สธ.แจงยิบแผนซื้อวัคซีน เทียบ 'แอสตร้า-โคแวกซ์' ยันกระบวนการตรวจสอบได้

สธ.แจงยิบแผนซื้อวัคซีน เทียบ 'แอสตร้า-โคแวกซ์' ยันกระบวนการตรวจสอบได้

สธ.แจงยิบแผนซื้อวัคซีนเทียบ 'แอสตร้า-โคแวกซ์' ยันกระบวนการโปร่งใส- ตรวจสอบได้

หลังจากที่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายประเด็นการจัดญซื้อวัคซีนโควิดระหว่างรัฐบาลกับ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า

ที่รัฐสภา นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค  นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค

โดยนพ.เกียรติภูมิ  กล่าวชี้แจงว่า  กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการด้านวัคซีนโควิด 19 มาประมาณ 1 ปีกว่า ควบคู่ไปกับการป้องกัน ควบคุมการระบาดของโรค สามารถทำได้ดีจนได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ทั้งระลอกแรกและระลอกใหม่ สิ่งที่จะดำเนินการในขั้นตอนต่อไปคือการใช้วัคซีน โรคนี้เป็นโรคอุบัติใหม่ในช่วงแรกของการระบาดไม่สามารถหาวัคซีนได้จากบริษัทยาทั่วไป และการจัดหาต้องคำนึงถึงคุณภาพและความปลอดภัยเป็นอันดับแรก โดยประเทศไทยได้จองและเตรียมให้บริการฉีดให้ประชาชนถึง 63 ล้านโดส เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันระดับประเทศ วางแผนการฉีดให้แล้วเสร็จ ภายในปี 2564 เพื่อให้ควบคุมการแพร่ระบาดและเพื่อให้สามารถดำเนินเศรษฐกิจต่อไปได้

“ยืนยันว่า ขณะนี้ประเทศไทยสามารถควบคุมโรคได้ดี จากการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขเองและความร่วมมือจากประชาชน ทำให้อัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าค่ามาตรฐาน 20 เท่า และการแพร่กระจายโรคต่ำกว่าในหลายประเทศ”

ปลัดสธงยืนยันด้วยว่า ที่ผ่านมาในการทดลองการใช้วัคซีนของ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ไม่เคยทำให้ใครเสียชีวิต 

ด้านนพ.นคร กล่าวว่า  ประเทศไทยมีการวางแผนจัดหาวัคซีนโควิด 19 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 โดยมีการสนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนภายในประเทศ แสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อวิจัยพัฒนาร่วมกัน และติดตามข้อมูลวามก้าวหน้าของวัคซีนแต่ละชนิด พบว่า วัคซีนรูปแบบ mRNA และไวรัลเวคเตอร์ มีการพัฒนาและน่าจะสำเร็จในเวลาใกล้เคียงกัน จึงมีการเจรจาขอข้อมูลกับผู้ผลิตประเทศต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง เช่น จีน อังกฤษ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เบลเยียม เป็นต้น โดยประเทศไทยตั้งเป้าว่าจะต้องได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตด้วย เพื่อรับมือกับการระบาดในเวลานี้และในอนาคต

กระทั่งช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ได้หาพันธมิตรผู้ร่วมผลิตวัคซีนโควิด 19 ในเทคโนโลยีไวรัลเวคเตอร์ ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมเป็น Hub การผลิตวัคซีนกว่า 60 บริษัท ใน 60 ประเทศ โดยแอสตร้าเซนเนก้า ได้ประเมินและคัดเลือก 25 บริษัทเป็นผู้ร่วมผลิต ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เนื่องจากประเมินศักยภาพแล้วมีมาตรฐานเหมาะสมที่จะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยจำเป็นต้องสนับสนุนพัฒนาศักยภาพเพิ่มอีกเล็กน้อย เพื่อให้พร้อมรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เร็วที่สุดเพื่อผลิตวัคซีน และมีการเจรจาจองซื้อด้วย

"ถ้าจองซื้อวัคซีนกับบริษัทอื่น เป็นการคือซื้ออย่างเดียว แต่การจองซื้อกับแอสตร้าเซนเนก้า เราได้ศักยภาพการผลิตวัคซีนระดับโลกไว้กับเราด้วย ไม่ว่าจะอยู่กับภาครัฐหรือเอกชนไม่สำคัญ เพราะอยู่ในประเทศไทย ที่สำคัญแอสตร้าเซนเนก้ามีความมั่นใจอย่างมาก ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีตั้งแต่เดือนตุลาคม แม้ประเทศไทยยังไม่อนุมัติงบในการจองซื้อวัคซีน เนื่องจากบรรลุเงื่อนไขร่วมกันนือการเป็นหน่วยงานผลิตวัคซีนให้ภูมิภาคอาเซียน" นายแพทย์นครกล่าว

นพ.นครกล่าวว่า ส่วนการจองซื้อวัคซีนกับแอสตร้าเซนเนก้าและโครงการโคแวกซ์มีความแตกต่างกัน เนื่องจากค่าจองของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นส่วนหนึ่งของราคาวัคซีน แต่การจองกับโคแวกซ์เงินที่เรียกว่า UPFRONT PAYMENT เป็นค่าบริหารจัดการ ค่าวัคซีนจะกำหนดเมื่อทราบว่าได้วัคซีนของบริษัทใด และต้องจ่ายตามราคาที่ผู้ผลิตกำหนด

ทั้งนี้ ราคาวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าที่ระบุว่าประเทศไทยซื้อแพงกว่าในราคา 5 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดสนั้น ความจริงคือราคาอ้างอิงวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าในเว็บไซต์ยูนิเซฟ หรือสหภาพยุโรป หรือของสหรัฐอเมริกา เป็นราคาที่ไม่รวมเงินสนับสนุนวิจัย ราคาจึงอยู่ที่ประมาณ 4 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส นอกจากนี้ ในแต่ละแหล่งผลิต ราคาต้นทุนวัตถุดิบมีความแตกต่างกันตามช่วงเวลา หากเป็นวัตถุดิบตั้งแต่ปีที่แล้วราคาถูกกว่า แต่ช่วงปลายปี 2563 มีความต้องการผลิตวัคซีนสูง ทำให้ราคาวัตถุดิบสูงขึ้น จึงเกิดความต่างเรื่องของราคา แต่อยู่บนหลักการไม่มีกำไรไม่มีขาดทุน

สำหรับข่าวบริษัทอินเดียเสนอขายวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าแต่เราไม่ซื้อ เป็นข่าวเท็จทางโซเชียลมีเดีย ข้อเท็จจริงคือเป็นการเสนอความร่วมมือวิจัยวัคซีนกับไทย ซึ่งเป็นอีกบริษัทไม่ใช่บริษัทที่เกี่ยวกับแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเราทำข้อตกลงบันทึกความเข้าใจร่วมกันแล้ว ส่วนโครงการโคแวกซ์ ประเทศไทยยังเดินหน้าเจรจาเข้าร่วม ถ้าได้เงื่อนไขที่เหมาะสมกับประเทศไทย ขณะที่วัคซีนที่จะได้จากโคแวกซ์ในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2564 ก็เป็นของแอสตร้าเซนเนก้า จึงมองว่าไม่ต้องเข้าร่วมโครงการ เพราะเราได้วัคซีนจากการผลิตในประเทศไทยอยู่แล้ว ซึ่งคุณภาพทัดเทียมกับการผลิตจากบริษัทอื่นๆ ทั่วโลก ส่วนประเด็นการห้ามใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในผู้สูงอายุ เรายึดตามความเห็นขององค์การอนามัยโลกที่ระบุว่าวัคซีของนแอสตร้าเซนเนก้าใช้ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปได้

"เราจัดซื้ออย่างโปร่งใสมีคณะกรรมการตรวจสอบ พิจารณาเงื่อนไขสัญญาต่างๆ โดยหน่วยงานกำกับกฎหมายของประเทศ ไม่ได้ปกปิด และขอให้มั่นใจศักยภาพว่าประเทศไทยไม่แพ้ใครในโลก วัคซีนก็ผลิตได้คุณภาพ เราไม่ต้องมีวัคซีนหลากหลายชนิด ขอให้มีมากพอครอบคลุมประชากร และจัดบริการฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพ" นายแพทย์นครกล่าว

ขณะที่นพ.โอภาส  กล่าวตอบข้อสงสัยฝ่ายการเมือง ถึงแผนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ว่า นโยบายของรัฐบาลจัดให้คนไทยทุกคนจะต้องได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัย โดยมอบให้กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุขวางแผนการฉีดวัคซีน ตั้งแต่ปี 2563 เป้าหมายสำคัญ คือ

1.ลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต ซึ่งวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวค ได้ทำการพิสูจน์เรียบร้อยแล้วว่าช่วยลดความรุนแรงของโรค

2.เพื่อปกป้องระบบสุขภาพของประเทศซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ เป็นกลุ่มเสี่ยงจากการทำงาน และ

3. เพื่อให้คนไทยกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติและเกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจฟื้นฟูการท่องเที่ยวของประเทศไทย ตั้งเป้าฉีดให้ครอบคลุมคนไทยมากที่สุด เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศจะไม่เกิดการระบาดต่อ

ทั้งนี้ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายในการฉีด มี 3 ระยะ ได้แก่ ระยะแรกเมื่อวัคซีนมีปริมาณจำกัด ซึ่งไทยจะได้รับวัคซีนเชื้อตายจากประเทศจีน ภายในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อผ่านการควบคุมคุณภาพและตรวจสอบความปลอดภัยจาก อย. และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว จะทำการฉีดให้กับคนไทยทันที โดยกลุ่มเป้าหมายที่จะทำการฉีดคือ กลุ่มบุคคลเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงเมื่อติดเชื้อแล้วอาจมีอาการป่วยและตายสูง, กลุ่มคนในพื้นที่เสี่ยงได้แก่ จ.สมุทรสาคร กรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ รวม 5 จังหวัด และกลุ่มอาชีพเสี่ยงได้แก่ บุคลากรทางสาธารณสุข หรืออาชีพที่ต้องพบปะกับชาวต่างชาติ เช่น ผู้ที่ต้องทำงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ผู้ที่ต้องพบปะคนหมู่มาก คนที่ต้องเดินทางระหว่างประเทศโดย จะฉีดให้ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ซึ่งหากวัคซีนมาเร็วจะทำการฉีดให้เร็ว จำนวน 2 ล้านโดส จะฉีดระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน

ส่วนระยะที่ 2 เมื่อมีวัคซีนมากขึ้น และระยะที่ 3 เมื่อมีวัคซีนอย่างกว้างขวางจะเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้ได้เร็วที่สุด และหากมีวัคซีนเพียงพอจะฉีดให้ได้ 10 ล้านโดส หรือ 10 ล้านคนต่อเดือนที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จะฉีดตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป 7 เดือน กระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศจะครบถ้วนภายในปี 2564 โดยมีคณะกรรมการฯ ดูแลทุกขั้นตอน ตั้งแต่การจัดเก็บ กระจาย จัดฉีด และการติดตามผลข้างเคียง มีการซักซ้อมการดำเนินงานเรียบร้อยแล้ว ส่วนกรณีพบการเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิต จะมีการเยียวยาตามมาตรา 41 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ทีมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวตอบโต้ฝ่ายค้าน ประเด็นการจัดซื้อวัคซีน ภายในอาคารรัฐสภา ห้อง 203  นั้น นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. พรรคก้าวไกล ที่เป็นผู้อภิปรายไม่ไว้วางใจ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มาสังเกตการณ์ และจดข้อมูล ถึงภายในห้องที่ใช้แถลงข่าวด้วย