คมนาคมเบรก 'แทรม' ภูเก็ต

คมนาคมเบรก 'แทรม' ภูเก็ต

คมนาคม สั่ง สนข. ทำแอคชั่นแพลนระบบขนส่งภูเก็ต เสนอภายใน 1 เดือน ดันลงทุนโครงข่ายทางถนน แตะเบรกพัฒนาแทรม หวังเพิ่มทางเลือกให้ประชาชน - แก้ปัญหารถติด

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามความคืบหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชนภูเก็ต ช่วงสนามบินภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ตนได้สั่งการให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กลับไปจัดทำแผนแม่บท (แอคชั่นแพลน) โครงการขนส่งทุกระบบภายในจังหวัดภูเก็ต เพื่อมาเสนอให้กระทรวงพิจารณาภายใน 1 เดือน

หลังจากนั้นขอให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เร่งดำเนินการโครงการดังกล่าว เป้าหมายเพื่อเกิดการบูรณาการโครงข่ายให้มีประสิทธิภาพ และไม่ก่อให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดภายในจังหวัดภูเก็ต เนื่องจากปัจจุบันกระทรวงคมนาคม มีแผนที่จะพัฒนาโครงข่ายคมนาคมในจังหวัดภูเก็ตหลายโครงการ โดยเฉพาะโครงข่ายทางถนน คือ โครงการทางพิเศษ(ทางด่วน) สายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ของ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ทางหลวงแนวใหม่ สายเมืองใหม่-เกาะแก้ว และเกาะแก้ว-กะทู้ ของกรมทางหลวง (ทล.)

161295455999

“โครงการก่อสร้างถนนต้องมาก่อน ต้องเร่งรัดให้มีการก่อสร้างโครงการถนนของ กทพ.และ ทล.ก่อน เพราะแทรมจะต้องใช้พื้นที่ก่อสร้างบนถนน และหากไม่พัฒนาถนนให้เสร็จก่อน แล้วมาสร้างแทรม จะทำให้เกิดปัญหารถติดหนักในจังหวัดภูเก็ต ไม่มีทางเลี่ยงสำหรับการเดินทางให้กับประชาชน”

อย่างไรก็ดี ตนได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมในจังหวัดภูเก็ต ทั้ง ทล. รฟม. และ กทพ. จัดทำแอคชั่นแพลน และวางกรอบดำเนินงานก่อสร้างร่วมกันให้เหมาะสม และนำกลับมาเสนอกระทรวงฯ ตามนโยบายคือไม่เกิน 1 เดือนหลังจากนี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เผยว่า จากนโยบายที่กระทรวงฯ ต้องการผลักดันโครงการก่อสร้างถนนเป็นอันดับแรก อาจทำให้โครงการแทรมของ รฟม. ต้องล่าช้าออกไปจากแผนเดิม เนื่องจากต้องรอให้โครงการก่อสร้างโครงข่ายทางถนนของ กทพ.และ ทล.ดำเนินการก่อน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีโครงการใดเริ่มเปิดประมูล

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้ รฟม. ไปพิจารณาปรับรูปแบบระบบการเดินรถของแทรมภูเก็ต เพื่อลดต้นทุนค่าก่อสร้าง เนื่องจากเล็งเห็นว่าเมืองใหญ่ๆ ในต่างประเทศ ได้ปรับมาใช้เป็นรถเมล์ไฟฟ้า (EV) ล้อยาง เพราะช่วยประหยัดค่าก่อสร้างได้กว่า 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากระบบขนส่งดังกล่าวไม่ต้องทำระบบราง และระบบอาณัติสัญญาณ อีกทั้งยังเกิดประโยชน์กับประชาชน เพราะค่าโดยสารจะถูกลง

ทั้งนี้ ระบบขนส่งการปรับรูปแบบระบบการเดินรถดังกล่าว เบื้องต้นน่าจะเป็นรูปแบบรถโดยสารด่วนพิเศษ หรือบีอาร์ที แต่เป็นระบบแบบไฟฟ้า (อีวี) วิ่งตามแนวเกาะกลางถนน ส่วนเรื่องเส้นทางเดินรถ และจำนวนสถานี ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง โดยมีระยะทางประมาณ 42 กม. และมี 21 สถานี อีกทั้งในอนาคตยังมีแผนจะให้โครงการนี้เชื่อมกับรถไฟที่จะไปพังงาที่บริเวณท่าอากาศยานภูเก็ต