'ลดขนาดธุรกิจ'ทางรอด'วอลท์ ดิสนีย์'

'ลดขนาดธุรกิจ'ทางรอด'วอลท์ ดิสนีย์'

'ลดขนาดธุรกิจ'ทางรอด'วอลท์ ดิสนีย์' บริษัทได้ตัดสินใจปิดร้านค้าปลีก20% โดยในอเมริกาเหนือ ปิดร้านดิสนีย โค จำนวนกว่า 60 แห่ง และกำลังคิดที่จะปิดร้านค้าปลีกในประเทศต่างๆทั่วยุโรปด้วย

การระบาดของโรคโควิด-19ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป จากเดินช็อปปิ้งไปตามร้านค้าเป็นการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ ประกอบกับมาตรการคุมเข้มของรัฐบาลประเทศต่างๆทั่วโลกเพื่อบรรเทาการระบาดของโรคนี้ ทำให้ยอดขายของบริษัทค้าปลีก

โดยเฉพาะธุรกิจบันเทิงชั้นนำของโลกอย่างวอลท์ ดิสนีย์ลดลงฮวบฮาบ ล่าสุด บริษัทจึงตัดสินใจปิดร้านค้าปลีก20% โดยในอเมริกาเหนือ ปิดร้านดิสนีย โค จำนวนกว่า 60 แห่ง และกำลังคิดที่จะปิดร้านค้าปลีกในประเทศต่างๆทั่วยุโรปด้วย

วอลท์ ดิสนีย์ โค ซึ่งปัจจุบันมีร้านค้าปลีกจำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับภาพยนต์ของวอลท์ ดิสนีย์ทั่วโลกประมาณ 600 แห่ง ยืนยันว่าต้องการปรับกลยุทธหันไปเน้นทำตลาดทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และที่ผ่านมา ดิสนีย์ได้จัดทำเว็บไซต์ให้เป็นมิตรต่อผู้บริโภคมากขึ้น พร้อมทั้งเปิดบูติภายในร้านค้าปลีกอื่นๆ ซึ่งรวมถึงร้านค้าในสวนสนุก และร้านค้าที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของ

“ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปซื้อสินค้าทางออนไลน์มากขึ้น การระบาดของโรคโควิด-19 ก็เปลี่ยนแปลงสิ่งที่ผู้บริโภคคาดหวังว่าจะได้รับจากผู้ค้าปลีก”สเตฟานี ยัง ประธานผลิตภัณฑ์เพื่อผู้บริโภค เกมและหน่วยงานด้านการตีพิมพ์ของดิสนีย์ กล่าว

ดิสนีย์เป็นหนึ่งในบริษัทที่จำหน่ายไลเซนส์รายใหญ่สุดของโลกแต่ยอดขายสินค้าลิขสิทธิ์ของบริษัท และธุรกิจค้าปลีกร่วงลง 7% เมื่อปีที่แล้ว เหลือ 4,180 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นการปรับตัวร่วงลงอย่างมาก สืบเนื่องจากการปิดร้านเพราะผลพวงของโรคโควิด-19 ระบาด

อย่างไรก็ตาม ดิสนีย์ ไม่ได้บอกว่าการปิดร้านค้าครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อพนักงานของบริษัทมากน้อยแค่ไหน ส่วนราคาหุ้นของดิสนีย์ปรับตัวร่วงลงไม่ถึง 1% ไปอยู่ที่ราคาหุ้นละ192.26 ดอลลาร์ช่วงปิดตลาดเมื่อวันพุธ(3มี.ค.)ที่ตลาดหุ้นนิวยอร์ก

นอกจากลดขนาดธุรกิจแล้ว ดิสนีย์ยังเพิ่มจำนวนพนักงานที่จะถูกเลย์ออฟในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เป็น 32,000 คนจากจำนวน 28,000 คนที่ประกาศไปเมื่อเดือนก.ย.ปีที่แล้ว หรือคิดเป็นสองในสามของพนักงานพาร์ทไทม์ขณะที่การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อดิสนีย์ แลนด์ และวอลท์ดิสนีย์ เวิลด์

“สืบเนื่องจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การระบาดของโรคโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศทางธุรกิจ บริษัทพยายามดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพในการลดต้นทุนด้านบุคคลากร รวมถึงจำกัดการจ้างงานในตำแหน่งที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ”แถลงการณ์ของดิสนีย์ระบุ

ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมบันเทิงโลก ยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาทางการเงินในช่วงไตรมาสสี่ ปี2563 เมื่อสองสัปดาห์ก่อน โดยระบุว่ารายได้ลดลง 23% จากปีก่อนหน้านี้อยู่ที่ 14,700 ล้านดอลลาร์และขาดทุนเป็นเงิน 710 ล้านดอลลาร์

ธุรกิจสวนสนุกและรีสอร์ทของดิสนีย์เป็นธุรกิจใหญ่ที่มีการจ้างงานมากกว่า 100,000 ตำแหน่งเฉพาะในสหรัฐ มีธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่สวนสนุก โรงแรม เรือสำราญ สนามกีฬา และปัจจุบันสวนสนุกของดิสนีย์บางแห่ง อย่างเช่น ในแคลิฟอร์เนีย ปิดต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 2563

นอกจากลดขนาดธุรกิจ และลดพนักงานแล้ว ดิสนีย์ยังหยุดจ่ายปันผล รวมถึงปรับลดสวัสดิการ เงินบำนาญ และประกันสุขภาพของพนักงานที่เกษียณแล้ว ในแง่แผนธุรกิจดิสนีย์ ได้ตัดสินใจลดเงินลงทุนในการผลิตทีวีและภาพยนตร์ด้วย

สวนสนุกดิสนีย์แลนด์ มีพนักงานทั้งหมด 203,000 คน พนักงานทั่วโลกประกอบไปด้วยพนักงานประจำประมาณ 80% และอีก 20% เป็นพนักงานชั่วคราว และจากจำนวนทั้งหมดมีพนักงานประมาณ 155,000 คน ทำงานอยู่ในส่วนของสวนสนุก ฝ่ายการผลิตและอื่นๆ

เมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา วอลท์ ดิสนีย์ เปิดเผยรายได้ในไตรมาส 1 ตามปีงบการเงิน 2564 ของบริษัทว่าอยู่ที่ระดับ 1.625 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลง 22% เมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องจากธุรกิจของบริษัทยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนผลกำไรต่อหุ้นในไตรมาส 1 ทรุดฮวบลง 79% สู่ระดับ 32 เซนต์ จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 1.53 ดอลลาร์

ดิสนีย์ เปิดเผยว่า ธุรกิจของดิสนีย์ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการที่รัฐบาลใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจสวนสนุก ทั้งนี้ ดิสนีย์ประมาณการว่า ผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะสร้างความเสียหายต่อบริษัทเป็นวงเงินราว 1 พันล้านดอลลาร์ในปีงบการเงิน 2564

แต่ดิสนีย์เปิดเผยว่า จำนวนสมาชิกที่ใช้บริการสตรีมมิ่ง ดิสนีย์พลัส (Disney+) พุ่งขึ้นแตะระดับ 94.9 ล้านรายในไตรมาส 1 ของปีงบการเงิน 2564 โดยธุรกิจดิสนีย์พลัสเติบโตอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เปิดตัวการให้บริการเมื่อวันที่ 12 พ.ย. ปี 2562