขอให้หน่วยงานรับผิดชอบด้านการลงทุนเร่งเครื่องเต็มที่

เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นการวางแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยการต่อยอดจาก “อีสเทิร์น ซีบอร์ด” แต่เป็นการยกระดับการพัฒนาที่ครอบคลุมทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม ภาคบริการและการพัฒนาเมือง รวมถึงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับการวิจัยและพัฒนา การลงทุนของกลุ่มสตาร์ทอัพ การพัฒนาเมือง และการวางโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการเงิน เช่น การใช้เงินสกุลต่างประเทศทำธุรกิจในอีอีซี

คำขอรับส่งเสริมการลงทุนในปี 2563 มูลค่า 481,150 ล้านบาท ในขณะที่เป็นคำขอส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี 208,720 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าน้ำหนักการลงทุนเทมาที่อีอีซีจำนวนมากเมื่อเทียบกับส่วนอื่นของประเทศ จึงทำให้อีอีซีเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการลงทุน โดยเฉพาะในช่วงที่มาตรการกระตุ้นการบริโภคมีข้อจำกัดที่งบประมาณรัฐ รวมถึงการท่องเที่ยวที่ยังต้องรอการฉีดวัคซีนให้กระจายมากพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้

อุปสรรคการลงทุนในอีอีซีจึงเป็นเรื่องสำคัญที่หน่วยงานรัฐจะต้องเข้ามาแก้ไขให้ทันท่วงที เพื่อสร้างความได้เปรียบของอีอีซี ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่โดดเด่นของอาเซียนให้ช่วงชิงการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายกับคู่แข่ง เช่น เวียดนาม โดยการขับเคลื่อนอีอีซีดำเนินการผ่าน พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และเลขาธิการมีอำนาจเต็มในการใช้กฎหมาย ขอให้ใช้ผลักดันการพัฒนาและแก้ปัญหาอุปสรรคอย่างเต็มที่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้พ้นวิกฤติ