‘ค่าเงินบาท’วันนี้เปิด ‘ทรงตัว’ที่30.72บาทต่อดอลลาร์

‘ค่าเงินบาท’วันนี้เปิด ‘ทรงตัว’ที่30.72บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินเริ่มพักฐาน ขณะที่เงินบาทแม้จะแกว่งตัวในกรอบแคบแต่มีแรงซื้อทั้งหุ้นและบอนด์จากนักลงทุนต่างชาติกลับหลังยีลด์สหรัฐปรับตัวลงในช่วงนี้ขณะที่ตลาดเริ่มมีความหวังกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดีระยะถัดยังต้องจับตาทิศทางของตลาดทุนต่อเนื่อง

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน EASY INVEST บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดวันนี้ที่ 30.72 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน30.60-30.80 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินเริ่มพักฐานในคืนที่ผ่านมา ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐปรับตัวขึ้น 0.60% ด้วยแรงหนุนของหุ้นขนาดเล็กรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่กลุ่มเทคโนโลยีพักฐานหลังปรับตัวบวกแรงเมื่อวันก่อน ส่วนดัชนี STOXX 600 ของยุโรป ขยับขึ้น 0.4% โดยมีตลาดหุ้นฝรั่งเศสทำจุดสูงสุดใหม่นับตั้งแต่ปลายปี 2019 บนความหวังเรื่องการกลับมาเปิดทำการภาคธุรกิจ และการท่องเที่ยวที่กำลังจะมาถึง

ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ เงินเฟ้อในสหรัฐล่าสุด (U.S. Feb. CPI) รายงานสูงขึ้น + ขึ้น 1.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เพิ่มขึ้นเพียง 1.3% ทำให้ตลาดคลายความกังวล โดยบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปีปรับตัวลง 1.2bps มาที่ระดับ 1.51% ดัชนีดอลลาร์อ่อนค่า 0.2% และสินทรัพย์ทางเลือกต่าง แกว่งตัวในกรอบแคบรอสัญญาณเศรษฐกิจใหม่ ล่าสุด ราคาน้ำมันดิบ WTI อยู่ที่ระดับ 64 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลใกล้เคียงกับช่วงปลายปี 2018 ราคาทองคำฟื้นตัวขึ้นมาเท่ากับช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ 1726 ดอลล่าร์ต่อออนซ์ และบิทคอยน์ขยับขึ้นยืนที่ระดับ56,100 ดอลลาร์ใกล้ระดับสูงสุดตลอดกาล

ฝั่งเงินบาท แม้จะแกว่งตัวในกรอบแคบแต่ก็มีแรงซื้อทั้งหุ้นและบอนด์จากนักลงทุนต่างชาติกลับหลังยีลด์สหรัฐปรับตัวลงในช่วงนี้ขณะที่ตลาดเริ่มมีความหวังกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดีระยะถัดยังต้องจับตาทิศทางของตลาดทุนต่อเนื่อง เพราะแม้จะฟื้นตัวได้ดีแต่ก็มักมีความผันผวนสูงจากภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปหลังวิกฤต ซึ่งทำให้เงินบาทขาดแรงหนุนที่ชัดเจนในช่วงครึ่งแรกของปี

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า หากยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงหรือทรงตัวได้ ตลาดก็จะลดความผันผวนลง กดดันให้ เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงและหนุนให้ค่าเงินอาจแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ เงินบาทก็ยังจะได้รับแรงหนุนจาก แรงซื้อสินทรัพย์ โดยเฉพาะหุ้น  (ฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลเข้า) ที่อาจทยอยเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ดี แรงซื้อดอลลาร์ของผู้นำเข้าก็เริ่มขยับขึ้นมาใกล้ระดับ 30.60 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ เงินบาทอาจจะไม่ได้แข็งค่าไปมากนัก ขณะที่ ถ้าตลาดผันผวนหนักต่อและกดดันให้ เงินดอลลาร์พลิกกลับแข็งค่า งินบาทก็อาจอ่อนค่ากลับไปได้ถึงระดับ 30.75-30.90 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ส่งออกส่วนใหญ่รอขายเงินดอลลาร์

ทั้งนี้ แม้เงินบาทจะผันผวนในกรอบกว้าง เรายังคงมองว่า ผู้ส่งออกควรทยอยปิดความเสี่ยงค่าเงิน ในช่วงที่เงินบาทกลับมาอ่อนค่า เนื่องจากในระยะยาว เราคงมองว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มกลับไปแข็งค่าได้อยู่จากแนวโน้มเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง และฟันด์โฟลว์ต่างชาติที่จะไหลกลับเข้าตลาดทุนไทยมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

นอกจากนี้ ผู้ส่งออกอาจเริ่มพิจารณาใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น อาทิ Option (แต่อาจจะต้องรอให้ความผันผวนตลาดลดลงก่อน) เนื่องจากทิศทางตลาดการเงินในช่วงนี้ สามารถพลิกกลับไป/มา ได้อย่างรวดเร็วและรุนแรง

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 30.65-30.75 บาทต่อดอลลาร์