'กระทรวงพลังงาน' ชูโมเดลญี่ปุ่นปั้นแผนลดปล่อยคาร์บอน-เพิ่มพลังงานสะอาด

'กระทรวงพลังงาน' ชูโมเดลญี่ปุ่นปั้นแผนลดปล่อยคาร์บอน-เพิ่มพลังงานสะอาด

“ก.พลังงาน” ผนึก “เมติ” ใช้เวที “Policy Dialogue” ถอดโมเดลญี่ปุ่นวางเป้าหมายลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ บรรจุในแผนพลังงานแห่งชาติ ดันเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด คาดชง นายกฯ เคาะ ส.ค.-ก.ย.นี้

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน เตรียมใช้เวทีการหารือเชิงนโยบาย (Policy Dialogue) กับ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (เมติ) ของญี่ปุ่น ในรูปแบบการประชุมออนไลน์ด้วยระบบ Zoom ซึ่งปีนี้ ทางกระทรวงพลังงาน จะเป็นเจ้าภาพ โดยจะขอให้ทางญี่ปุ่น นำเสนอรายละเอียดของแผนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) ขึ้นอยู่ชั้นบรรยากาศ ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดก๊าซเรือนกระจก และนำไปสู่ปัญหาโลกร้อน หลังจากเมื่อเร็วๆนี้ ทางญี่ปุ่น ได้ประกาศเป้าหมายชัดเจนว่า จะลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 หรือ Carbon Neutral by 2050 และยังมียุทธศาสตร์การเติบโตด้านพลังงานสะอาด “green growth strategy" กำกับการขับเคลื่อนชัดเจน

โดยประเทศไทย จะนำแนวทางดังกล่าวมาเป็นโมเดลในการจัดทำแผนลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ให้สอดรับกับทิศทางพลังงานของหลายประเทศทั่วโลกที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เช่น สหรัฐ ได้ประกาศเป้าหมาย ลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2593 และจีน ประกาศเป้าหมาย ลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2603 ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญในการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ 2022 ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้

“ที่เลือกโมเดลญี่ปุ่น เพราะเขาเพิ่งประกาศ Carbon Neutral by 2050 และเขามี Policy Dialogue กับเรา ซึ่งเขาทำจริงจังมาก มีทั้งการออกมาตรการการเงิน มาตรการพภาษี และการผลักดันต่างๆเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เราก็จะต้องมาดูว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนลงเท่าไหร่ ปีไหน และจะเพิ่มพลังงานสะอาดอย่างไร”

ทั้งนี้ การจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ ที่ประกอบไปด้วย แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) แผนพัฒนาพลังงานทดแทน (AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ในทุกๆแผน ก็จะต้องกำหนดแนวทางขับเคลื่อนให้ไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ การลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เช่น

แผนก๊าซฯ ก็ต้องมาดูว่า แหล่งก๊าซฯในอ่าวไทย จะผลิตก๊าซฯสัดส่วนเท่าใด จะเป็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) สัดส่วนเท่าใด ถ้านำเข้า LNG แล้ว จำเป็นต้องมีการลงทุนก่อสร้างโครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ (FSRU) หรือไม่ และคลังรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Terminal) เพียงพอหรือไม่ หากนำเข้า LNG มาแล้ว จะป้อนเป็นเชื้อเพลิงไฟฟ้าปริมาณเท่าใด และจะมีการส่งออกLNG อย่างไร

ส่วนแผนน้ำมันฯ ก็ต้องมาดูว่า หากการส่งเสริมใช้ยายนต์ไฟฟ้า(อีวี) เกิดขึ้น หรือเข้ามาเร็ว ยอดการใช้น้ำมันจะเป็นอย่างไร และแผนบริการจัดการเอทานอลกับไบโอดีเซล จะต้องปรับอย่างไร เพราะใน 5ปีข้างหน้า กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่สามารถนำเงินมาอดุหนุนราคาได้แล้วตามข้อกำหนดของกฎหมาย รวมถึงโรงกลั่นน้ำมัน จะต้องปรับตัวอย่างไรหากอีวีเข้ามา

ขณะที่ไฟฟ้า ก็ต้องไปดูเรื่องของกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) ของประเทศในอนาคตจะเป็นอย่างไร เพื่อกำหนดสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ให้เหมาะสม แต่คาดว่า พลังงานหมุนเวียนจะต้องปรับเพิ่มขึ้นแน่นอน จากเดิมกำหนดสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนตลอด 20ปี อยู่ที่ 25% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ เพื่อให้ตอบโจทย์ลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ รวมถึงหากเปิดเสรีทั้งไฟฟ้าและก๊าซฯแล้ว โครงการสร้างไฟฟ้าในอนาคตจะเปลี่ยนไปอย่างไร และก็ต้องพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริด หรือ จัดทำ Grid modernization ซึ่งทั้ง 3 การไฟฟ้าต้องประสานความร่วมมือกัน เพื่อรองรับการเข้ามาของพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้าให้มีความเสถียรมากขึ้น เป็นต้น

“ทั้งหมดนี้ กระทรวงพลังงาน ตั้งเป็นโจทย์ตุ๊กตาไว้แล้ว คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในเดือนมี.ค.นี้ และจะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาอุตฯ สภาหอการค้าไทยฯ และกลุ่มอุตฯยานตร์ จากนั้นก็เสนอต่อนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เห็นชอบแผน และเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง ก่อนปรับปรุงแผนเสนอกพช. โดยคาดว่าจะเสนอครม.อนุมัติได้ในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย.นี้”

นายกุลิศ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงตามแผน PDP ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่ได้ดำเนินการจัดทำการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ไปแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิง ถือว่าเป็นพลังงานสะอาด ดังนั้นยังดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ตามแผน ขณะเดียวกันก็ได้มอบหมายให้ กฟผ.จัดทำแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนอื่นๆที่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการมาเสนออีกครั้ง เพื่อปรับแผนให้สอดรับทิศทางการใช้พลังานในอนาคตด้วย