ฝนหลวงฯ จับมือกองทัพบก ช่วยทำฝนเพื่อเกษตรกรไทย

ฝนหลวงฯ จับมือกองทัพบก ช่วยทำฝนเพื่อเกษตรกรไทย

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร และกองทัพบกเริ่มปฏิบัติการฝนหลวงเมฆอุ่น หนุนเครื่องบิน CASA ประจำการจังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดลพบุรี ทำฝนให้เพียงพอในฤดูกาลเพาะปลูกนี้

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย ว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร รวมกับกองทัพบก ทำปฏิบัติการฝนหลวงเมฆอุ่น ประจำปี 2564 ที่จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดลพบุรีเพื่อช่วยปฏิบัติการฝนหลวงให้เกษตรกรมีน้ำใช้อย่างเพียงพอในฤดูกาลเพาะ โดย ในปีนี้มีแนวโน้มฝนในประเทศไทยจะมาเร็วกว่าปีที่ผ่านมา
แต่เราก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาฝนทิ้งช่วงอยู่ทุกปี
ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับเกษตรกร ที่ต้องเดือดร้อนกับการหาน้ำไปหล่อเลี้ยงผลผลิตในไร่นา

ทั้งนี้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง ต้องดูแลพื้นที่การเกษตร
หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง โดยมีกองทัพบกให้การสนับสนุนอากาศยาน อุปกรณ์ต่างๆ ที่อำนวยความสะดวกใน
การปฏิบัติการฝนหลวง รวมถึงกำลังพลในการปฏิบัติงาน ภายใต้โครงการปฏิบัติการฝนหลวงเมฆอุ่น
ที่ร่วมมือกับกองทัพบก ประจำปี 2564

และยังให้การสนับสนุนกำลังพลในการปั้นเมล็ดพันธุ์พืช ในโครงการ
โปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศสร้างความชื้นสัมพัทธ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ ทำให้มีความชื้นสัมพัทธ์มากขึ้นในอากาศ
ซึ่งจะส่งผลให้การปฏิบัติการฝนหลวงง่ายขึ้น เพื่อสนองพระราชปณิธาน ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ในการช่วยเหลือประชาชนจากปัญหาภัยแล้ง และการให้ความช่วยเหลือบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า สำหรับเครื่องบิน CASA 1 ลำ ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพบกนี้
จะประจำการเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ณ จังหวัดนครสวรรค์ จนถึงวันที่ 31 มีนาคม นี้ จากนั้นจะไปประจำการที่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จังหวัดลพบุรี ในวันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นลำดับต่อไป

 

“ที่ผ่านมากองทัพบกได้สนับสนุนและอำนวยความสะดวกใน
การปฏิบัติการฝนหลวงทั้งการใช้งานพื้นที่ในสนามบิน อุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ และการสนับสนุนกำลังพล
ในการปั้นเมล็ดพันธุ์พืชในโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศสร้างความชื้นสัมพัทธ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
การปฏิบัติการฝนหลวง “

โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้มีการเปิดหน่วยปฏิบัติจังหวัดนครสวรรค์ ตั้งแต่วันที่
1 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อใช้ในการปฏิบัติการฝนหลวงบรรเทาปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงในพื้นที่ภาคกลาง 14 จังหวัด เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง และลำน้ำต่างๆ ในเขตพื้นที่ภาคกลางให้แก่เกษตรกรได้มีน้ำใช้ในการเกษตร พร้อมฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำจากหน่วยงานในพื้นที่ และมอบนโยบาย
การดำเนินงานความร่วมมือกับกองทัพบก รวมถึงได้ตรวจเยี่ยมเจ้าหน้าที่และให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน
ณ ลานจอดเครื่องบินสนามบินนครสวรรค์

ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร  กล่าวว่า ขณะนี้
กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้เปิดหน่วยปฏิบัติการทั้งสิ้น 11 หน่วย กระจายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง จังหวัดนครสวรรค์ มีเครื่องบิน Caravan จำนวน 2 ลำ เครื่องบิน Casa ของกองทัพบก จำนวน 1 ลำ และหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จังหวัดกาญจนบุรี มีเครื่องบิน Caravan จำนวน 3 ลำ

 โดยได้กำหนดให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง ดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงให้ครอบคลุมจังหวัดเป้าหมาย 14 จังหวัดภาคกลาง เติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง และพื้นที่การเกษตรเพื่อให้ประชาชนได้มีน้ำใช้ทั้งการอุปโภค บริโภค และใช้ในพื้นที่การเกษตร


“สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงของโลกขณะนี้ได้ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน ฟ้าฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ส่งผลให้สภาพอากาศโดยรวมไม่เข้าเงื่อนไข
ในการปฏิบัติการฝนหลวง แต่ไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไร กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังคงมีการตรวจสภาพอากาศประจำวันอย่างต่อเนื่องทุกวันเพื่อให้มีความพร้อมทุกด้าน”

 และในปีนี้ยังคงได้รับการสนับสนุนทั้งอากาศยาน อุปกรณ์อำนวยความสะดวก และกำลังพลจากกองทัพบก ด้วยดีเสมอมาทำให้การปฏิบัติงานมีความพร้อมมากยิ่งขึ้น
ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน และเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลาง เพื่อให้มีน้ำใช้
ในการทำเกษตรฤดูกาลเพาะปลูกนี้ต่อไป

         นอกจากนี้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 15 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา กรมฝนหลวงและการบินเกษตรยังได้ปฏิบัติภารกิจในส่วนของภาคกลาง มีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง รวม 16 วัน 122 เที่ยวบิน ให้การช่วยเหลือ
ทำให้เกิดฝนตกในพื้นที่การเกษตรของจังหวัด อุทัยธานี นครสวรรค์ ตาก ลพบุรี ชัยนาท เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี สระบุรี สิงห์บุรี และสุพรรณบุรี มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 16.063 ล้านไร่ ภารกิจบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่าในจังหวัดเพชรบูรณ์ และภารกิจเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ สามารถ
เพิ่มปริมาณฝนจากการปฏิบัติการฝนหลวงในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนกระเสียว และเขื่อนทับเสลา