'วาเลนไทน์' ปีนี้ 'บริหารเงิน' ยังไงไม่ให้ 'เตียงหัก'

'วาเลนไทน์' ปีนี้ 'บริหารเงิน' ยังไงไม่ให้ 'เตียงหัก'

ไม่อยาก "เตียงหัก" เพราะ "เงิน" อย่าทำแบบนี้! ส่องปัญหาการเงินของ "คู่รัก" ที่อาจทำให้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการ "หย่าร้าง" เมื่อ "บริหารเงิน" และ "ความสัมพันธ์" ไม่ลงตัว

"เงิน" หนึ่งในปัญหาที่ซ่อนอยู่ในเบื้องหลังทุกความสัมพันธ์ฉัน "สามี ภรรยา" ที่เป็นชนวนให้ความรักที่หวานชื่น เริ่มจืดจาง หรือบางครั้งถึงขั้นขมขื่นจนต้อง "หย่าร้าง" จากเรื่องเงินๆ ทองๆ แบบไม่คาดคิดมาก่อน

การ "บริหารเงิน" สำหรับคู่รัก จึงเป็นเรื่องที่ห้ามมองข้าม และต้องจัดการ ถ้าไม่อยากให้ไปถึงจุดแตกหักเพราะเรื่องเงิน "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ประมวลสาเหตุของการเลิกราเพราะมีสาเหตุจาก "เรื่องเงินๆ ทองๆ" จากโซเชียลมีเดียที่คนมีคู่ต้องระวัง และรีบปรับตัวก่อนรักแท้จะเป็นแค่อดีตโดย 7 สาเหตุเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่มักทำให้คู่รักผิดใจกัน คือ

161303995414

 1. ทัศนคติเรื่องเงินไม่ตรงกัน 

การเลี้ยงดูจากครอบครัว สังคม และสิ่งแวดล้อม คือสิ่งที่หล่อหลอมทัศนคติเรื่องเงินของคนๆ หนึ่งให้มีแนวคิดเรื่องเงินใกล้เคียงกับสิ่งแวดล้อมที่บ่มเพาะมาตั้งแต่เด็กหรือตลอดเวลาในการใช้ชีวิต การแต่งงานระหว่างคน 2 คนจึงมีโอกาสสูงที่คน 2 คนจะมีทัศนคติเรื่องเงินต่างกันได้เป็นธรรมดา

เช่น ฝ่ายหนึ่งถูกสอนไม่ให้เป็นหนี้เลย อยากได้อะไรต้องเก็บเงินซื้อเท่านั้น ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าการเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์เป็นโอกาสในการสร้างอนาคต เป็นต้น

การมีทัศนคติที่ต่างไม่ใช่เรื่องผิด แต่หากคู่ไหนมองต่างแต่ไม่มีใครยอมใคร และมั่นใจว่าทัศนคติของตัวเองถูกต้องก็อาจจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งอื่นๆ จนถึงการจัดการเงินร่วมกันได้

การเปลี่ยนตัวเองเพื่อเห็นด้วยกับคู่รักไปซะทุกอย่างก็ไม่ใช่ทางออกที่ดีเสมอไป ทว่า การพูดคุยทำความเข้าใจกันบ่อยๆ บนพื้นฐานของความรักจะช่วยให้หาจุดกึ่งกลางของความแตกต่างนี้ได้มากขึ้น

 2. พฤติกรรมการใช้เงิน 

แม้จะแต่งงานอยู่ด้วยกันใกล้ชิดแทบตลอดเวลา แต่เรื่องไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมส่วนตัวเป็นสิ่งที่ห้ามละเลย และต้องมีการเว้นระยะหรือทำความเข้าใจ โดยเฉพาะคนที่มีไลฟ์สไตล์ที่ต่างกันมากๆ 

การใช้เงินไปกับสิ่งที่ชื่นชอบส่วนตัว อาจเป็นจุดเริ่มต้นของความไม่เข้าใจ เช่น อีกฝ่ายชอบสะสมกันดั้ม ชอบแต่งรถ อีกฝ่ายชอบซื้อกระเป๋าแบรนด์เนม ชอบซื้อเครื่องสำอาง หรือปาร์ตี้กับเพื่อนฝูง เที่ยวกลางคืน ฯลฯ 

การมีไลฟ์สไตล์ที่ต่างกันไม่ใช่อุปสรรคของชีวิตคู่เสมอไป แต่หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเริ่มมองว่าอีกฝ่ายใช้เงินไปในเรื่องไลฟ์สไตล์มากจนเกินไปนานๆ เข้า จนคิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระและไม่สมควร จะกลายเป็นความขัดแย้งขึ้นได้ง่ายๆ ดังนั้น คนมีคู่อาจจะต้องแบ่งสัดส่วนเงินเพื่อใช้จ่ายในส่วนนี้ให้ชัดเจน หรือตกลงกันตั้งแต่ต้น เพื่อลดโอกาสขัดแย้งกันในเรื่องนี้ 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:

 3. ไม่เชื่อใจกันเรื่องเงิน 

ความไม่เชื่อใจ หรือไม่ไว้วางใจเรื่องเงินคงไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคู่ แต่หากเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์และการบริหารเงินในระยะยาว 

ความไม่เชื่อใจคู่ตัวเองอาจจะมาจากการเคยโกหก เคยขโมยเงิน ซ่อนเงิน ฯลฯ หรือสาเหตุเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่า ไม่สามารถไว้ใจกันเรื่องเงินได้ เมื่อความไม่เชื่อใจเกิดขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นให้มีลับลมคมในระหว่างกันตลอดเวลา ปมความไม่ไว้วางใจกันนี้ นอกจากจะอึดอัดแล้วยังทำให้ไม่สามารถปรึกษากันได้ตรงไปตรงมาเมื่อเกิดปัญหาการเงินในครอบครัว

การแก้ที่ความรู้สึกให้กลับมาไว้ใจกัน 100% อาจจะเป็นไปได้ยาก แต่อาจลองหาทางออกที่ต้องปรับพฤติกรรมการเงินของทั้งคู่แบบเปิดใจ อาจช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นไปทีละเปลาะได้

 

 4. หนี้สินเยอะ หาทางออกไม่ได้ 

หลายคู่เริ่มต้นเส้นทางรักช่วยเหลือกันมาตลอด แต่เมื่อใช้ชีวิตร่วมกันนานเข้าเริ่มขยับขยาย สร้างทรัพย์สินร่วมกัน มีหนี้สิน หรืออาจเจออุปสรรคต่างๆ ที่ทำให้มีหนี้สินมากขึ้น หรือแม้แต่หนี้ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนก่อโดยไม่ปรึกษาคนรักจนบานปลาย ฯลฯ

หากปล่อยให้เรื่องหนี้สินเข้ามามีอิทธิพลต่อความรู้สึกมากจนไม่สามารถประคับประคองความเครียดได้ จะกลายเป็นปัญหาครอบครัวตามจนหลายคู่ต้องตัดสินยุติความสัมพันธ์เพื่อให้หลุดจากพันธนาการที่มองว่าต่างฝ่ายต่างเป็นภาระ หรือยอมแยกทางเพื่อให้อีกฝ่ายไม่ต้องแบกรับภาระหนี้ไปด้วยก็มี

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันปัญหา "หนี้" สามารถที่ตัวช่วยหลายทาง เช่น "คลินิกแก้หนี้" หรือการขอเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารต่างๆ ที่สามารถทำได้ก่อนที่ปัญหาหนี้สินจะบานปลาย เชื่อว่าหากใช้ความรักความเข้าใจเป็นประตูไปสู่การหาทางแก้หนี้ที่เหมาะสม ไม่โยนความผิดให้กันไปมาจะทำให้ค่อยๆ แก้หนี้ที่ยุ่งเหยิงไปได้แบบที่ความสัมพันธ์ยังแนบแน่น

  

 5. ไม่วางแผนการเงิน 

"การไม่วางแผนการเงิน" คือจุดเริ่มต้น "ชีวิตคู่" ที่อันตรายเอามากๆ แม้จะเป็นคู่ที่มีฐานะระดับไหน หากไม่วางแผนการเงินส่วนตัว ส่วนกลาง การเงินสำหรับลูกในอนาคต การเงินสำหรับการทำธุรกิจ ฯลฯ หากต้องเจออุปสรรคระหว่างทางรัก ก็อาจนำไปสู่การจัดการเงินที่สะดุด และเป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้งกันในอนาคตได้ไม่ยากเช่นกัน

ดังนั้นหากเป็นไปได้ เมื่อวางแผนจะใช้ชีวิตคู่ด้วยกันแล้ว อย่าลืมวางแผนการเงินไปด้วยทั้ง แผนระยะสั้น ในกรณีฉุกเฉินให้ครอบคลุมอย่างน้อย 6 เท่าของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในแต่ละเดือน 

แผนระยะยาว อาจมีเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป บางคู่อาจเตรียมแผนสำหรับมีลูกในอีก 5 ปีข้างหน้า ซื้อบ้านใหม่ในอีก 3 ปีข้างหน้า ฯลฯ ขึ้นอยู่กับความต้องการ

รวมถึงการวางแผนเกษียณ ซึ่งต้องแยกกับเงินสำรองฉุกเฉิน และเงินระยะยาวอื่นๆ โดยอาจเริ่มต้นจากการแบ่ง 20% ของรายได้สำหรับฝากออมทรัพย์ หรือลงทุนในกองทุน หุ้น หรือลงทุนอื่นๆ ตามความเข้าใจและความเสี่ยงที่รับได้เพื่อให้เงินส่วนนี้ค่อยๆ เติบโตไปพร้อมกับการเวลาเพื่อนำไปสู่ "การเกษียณสุข" และความรู้สึกมั่นคงทางการเงินของทั้งคู่ เพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อวันหนึ่งวันใดมีเรื่องไม่คาดคิดเกิดขึ้น ต่างฝ่ายต่างยังมีเงินประคับประคองชีวิตของตัวเองได้แบบไม่ลำบาก

 6. ชอบเปรียบเทียบกับคู่อื่นๆ 

'ทำไมเธอจ่ายน้อยกว่าตลอด'

'แฟนคนอื่นเลี้ยงตลอด ไม่เห็นต้องแชร์กันเลย'

'ไม่ได้เคยได้ของแพงๆ มาเซอร์ไพรส์เหมือนแฟนคนอื่นบ้างเลย'

ปัญหาที่คู่รักหลายคู่ หยิบมาเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ไม่ต่อความสัมพันธ์ คือพฤติกรรมการพูดบั่นทอนความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว หลายคนพูดบ่อยๆ โดยมักหยิบยกเรื่องเงินทองมาเปรียบเทียบกับแฟนคนอื่น เพราะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กหรือมองว่าพูดเล่นๆ แม้ดูเป็นเรื่องเล็กแต่นี่คือจุดเริ่มต้นของรูรั่วความสัมพันธ์ที่อาจทำให้ต่อกันไม่ติดอีกเลยก็ได้ 

  

 7. อำนาจในการบริหารเงินไม่เท่าเทียม 

"ผมอยากจะเซอร์ไพรส์ภรรยาในวันสำคัญนะครับ แต่ว่าเงินเดือนเราทุกเดือนต้องส่งให้เขาตลอด แล้วได้ใช้วันละร้อยเดียว สุดท้ายก็โดนบ่นว่าไม่เห็นมีเซอร์ไพรส์เหมือนคนอื่นมั่งเลย ทำไงดีครับ?"

หรือ

"ไม่กล้าแสดงความเห็นอะไรเลย เพราะเราเงินเดือนน้อยกว่าแฟนเกือบเท่าตัว"

ตัวอย่างกระทู้ในเว็บไซต์ชื่อดัง ถูกตั้งคำถามที่สะท้อนถึงปัญหาเรื่องเงินที่ซ่อนอยู่ในความสัมพันธ์ของพวกเขา ที่บางคนรู้สึกตัวเล็กกระจิ๋วหลิวทุกครั้งที่ต้องพูดกับคนรักเรื่องเงิน เพราะรู้สึกว่าตัวเอง "ไม่มีอำนาจในการควบคุม" เลย 

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน บางคู่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้จัดการเงินแต่เพียงผู้เดียว ถ้าเงินทั้งหมดอยู่ในมือของคนที่บริหารเก่งกว่าและเต็มใจทั้ง 2 ฝ่าย(จริงๆ) ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าอำนาจการใช้เงินตกอยู่กับฝ่ายเดียวแบบแนะนำหรือโต้แย้งไม่ได้เลย ในระยะยาวอาจทำให้อีกฝ่ายเสียความมั่นใจในตัวเอง กดดัน อึดอัด จนส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์เรื่องอื่นๆ ตามไปด้วย

ดังนั้น อย่าลืมอัพเดทเรื่องเงินอยู่เสมอเพื่อพยายามหาตรงกลางในการบริหารเงินที่พอใจทั้ง 2 ฝ่ายหรือเข้าใกล้ความพอใจให้มากที่สุดเพื่อรักษาความรู้สึกที่ดีต่อกันเอาไว้ให้ดี

จุดแตกหักทางการเงินของคู่รักที่กล่าวไปข้างต้น ไม่ใช่แค่เรื่องที่เกิดขึ้นสำหรับชายหญิงที่แต่งงานกันแล้วเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นคู่ไหนๆ ก็ต้องบาลานซ์ความสัมพันธ์และการเงินระหว่างคนทั้งคู่ให้เหมาะสมกันทั้งนั้น เพื่อทำให้ชีวิตคู่มีความสุข และมีเวลาดูแลซึ่งกันและกันมากกว่ามานั่งกังวลเรื่องเงินๆ ทองๆ 

อ้างอิง: krungsri womenwhomoney