คนไทย 'ทักษะดิจิทัล' ต่ำ รั้งท้ายอันดับ 39 จาก 63 ประเทศทั่วโลก

คนไทย 'ทักษะดิจิทัล' ต่ำ รั้งท้ายอันดับ 39 จาก 63 ประเทศทั่วโลก

คนไทยใช้ "อินเทอร์เน็ต" เฉลี่ย 4 ชม. 57 น. แต่กลับมี "ทักษะดิจิทัล" อยู่ที่อันดับ 39 จาก 63 ประเทศ สกิลอะไรที่คนไทยควรมีเพื่อโลกการทำงาน "ดิจิทัล" ในอนาคต ต้องรู้!

เราไม่ทิ้งกัน, เราเที่ยวด้วยกัน, คนละครึ่ง, เราชนะ, เรารักกัน คือมาตรการเยียวยาโควิด-19 ของรัฐบาลไทย โดยเน้นการใช้งานผ่านสมาร์ทโฟน แต่ปัญหาที่มักเกิดขึ้นขณะใช้มาตรการต่างๆ ก็คือ ประชาชนจำนวนหนึ่งยังเป็นกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน และเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต ทำให้รัฐต้องแก้ไขเรื่องนี้อยู่ร่ำไป อาจพูดได้ว่าคนไทยยังมี "ทักษะดิจิทัล" ต่ำกว่าชาติอื่นๆ 

เมื่อโลกปัจจุบันถูกนิยามว่า "ยุคแห่งดิจิทัล" ลองมาดูกันว่า คนไทยมีความพร้อมแค่ไหนกับโลกใบนี้? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ พาไปเจาะลึกดูการจัดอันดับเรื่อง "ทักษะดิจิทัล" ของประชากรทั่วโลก พร้อมสกิลที่ต้องมีเพื่อให้อยู่รอดได้ในยุคนี้

  • โลกดิจิทัลที่คนไทยไปไม่ถึง 

We are social ซึ่งเป็นเอเจนซีทางด้านโซเชียลมีเดีย ที่ทำรายงานประจำเกี่ยวกับสรุปสถิติการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทั่วโลก ประเทศไทยมีประชากรที่ใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ในปัจจุบันมากกว่า 60 ล้านคน หรือคิดเป็น 75% ของทั้งหมด 

ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกที่ 59% และมีอัตราการใช้โทรศัพท์มือถือสูงถึง 134% (มีจำนวนเบอร์มากกว่าจำนวนคน) ทั้งนี้ ไม่ได้รวมถึงเบอร์ที่ใช้กับอุปกรณ์ไอโอที และประชากรที่ใช้อินเทอร์เน็ต 97% หรือจำนวน 50.18 ล้านคน จะเข้าอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือเป็นประจำ โดยใช้เวลาเล่นอินเทอร์เน็ตทางมือถือนานถึง 4 ชั่วโมง 57 นาทีต่อวัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

161554205730

แต่ถึงอย่างนั้น "รายงานการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลกปี 2020" (World Economic Forum 2020) กลับชี้ให้เห็นว่าประชากรไทยที่มีทักษะด้านดิจิทัล มีอยู่เพียงร้อยละ 54.9 และยังคงมีปัญหาในการเตรียมกำลังแรงงานเพื่อรองรับทักษะการทำงานในอนาคตอยู่ที่อันดับ 89 จาก 140 ประเทศ

สอดคล้องกับรายงานผล "การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัล" (World Digtal Competitiveness Ranking) โดยสถาบัน International Institute for Management Development (IMD) ซึ่งประเมินจากปัจจัยหลัก 3 ข้อ คือ 

1. องค์ความรู้ (Knowledge) เป็นการวัดความสามารถในการเข้าใจและเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ซึ่งมีปัจจัยย่อย ได้แก่ ความสามารถพิเศษ, การฝึกอบรมและการศึกษา และความเข้มข้นทางวิทยาศาสตร์

2. เทคโนโลยี (Technology) เป็นการวัดความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งมีปัจจัยย่อย ได้แก่ โครงสร้างการควบคุม, เงินทุนและโครงสร้างเทคโนโลยี

3. ความพร้อมในอนาคต (Future Readiness) เป็นการวัดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของคน ธุรกิจ และการนำเทคโนโลยีมาใช้ ได้แก่ ทัศนคติที่ปรับตัวได้, ความคล่องตัวทางธุรกิจ และการรวมกันของเทคโนโลยีสารสนเทศ

โดยผลที่ได้คือประเทศไทยมีคะแนนรวม 64.26 จาก 100 คะแนน และอยู่ที่อันดับ 39 จาก 63 ประเทศ แบ่งคะแนนเป็น 

  • องค์ความรู้ ได้คะแนน 54.19 อันดับที่ 43 
  • เทคโนโลยี ได้คะแนน 73.16 อันดับที่ 22
  • ความพร้อมรองรับอนาคต ได้คะแนน 49.93 อันดับที่ 45 
  • การฝึกอบรม และการศึกษา อันดับ 55
  • ทัศนคติในการปรับตัวทำงานในอนาคต อันดับ 53

เมื่อดูจากตัวเลขแล้วทักษะด้านเทคโนโลยีประเทศไทยมีแนวโน้มคะแนนเพิ่มขึ้น แต่ทักษะด้านความรู้ และความพร้อมรองรับอนาคตกลับมีแนวโน้มลดลง 

นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบอันดับทักษะดิจิทัลกับประเทศในอาเซียนแล้ว พบว่า ประเทศไทยอยู่ลำดับ 3 ในอาเซียน ดูภาพรวมได้ดังนี้

  • สิงคโปร์  อันดับ 2 
  • มาเลเซีย อันดับ 26 
  • ไทย อันดับ 39
  • อินโดนีเซีย อันดับ 56 
  • ฟิลิปปินส์ อันดับ 57

  • ลำบากวันนี้ สบายวันหน้า เหตุผลว่าทำไมต้องอัพสกิลดิจิทัล

ในเมื่ออัตราการใช้อินเทอร์เน็ตที่พุ่งสูง สวนทางกับทักษะทางดิจิทัลที่ได้รับ ดังนั้นแล้วการอัพสกิลเพื่อโลกดิจิทัลจึงเป็นสิ่งสำคัญ 

The Future of Jobs Report 2020  ให้ข้อมูลว่าทักษะด้านความรู้ (Hard skills) และทักษะด้านอารมณ์ (Soft skills) ที่ตลาดงานต้องการในปัจจุบัน และยังคงมีความสำคัญในอนาคต 

นอกจากนี้ยังระบุว่าในปี 2025 หรือปี 2568 จะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มมากขึ้น ทำให้กว่า 50% ของลูกจ้างจำเป็นต้อง Reskill ใหม่ และคาดว่าอีก 6 เดือนข้างหน้า ลูกจ้างกว่า 40% ต้อง reskill ใหม่ หมายถึง การที่เรามี Skill เดิม แต่มีการเรียนรู้ปรับตัวเพื่อหยิบ Technology ใหม่ มาใช้

และด้วยผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 และการเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตโนมัติมีมากขึ้น ส่งผลให้ลูกจ้างต้อง Reskills ใหม่ภายใน 5 ปีข้างหน้า งานกว่า 85 ล้านงานจะมีการแทนที่ด้วยเครื่องจักรกล

161554206964

นอกจากนี้ยังระบุว่า นายจ้างกว่า 90% มีความคาดหวังว่าทักษะใหม่ๆ ที่จะได้จากการเรียนรู้หน้างาน ระยะเวลาที่ใช้ในการเรียนรู้ทักษะใหม่ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ประเภทของทักษะ ประเภทของงานหรือวิชาชีพ ฯลฯ 

ทักษะที่เกี่ยวกับคนและวัฒนธรรม การเขียน การขาย และการตลาด อาจใช้ระยะเวลาเรียนเพียง 1-2 เดือน ในขณะที่ทักษะด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และ AI อาจใช้เวลา 2-3 เดือน ส่วนทักษะด้าน Cloud Computing และวิศวกรรมอาจใช้ระยะเวลานานกว่าทุกทักษะคือประมาณ 4-5 เดือน

161554136781

  • สกิลดิจิทัลที่คนไทยต้องมี 

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) สรุปทักษะด้านดิจิทัลที่คนไทยควรมีได้แก่ 

ทักษะคิดวิเคราะห์และนวัตกรรม (Analytical Thinking and Innovation) เป็นคนที่รู้จักคิดวิเคราะห์ ช่างสังเกต ช่างสงสัย ช่างถาม จับประเด็น แยกแยะและเชื่อมโยง นำไปสู่การคิดสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมได้

โดยสรุปทักษะทางด้านดิจิทัลที่คนไทยควรมี คือ 

การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน (Complex Problem-Solving) เป็นคนที่มีทักษะในการจัดการกับปัญหาที่มีความสลับซับซ้อน มีกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ สามารถวิเคราะห์ความเชื่อมโยงของปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และหาแนวทางการแก้ไขที่ต้นตอของปัญหา

การเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning and Learning Strategies) การเรียนรู้จากการลงมือทำด้วยตัวเอง ฝึกคิดวิเคราะห์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์กลุ่มพร้อมร่วมกันแก้ปัญหา ผ่านกิจกรรมการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม

ทักษะการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking and Analysis) เป็นคนที่มีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ การคิดวิเคราะห์ตามหลักเหตุผล และประเมินความถูกต้อง มีความสมเหตุสมผล โดยใช้วิจารณญาณของความเป็นมนุษย์

ทักษะความคิดสร้างสรรค์  (Creativity, Originality and Initiative) เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ คิดต่างไม่ซ้ำใคร (คิดนอกกรอบ) มีความคิดริเริ่มและกล้าที่จะทำในสิ่งใหม่ 

ส่วนประเทศอื่นๆ ก็จะมีความต้องการแรงงาน และทักษะที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริบทของประเทศนั้นๆ

-----------------------

ที่มา : 

The Future of Jobs Report 2020

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.)

World Economic Forum 2020

World Digtal Competitiveness Ranking

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ