กองทุนฯช่วยเกษตรกร เท51ล้านดันส่งออกไข่ไก่ แก้ล้นตลาด-ราคาตก

กองทุนฯช่วยเกษตรกร  เท51ล้านดันส่งออกไข่ไก่ แก้ล้นตลาด-ราคาตก

กองทุนช่วยเหลือเกษตรกรฯเท 51 ล้าน อุดหนุนฟองละ0.50 บาทเพื่อส่งออก100 ล้านฟองหวังบรรเทาปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำซ้ำล้นตลาดปมโควิดระบาดทำดีมานด์บริโภคหด

นายวัฒนศักดิ์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนช่วยเหลือเกษตรกร ได้หารือถึงแนวทางแก้ปัญหาไข่ไก่ราคาตกต่ำ หลังจากพบว่า ในช่วงโควิดแพร่ระบาดทำให้เกิดปัญหาผลผลิตไข่ไก่ล้นตลาดถึงวันละ 4 ล้านฟอง จากปกติมีผลผลิตไข่ไก่เฉลี่ย 42 ล้านฟองต่อวัน แต่กลับมีการบริโภคเพียง 38 ล้านฟอง จึงส่งผลให้ราคาไข่ไก่ปรับลดลงต่อเนื่อง โดยไข่คละหน้าฟาร์มเหลือเพียงฟอง 2.50 บาท ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนการเลี้ยงไข่ไก่ที่ฟองละ 2.58 บาท และราคาที่ผู้เลี้ยงไข่ไก่ควรจะขายได้อยู่ที่ฟองละ 2.80 บาท

“เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่กำลังประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก และยังเผชิญปัญหาผลผลิตไข่ไก่ล้นตลาดอีกด้วย ซึ่งมีสาเหตุหลักเกิดจากโควิด-19 ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในไทย ทั้งที่มีการบริโภคอยู่ถึงวันละ 2 ล้านฟอง "

ดังนั้น ที่ประชุมฯจึงมีมติกำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบผ่านการประสานสถานีบริการน้ำมันทั้งพีทีที และบางจาก ให้นำไข่สดไปตั้งขายเป้าหมาย 20 ล้านฟอง โดยจะนำไข่ไก่เบอร์ 3 ขายแผง 30 ฟอง ราคา 70 บาท รวมถึงจะเร่งผลักดันไข่ไก่ 200 ล้านฟองออกจากตลาด ด้วยการส่งออกโดยรัฐบาลจะสนับสนุเงินชดเชยให้เอกชน 100 ล้านฟองแรก ในราคาฟองละ 50 สตางค์ คาดว่าจะใช้งบประมาณ 51 ล้านบาท ซึ่งจะใช้งบประมาณจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

สำหรับสัดส่วนการบริโภคไข่ไก่ที่ไทยผลิตได้จะแบ่งเป็นการบริโภคภายในประเทศ 95-98% ที่เหลือส่งออก ซึ่งต้องยอมรับว่าจากผลกระทบโควิดทำให้ปริมาณบริโภคลดลง ดังนั้น กรมฯก็ต้องเข้าไปแก้ไขปัญหา โดยผลักดันการส่งออกสามารถผลักดันให้ราคาไข่ไก่ขึ้นมาได้ระดับหนึ่ง รวมทั้งจะมีการปลดแม่ไก่ยืนกรง เพื่อลดปริมาณไข่ไก่เข้ามาในตลาด

นายสุเทพ สุวรรณรัตน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ กล่าวว่า ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเกษตรกรในปัจจุบันอยู่ที่ฟองละ 2.50-2.60 บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยพุ่งไปถึง 2.69 บาทต่อฟองแล้ว ที่ผ่านมาเกษตรกรทั่วประเทศต่างพยายามแก้ปัญหาร่วมกัน ด้วยการวางแผนการผลิตอย่างรอบคอบ มีการปลดแม่ไก่ยืนกรงเพื่อรักษาสมดุลปริมาณกับการบริโภค อย่างไรก็ตาม การผลิตไข่ไก่ของไทย เป็นการผลิตเพื่อรองรับการบริโภคในประเทศเป็นหลัก ไม่ได้เน้นเพื่อการส่งออก

ทั้งนี้การส่งออกไข่ไก่จะเกิดขึ้นเมื่อจำเป็นต้องระบายผลผลิตส่วนเกินให้สอดคล้องกับความต้องการบริโภค และช่วยรักษาเสถียรภาพราคาในประเทศเท่านั้น เนื่องจากผู้ส่งออกไข่ไก่จะต้องขายในราคาขาดทุน เพื่อให้แข่งขันราคากับจีนและสหรัฐ ได้ จึงไม่มีใครอยากผลิตไข่ไก่เพื่อส่งออก