ผลักดัน 'โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง' สู่นโยบายสาธารณะ 'วาระแห่งชาติ'

ผลักดัน 'โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง' สู่นโยบายสาธารณะ 'วาระแห่งชาติ'

สสส. – สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย ชี้ NCDs ร้ายกว่าโควิด-19 คร่าชีวิตคนไทย 1,000 คน/วัน ดันขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ สู่ วาระแห่งชาติ เข้มอาหารหวาน มัน เค็ม ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ตัดวงจรโรคไม่ติดต่อเรื้อรังพุ่ง สร้างสุขภาวะที่ดี 

วันนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2564) ที่ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ แพลทินัม ประตูน้ำ กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย (Association of Thai NCD Alliance) และภาคีเครือข่าย ประกาศเจตนารมณ์ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบาย ตัดวงจรปัญหาโรค NCDs ทำลายชีวิตคนไทย พร้อมจัดพิธีลงนาม MOU องค์กรวิชาชีพ หน่วยงานรัฐ และภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านโรคไม่ติดต่อ ตั้งเป้าสนับสนุนขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ สู่ วาระแห่งชาติ

ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย กล่าวว่า กลุ่มโรคไม่ติดต่อ (Non-communicable diseases; NCDs) เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และ โรคปอดเรื้อรัง เป็นภัยเงียบในใช้ชีวิตประจำวันที่ร้ายแรงกว่าโควิด-19 หลายเท่าตัว เพราะพบผู้เสียชีวิตจากโรคนี้วันละไม่ต่ำกว่า 1,000 คน คิดเป็นมูลค่ามหาศาลที่ระบบบริการสาธารณสุขต้องจ่ายเพื่อดูแลผู้ป่วย เช่น ค่าบุคลากรทางการแพทย์ ยา และเครื่องมืออุปกรณ์

161415821742

“การควบคุมและป้องกันโรค NCDs คือ ลดปัจจัยเสี่ยงจากการบริโภคที่ไม่จำเป็น ไม่ยุ่งกับอบายมุข ส่งเสริมปัจจัยที่ทำให้สุขภาพดีขึ้นด้วยการมีกิจกรรมทางกาย เช่น เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน วิกฤตโควิด-19 คือโอกาสที่เราควรปรับวิธีดำเนินชีวิต และปรับสิ่งแวดล้อมให้ลดปัจจัยเสี่ยง ซึ่งต้องอาศัยนโยบายยับยั้งปัจจัยเสี่ยงและส่งเสริมปัจจัยคุ้มครอง จึงเสนอฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญแก้ปัญหาโรค NCD อย่างจริงจัง และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคมและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี กล่าว

ดร.นพ.วิชช์  เกษมทรัพย์ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 5 สสส. และรองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เป้าหมายของ สสส. คือ ขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมที่ลดการบริโภคไม่จำเป็น และส่งเสริมให้ประชาชนหันมารักสุขภาพ ลดความเสี่ยงจากโรค NCDs ที่ผ่านมาได้สานพลังและผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายร่วมกับภาคีเครือข่าย ให้เกิดกฎระเบียบ การจัดสรรงบประมาณแก้ปัญหา สู่ วาระแห่งชาติ สร้างความรอบรู้ทางสุขภาพให้ทุกคนหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างจริงจัง ให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายกาย กินอาหารมีประโยชน์ ลด ละ เลิกอบายมุข เพื่อสุขภาวะที่ดี

161415821974

“ปี 2564 สสส. และ ภาคีเครือข่ายจะติดตามและขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายอย่างน้อย 4 ด้าน คือ 1) การจัดบริการผู้ป่วย ผู้ที่เสี่ยงต่อ NCDs แบบวิถีใหม่ ลดความแออัด ลดการรอคอย และผู้ป่วยมีข้อมูลใช้ติดตามและปรับเปลี่ยนสุขภาพของตนเองได้ 2) ด้านการควบคุมสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น บุหรี่-ยาเส้น, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, อาหารหวาน มัน เค็ม 3) ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ด้วยการเดิน โดยส่งเสริมการใช้รถขนส่งมวลชน พัฒนาสวนสาธารณะและทางเดินเท้าในเมืองและทุกท้องถิ่นให้ปลอดภัย เข้าถึงง่ายกับประชาชนทุกเพศ ทุกวัย และ 4) การส่งเสริมหน่วยงาน/องค์กรให้ดูแลสุขภาพบุคลากรในหน่วยงาน/องค์กร เพื่อให้ปราศจาก NCDs และเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างมีคุณภาพ” ดร.นพ.วิชช์  กล่าว

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็มและนายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การบริโภคเค็มปัญหาสำคัญระดับโลก จากการสำรวจเครือข่ายบริโภคเค็ม พบว่า คนไทยกินเค็มเกินความต้องการเกือบ 2 เท่า อันดับ 1 คือ ภาคใต้ กว่า 4,000 มก.ต่อวัน ขณะที่ WHO กำหนดว่าไม่ควรเกิน 2,000 มก.ต่อวัน ส่งผลให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงกว่า 13 ล้านคน หัวใจและหลอดเลือดเกือบ 2 ล้านคน โรคไต 8 ล้านคน มีผู้ป่วยที่ต้องฟอกไตกว่า 1.5 แสนคน และเพิ่มขึ้น 15% ทุกปี ผู้ป่วยรอปลูกถ่ายไตกว่า 7,000 คน แต่สามารถปลูกถ่ายได้เพียงปีละ 700 คน ดังนั้น การกินเค็มมีส่วนทำให้คนป่วยเกือบ 20 ล้านคน

161415821735

"คนไทยไม่ควรบริโภคโซเดียม 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน (หรือเทียบเท่าเกลือ 1 ช้อนชาหรือ 5 กรัม) แต่ความจริงพบว่า คนไทยบริโภคเกินมาตรฐานกว่า 3 เท่า ขณะที่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ทั้งที่มีโซเดียมสูงสุดอันดับ 1 ซึ่งการบริโภคโดยเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 49 ชิ้นต่อคน ในขณะที่ทั่วโลกบริโภคเฉลี่ยที่ 13.3 ชิ้นต่อคนต่อปี (ข้อมูลจาก World Instant Noodles Association ในปี พ.ศ. 2560) ส่วนกลุ่มขนมขบเคี้ยว ขนมจำพวกปลาเส้นมีปริมาณโซเดียมสูงสุด รองลงมาเป็นสาหร่ายอบ/ทอดกรอบ และขนมจำพวกข้าวเกรียบและมันฝรั่งอบ/ทอดกรอบ"

161415821848

"จึงเสนอให้รัฐใช้ มาตรการภาษี อาหารที่มีเกลือโซเดียมในปริมาณที่สูงต่อหนึ่งหน่วยบริโภค กระตุ้นภาคอุตสาหกรรมให้ปรับเปลี่ยนสูตร ผลิตภัณฑ์อาหารให้มีโซเดียมน้อยลง เพราะเป็นสาเหตุหลักของโรคความดันโลหิตสูงและโรคไตของคนไทย รวมถึง มาตรการการจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม เช่น ปรับอาหารกลางวันในโรงเรียน หรืออาหารผู้ป่วยในโรงพยาบาล ให้เป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ในที่ทำงานมีอาหารเพื่อสุขภาพอย่างน้อย 1-2 เมนูต่อร้าน รวมถึงมีคำเตือนในฉลากผลิตภัณฑ์  เช่นเดียวกับ อิสราเอล หรือ ชิลี ซึ่งจะติดฉลากสีแดงในสินค้ามีโซเดียมสูง แต่หากดีต่อสุขภาพจะเป็นฉลากสีเขียว ทำให้คนมีแนวโน้มซื้อสินค้าฉลากสีเขียวมากขึ้น เป็นกฎที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกได้ และความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม โดยต้องเป็นภาคบังคับเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว