2 รสก.พลังงาน 'ปตท.'- 'กฟผ.' แยกฐานรุกโครงสร้างธุรกิจอีวี

2 รสก.พลังงาน 'ปตท.'- 'กฟผ.' แยกฐานรุกโครงสร้างธุรกิจอีวี

2 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงาน โชว์ศักยภาพขยายการลงทุนธุรกิจปั๊มชาร์จอีวี ด้าน กฟผ.นำร่องติดตั้งปั๊มชาร์จในปั๊มน้ำมัน พีที ขณะที่ โออาร์ เตรียมเปิดประมูลติดตั้งปั๊มชาร์จอีวี ในปั๊มพีทีที สเตชั่น ร่วม 100 แห่งปีนี้ หนุนใช้รถอีวี

แผนส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ของภาครัฐ ที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น หลังคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ(บอร์ด อีวี) ได้กำหนดเป้าหมายปี 2573 จะมีการผลิตรถอีวี 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด หรือประมาณ 750,000 คัน และภายในปี 2583 จำนวนรถอีวี จะเพิ่มเป็น 2.5 ล้านคัน อีกทั้งการประชุมคณะกรรมการฯอีวี ปลายเดือน มี.ค.นี้ ยังเตรียมหารือรายละเอียดกำหนดเป้าหมายส่งเสริมการใช้รถอีวีให้ชัดเจนขึ้น รวมถึงอาจพิจารณาเพิ่มเป้าหมายจำนวนรถอีวี เร็วขึ้นจากแผนเดิม 50%  

การเตรียมพร้อมด้านนโยบายของรัฐ ประกอบกับค่ายรถยนต์ที่เริ่มตื่นตัว และพร้อมส่งรถอีวี รุ่นใหม่ๆป้อนตลาดในประเทศไทย ทำให้ 2 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงาน คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท. ต่างเร่งเครื่องโชว์ศักยภาพประกาศความพร้อมลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้งานของรถอีวี เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้รถสนองนโยบายของภาครัฐ 

เดิมช่วงปี 2563 สมัยที่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้ กฟผ. กับ ปตท. ร่วมกันศึกษาหาแนวทางและรูปแบบการลงทุนที่เป็นไปได้ในการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) หรือ ปั๊มชาร์จรถอีวี ซึ่งเป็นนโยบายส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้เกิดการใช้รถอีวี มากขึ้น ตามข้อสั่งการของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น เนื่องจากเห็นว่า กฟผ.เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าอยู่แล้ว และปตท.ก็มีแผนจะขยายการลงทุนในด้านธุรกิจใหม่อยู่แล้ว ก็น่าจะใช้จุดแข็งความพร้อมของ 2 รัฐวิสาหกิจดังกล่าวหาโอกาสร่วมลงทุนในธุรกิจอีวี 

ก่อนหน้านี้ กฟผ. มีความร่วมมือกับ ปตท. เตรียมจัดตั้งปั๊มชาร์จอีวี ภายในปั๊มน้ำมัน “พีทีที สเตชั่น” คาดว่า จะนำร่องในถนนสายหลักเส้นทางภาคตะวันออก ที่เป็นฐานการลงทุนของกลุ่ม ปตท.ก่อน และอยู่ระหว่างจัดเตรียมความพร้อมต่างๆรวมกัน  แต่ล่าสุด ความร่วมมือระหว่างกฟผ. กับ ปตท.ในการจัดตั้งปั๊มชาร์จอีวีร่วมกันนั้น อาจจะไม่เกิดขึ้นแล้ว เนื่องจาก ปตท.เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพและมีความพร้อมที่จะขยายการลงทุนธุรกิจอีวีได้ด้วยตนเอง ขณะที่ กฟผ.ก็มีศักยภาพที่จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าเช่นกัน ดังนั้น เมื่อเร็วๆนี้ จะเห็นว่า กฟผ.ได้รุกคืบเข้าไปร่วมมือลงทุนปั๊มชาร์จอีวี ร่วมกับค่ายน้ำมันรายอื่น เช่น น้ำมัน PT และยังไม่ปิดกันที่จะร่วมมือกับผู้ค้าน้ำมันรายอื่นด้วย  

นอกจากนี้ ทั้ง 2 รัฐวิสาหกิจ คือ กฟผ. และปตท. ต่างประกาศแผนลงทุนธุรกิจอีวีที่ชัดเจน เริ่มจากเมื่อเร็วๆนี้ กฟผ. ได้เปิดตัวธุรกิจ EGAT EV Business Solutions ภายใต้ชื่องาน The Next Future Journey EGAT EV Business Solutions” พร้อมจับมือพันธมิตรจาก 6 บริษัทรถยนต์ชั้นนำ ได้แก่ Audi, BMW, Mercedes-Benz, MG, Nissan และ Porsche พัฒนาปั๊มชาร์จอีวี และ Application เชื่อมโยงข้อมูล พร้อมส่งเสริมการขาย 

161598630654

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.เปิดตัวธุรกิจใหม่ “EGAT EV Business Solutions” ประกอบด้วย 4 ผลิตภัณฑ์และบริการ ได้แก่ 1.สถานีอัดประจุไฟฟ้า “EleX by EGAT” ที่ชาร์จไฟได้รวดเร็ว ปัจจุบันติดตั้งไปแล้ว 13 สถานี และมีเป้าหมายจะติดตั้งเพิ่มเป็น 48 สถานี ภายในสิ้นปี 2564 ซึ่งล่าสุด กฟผ.จับมือกับบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด(มหาชน) หรือ PTG เปิดสถานีอัดประจุไฟฟ้านำร่องที่สถานีบริการน้ำมัน PT สาขาปากช่อง 3 จ.นครราชสีมา ไปเมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา 

2. Mobile Application Platform “EleXA” เป็นแอพลิเคชั่นอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้รถ EV ตั้งแต่การค้นหา จอง ชาร์จ และจ่ายเงิน ซึ่ง กฟผ.มุ่งพัฒนาให้เชื่อมโยง ทั้งลูกค้า ร้านค้า ผู้ประกอบการ และผู้ให้บริการต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้สถานีของ กฟผ. ซึ่งทั้งสถานีชาร์จฯ และแอพลิเคชั่นจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส2 ปีนี้ 

3.ตู้อัดประจุไฟฟ้า “EGAT Wallbox และ EGAT DC Quick Charger” เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกแก่ผู้ใช้งานรถ EV โดย EGAT Wallbox เป็น Home Charger ที่เล็กกะทัดรัด สวยงาม โดย กฟผ. ได้รับสิทธิ์ในการจำหน่ายเพียงรายเดียวในไทย ปัจจุบัน กฟผ. ได้พัฒนาตู้อัดประจุไฟฟ้า EGAT DC Quick Charger ขนาด 120 kW ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าได้ โดยจะนำออกจำหน่ายเชิงพาณิชย์ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ 

4.ระบบบริหารจัดการเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้า “BackEN หรือ Backend EGAT Network Operator Platform” ที่จะเชื่อมโยงระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด ทั้งระบบผลิตและส่งไฟฟ้า เข้าด้วยกันซึ่งพร้อมให้บริการตลอด 24 ชม. คาดว่าจะเปิดให้บริการในปีนี้ 

กฟผ. ยังเตรียมเดินหน้านำผลงานวิจัยเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ 20C Discharge C Rate & Pole Solid State Battery หรือ Batt 20C ที่ กฟผ. และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมกันวิจัยพัฒนาและขึ้นบัญชีนวัตกรรมเรียบร้อยแล้วมาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ โดยเมื่อเร็วๆนี้ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ในการนำ Batt 20C ไปขยายผลสู่ธุรกิจด้านการขนส่ง อาทิ ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับการขนส่งและโลจิสติกส์ ยานยนต์พิเศษสำหรับกิจการภาคพื้นในสนามบิน การพัฒนาสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบติดตั้งอยู่กับที่ (Stationary EV Charger) และแบบเคลื่อนที่ (Mobile EV Charger) เพื่อให้บริการภายในสถานีบริการน้ำมันและภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ 

161598632777

ด้าน ปตท. ประกาศเป้าหมายเตรียมรุกเข้าสู่ธุรกิจอีวี EV Value Chain ตั้งแต่ตัวรถอีวี การผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนประกอบรถอีวี และครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐานปั๊มชาร์จอีวี  

นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม ปตท. ระบุว่า ขณะนี้ กลุ่มปตท.กำลังโฟกัสยานยนต์ไฟฟ้า และดูว่ามีองค์ประกอบใดบ้าง เช่น มอเตอร์ แบตเตอรี่ และการขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติต่างๆ รวมถึง การมีสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) เพื่อปูพรมใช้รถEV สามารถชาร์จไฟฟ้าได้อย่างสะดวก นอกเหนือจากการชาร์จที่บ้านแล้ว ระหว่างทางก็สามารถชาร์จไฟฟ้าได้อย่างมั่นใจ ซึ่งปตท. ก็เริ่มมีการจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ในบริเวณห้างสรรพสินค้าแล้วประมาณ 2-3 แห่ง และภายในปีนี้ ก็มีแผนจะติดตั้งให้ครบ 100 แห่ง   

ส่วนเรื่องของยานยนต์ไฟฟ้า(EV Car) ก็มีการพูดคุยกับผู้ผลิตรถ EV ว่าจะเชิญมาลงทุนในไทยได้อย่างไรบ้าง และมีองค์ประกอบใดบ้างที่จะเข้ามาสนับสนุนให้ EV Car เข้ามาประกอบในประเทศไทย เช่น เรื่องของแบตเตอรี่ ซึ่งทางกลุ่ม ปตท.ก็มีการลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน (Energy Storage Unit)ของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ล่าสุดได้มีการเปิดตัวแบตเตอรี่ G-Cell ที่ใช้เทคโนโลยี Semi Solid เซลล์แรกของประเทศไทย โดยการใช้เทคโนโลยีการผลิต 24M จากสหรัฐ เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะพร้อมดำเนินการผลิต (Start of Regular Production) ภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2564  

อีกทั้ง กำลังดูว่า ชิ้นส่วนรถยนต์ จะสามารถใช้วัสดุที่มีมูลค่าสูง(high value material) ที่มาจากกลุ่มโรงกลั่นฯของปตท.ได้อย่างไร จะผลิตชิ้นส่วนตัวถังอะไรได้บ้าง รวมถึง ปตท.เองก็เข้าไปดูเรื่องของสตาร์ทอัพใหม่ๆ เช่น เรื่องของมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ก็ได้ใช้งบประมาณเข้าไปช่วยสนับสนุนการพัฒนา  

ปตท. ยังได้จัดตั้ง บริษัท อัลฟ่า คอม จำกัด เพื่อรองรับการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ตามกลยุทธ์ New S-Curve เช่น การตั้งบริษัท SWAP & GO ซึ่งขณะนี้กำลังทดสอบกับรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ให้สามารถ Swap หรือการแลกเปลี่ยนแบตเตอรี่แบบการสลับแบตเตอรี่ ด้วยการถอดเอาแบตเตอรี่ออก แล้วใส่แบตเตอรี่ลูกใหม่เปลี่ยนพร้อมใช้งานทันที โดยไม่ต้องจอดรอชาร์จไฟฟ้า   

นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท. เปิดตัวโครงการ G-Box ระบบกักเก็บพลังงานผ่านแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System) ขนาด 150 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh)  นำร่องติดตั้งในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station สาขาหนองแขม รองรับ EV Station  พร้อมโซลูชั่นจ่ายไฟฟ้าครอบคลุมกิจกรรมต่างๆ ภายในสถานี  มุ่งสู่การบริหารจัดการพลังงาน เพื่อสร้างเสถียรภาพ และลดต้นทุนค่าไฟฟ้า รองรับกระแสยานยนต์ไฟฟ้า  

น.ส.จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด(มหาชน) หรือ OR เปิดเผยว่า ปีนี้ โออาร์ มีแผนจะเปิดประมูลจัดหาอุปกรณ์ติดตั้งปั๊มชาร์อีวี ในปั๊มน้ำมัน พีทีที สเตชั่น เพิ่มอีก 100 แห่ง กระจายทั่วประเทศบริเวณหัวเมืองหลักในแต่ละจังหวัดตั้งแต่ภาคเหนือลงสู่ภาคใต้ ในรูปแบบชาร์จเร่งด่วน Quick Charge ซึ่งจะใช้เวลาชาร์จประมาณ 20-25 นาทีต่อคัน คาดว่าจะใช้เงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 1.5-2 ล้านบาทต่อสาขา และจะขยายปั๊มชาร์จไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 300 แห่ง ภายในปี 2565 จากปัจจุบัน มีการติดตั้งแล้ว 30 สาขา ทั้งในรูปแบบของหัวชาร์จปกติ Normal Charge และ Quick Charge เพื่อรองรับการใช้งานของยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) รวมทั้งได้มีการจัดทำ Application ‘EV Station’ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคอย่างครบวงจร 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทั้ง 2 รัฐวิสาหกิจ จะตื่นตัวและเตรียมความพร้อมลุยลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานปั๊มชาร์จรองรับการใช้งานรถอีวี แต่การจะส่งเสริมอีวีในประเทศไทยให้เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลายได้หรือไม่ ยังจำเป็นต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนที่สำคัญจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาครัฐที่เป็นฝ่ายกำหนดนโยบายควรเร่งออกกฎหมายต่างๆให้สัมพันธ์กับนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดด้านรถอีวี และต้องเชื่อมโยงการส่งเสริมอุตสาหกรรมทั้งระบบ เพื่อให้การส่งเสริมรถอีวีเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม