โควิดรอบ 2 -น้ำมัน-ไฟฟ้า กดเงินเฟ้อม.ค.ติดลบ0.34 %

โควิดรอบ 2 -น้ำมัน-ไฟฟ้า กดเงินเฟ้อม.ค.ติดลบ0.34 %

พาณิชย์เผยเงินเฟ้อเดือนม.ค.ติดลบ0.34 % เป็นการติดลบต่อเนื่องจากเดือนธ.ค. ผลจากโควิดรอบสอง ราคาพลังงานที่ลดลง และค่าไฟฟ้า คาดเงินเฟ้อจะพลิกกลับเป็นบวกได้ในไตรมาส 2

นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟิลด์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า เดือนม.ค.สนค.ได้มีการปรับฐานของดัชนีราคาผู้บริโภค หรือเงินเฟ้อทั่วไป และดัชนีราคาผู้ผลิต  ซึ่งปกติแล้วจะมีการปรับทุก 4-5 ปี โดยดัชนีราคาผู้บริโภค ปรับเป็นปีฐาน 2562 ซึ่งเป็นปีที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนทั่วประเทศ และยังไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และดัชนีราคาผู้ผลิต ปรับเป็นปีฐาน 2558 ตามตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output)  

ทั้งนี้เงินเฟ้อทั่วไป เดือนม.ค.2564  เป็นตัวเลขที่ใช้ปีฐานใหม่ปี 2562 และเพิ่มรายการสินค้าในตะกร้าเป็น 430 รายการ จากเดิม 422 รายการ  โดยเงินเฟ้อเดือนม.ค.64 ลดลง 0.34 %   เป็นการหดตัวต่อเนื่องจากเดือนธ.ค.63 ที่ติดลบอยู่ 0.27 %  มีสาแหตุจากราคาพลังงานที่ยังต่ำกว่าปีก่อน  การปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ลงอีกเป็น -15.32 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องจนถึงเดือนเม.ย.และราคาข้าวสารเจ้าและข้าวสารเหนียวที่ยังลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2563 ตามปริมาณผลผลิตที่กลับเข้าสู่ปกติและไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเหมือนปีก่อน ประกอบกับความต้องการของตลาดต่างประเทศยังทรงตัว  

ขณะที่ราคาสินค้าในบางกลุ่ม โดยเฉพาะ ผักสด และเครื่องประกอบอาหาร ยังปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเกิดอุทกภัยในภาคใต้ และน้ำมันพืชปรับตัวตามราคาผลปาล์มสดที่สูงขึ้นตามความต้องการใช้ในประเทศ ทั้งนี้ เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวต่อเนื่อง 0.21 %

161250900275                

“ปัจจัยสำคัญอีกตัวหนึ่งคือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องของโลก และการระบาดระลอกใหม่ในประเทศในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาชะลอตัวอีกครั้ง ส่งผลต่อการใช้จ่ายและการผลิตในเดือนนี้ “

สำหรับรายละเอียดเงินเฟ้อม.ค.2564 ที่ลดลง 0.34% มาจากการลดลงของสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 0.83% โดยสินค้าที่ลดลง ได้แก่ การขนส่งและการสื่อสาร ลด 1.86% การบันเทิง การอ่าน การศึกษา ลด 0.4% เคหสถาน ลด 0.31% (ก๊าซหุงต้ม ไฟฟ้า) เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลด 0.18% แต่การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล เพิ่ม 0.23% ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอกอฮอล์ เพิ่ม 0.05% ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.58% จากการสูงขึ้นของกลุ่มเนื้อสัตว์ หมู เป็ด ไก่และสัตว์น้ำ 1.34% ผักสด เพิ่ม 11.19% เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 3.11% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 0.37% นอกบ้าน เพิ่ม 0.74% ส่วนข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลด 5.02% ผลไม้ ลด 1.46% ไข่และผลิตภัณฑ์นม ลด 0.07%

ส่วนดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนม.ค. 2564 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้น3.7%   และสูงสุดในรอบ 2 ปี 6 เดือน จากการสูงขึ้นของสินค้าในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ที่สูงขึ้น 19.1 %ตามความต้องการและราคาในตลาดโลกเป็นสำคัญ ประกอบกับมีการปิดเตาถลุงเหล็กหลายแห่งทั้งในยุโรปและญี่ปุ่นชั่วคราว สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายเหล็ก

               

นางพิมพ์ชนก กล่าวว่า  แนวโน้มเงินเฟ้อ เดือนก.พ.2564 ยังคงได้รับอิทธิพลจากฐานราคาพลังงานในปีก่อนที่ยังสูงกว่าปีนี้ ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพเพิ่มเติม โดยการลดค่าใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาเป็นเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนก.พ.เป็นต้นไป ขณะที่สินค้าอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้อย่างจำกัดทำให้อัตราเงินเฟ้อเดือนก.พ. ยังมีแนวโน้มหดตัว

อย่างไรก็ตาม คาดว่าเงินเฟ้อในไตรมาสแรกของปี 2564 จะยังขยายตัวติดลบ และจะเริ่มเป็นบวกได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 3 และ 4 ทำให้ทั้งปีเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมายเดิมที่ประเมินไว้ คือ 0.7-1.7% มีค่ากลางอยู่ที่ 1.2% โดยมีสมมตฐานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ที่ 3.5-4.5% น้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 40-50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30-32 บาทต่อดอลลาร์   กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในปี 2564 จะเคลื่อนไหวระหว่าง 0.7 – 1.7%  ค่ากลางอยู่ที่ 1.2% ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อ

สำหรับมาตรการของรัฐเพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เช่น คนละครึ่ง เราชนะ ถือว่ามาถูกทางเพราะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้น ทำให้กำลังซื้อกลุ่มนี้หายไป และหวังว่าการเริ่มฉีดวัคซีนจะทำให้การท่องเที่ยวฟื้นตัว