204 วัน ตำนาน ‘กำนันสุเทพ’ ก่อนพิพากษา ‘กบฎ กปปส.’

204 วัน ตำนาน ‘กำนันสุเทพ’ ก่อนพิพากษา ‘กบฎ กปปส.’

ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดี กบฎ กปปส. ในวันที่ 24 ก.พ.นี้ คงต้องไปลุ้นกันว่าบทสรุปของ 'กำนันสุเทพ' กับพวก ร่วม 39 ราย จะลงเอยเช่นไร

 
จุดพลิกผันครั้งสำคัญของนักการเมืองที่ชื่อ สุเทพ เทือกสุบรรณ เกิดขึ้น 31 ต.ค.2556 หลังตัดสินใจลุกขึ้นมาหยิบ ‘นกหวีด’ ปลุกมวลมหาประชาชนครั้งแรกที่สถานีรถไฟสามเสน ต่อต้านร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย

โดย พรบ.ดังกล่าวเป็นการ ‘นิรโทษกรรม’ ที่ครอบคลุมทุกฝ่ายทั้ง ‘พันธมิตรฯ - นปช.’ โดยเฉพาะ นายทักษิณ ชินวัตร นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รวมถึงตัวนายสุเทพเอง ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากหลายฝ่ายเพราะเท่ากับเป็นการนิรโทษกรรมให้แก่คดีอาญา และ คดีผู้ทุจริตคอร์รัปชัน   

“สุเทพ” จึงนำทีม ส.ส. 8 คนลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเป็นผู้นำมวลชนและเรียกตัวเองว่าคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) และยกระดับการชุมนุมลงบนถนนพุ่งเป้าขับไล่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และเรียกร้องการปฏิรูปประเทศ

กลุ่ม กปปส. ภายใต้การนำของสุเทพ ได้งัดยุทธศาสตร์-ยุทธวิธีหลากหลายรูปแบบเพื่อกดดันรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ให้บริหารราชการแผ่นดิน ด้วยการ ‘ดาวกระจาย’ เข้ายึดสถานที่ราชการ และพื้นที่ย่านธุรกิจใจกลางเมืองหลายแห่ง เช่น กระทรวงการคลัง ศูนย์ราชการ ทำเนียบรัฐบาล แยกปทุมวัน แยกราชประสงค์ ฯลฯ

ระหว่างการชุมนุมแม้นายสุเทพ จะได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนและนายทุนล้นหลาม ผ่านการบริจาคเป็นจำนวนเงินหลายล้านบาท เพื่อสนับสนุน และเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น “ลุงกำนัน” แต่ก็ยังมีฝ่ายต่อต้านและใช้ความรุนแรงเข้ากระทำต่อกัน ทั้ง ปาระเบิด หรือการยิงใส่กลุ่มผู้ชุมนุมทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย

ในที่สุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ทนแรงกดดันไม่ไหว ตัดสินใจยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 และกำหนดวันเลือกตั้งเป็น 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่นั่นก็ไม่ทำให้ สุเทพ และมวลชน กปปส. หยุดการเคลื่อนไหว ด้วยข้อเรียกร้องปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง

จึงเกิดปฏิบัติการ “ชัตดาวน์กรุงเทพฯ” ตั้ง 7 เวทีชุมนุมใหญ่ใจกลางกรุง-กระจายแกนนำ กปปส.ไปคุมเชิง ประกอบด้วย แจ้งวัฒนะ ห้าแยกลาดพร้าว อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แยกปทุมวัน สวนลุมพินี แยกอโศก แยกราชประสงค์ พร้อมปิดล้อมคูหาเลือกตั้ง ซึ่งทำให้การเลือกตั้งปี 2557 ต้องเป็นโมฆะ

แม้การชุมนุมของนายสุเทพจะลากยาวแบบไม่รู้จบ แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องยุติบทบาท เมื่อเวลาล่วงเลยเข้าสู่วันที่ 204 เนื่องจากเกิดการทำรัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ แกนนำ และแนวร่วมกปปส. ถูกดำเนินคดีในข้อหาแตกต่างกันไป บางส่วนคดีจบในศาลชั้นต้น บางคดีก็ไปถึงศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา จนถูกลงโทษจำคุก โดยเพราะการขัดขวางการเลือกตั้ง บุกรุกสถานที่ราชการ บางส่วนก็อยู่ในระหว่างรอลงอาญา

ในขณะคดี สุเทพ และแกนนำ กปปส.รวม 39 ราย ศาลเตรียมอ่านคำพิพากษาใน วันพุธที่ 24 ก.พ.2564 ในความผิด 9 ข้อหา ฐานร่วมกันเป็นกบฏ ก่อการร้าย ยุยงให้หยุดงานฯ กระทำให้ปรากฏด้วยวาจาหรือวิธีการอื่นใดฯ ทำให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในราชอาณาจักรฯ อั้งยี่ ซ่องโจร มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองฯ บุกรุกในเวลากลางคืนฯ และร่วมกันขัดขวางการเลือกตั้งฯ

ต้องจับตาว่า 24 ก.พ.2564 นี้ การชุมนุม 204 วัน ของ ‘กำนันสุเทพ’ พร้อมพวกจะมีบทสรุปเช่นไร