สั่งเข้มป้องกันASFพื้นที่เสี่ยง ตั้งเป้าปีนี้ส่งออกเพิ่ม

สั่งเข้มป้องกันASFพื้นที่เสี่ยง ตั้งเป้าปีนี้ส่งออกเพิ่ม

เกษตร รุกป้องกันโรค ASF ระบาดในเขตชายแดนความเสี่ยงสูง หลังครม.ไฟเขียว งบกลาง 279 ล้านบาท พร้อมหนุนผลิตสุกรและอุตสาหกรรมแปรรูป ยกระดับมาตรฐานฟาร์ม สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีกว่า 1.5 แสนล้านบาท

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในการป้องกันการแพร่ระบาดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ส่งผลให้ประเทศไทยคงสถานะปลอดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเพียงประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคจะกระจายไปกว่า 34 ประเทศ ทำให้การส่งออกสุกรในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นมากกว่า 300% คิดเป็นมูลค่ากว่า 22,000 ล้านบาท

ด้วยเหตุนี้นายเฉลิมชัย      ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงสั่งการให้กรมปศุสัตว์ทำงานเชิงรุกป้องกันการแพร่ระบาดของโรคASF ในพื้นที่ความเสี่ยงสูงโดยเฉพาะจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมทั้งผลักดันให้สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับ อุตสาหกรรมการผลิตสุกรและอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่อง ที่มีมูลค่าไม่กว่า 1.5 แสนล้านบาท  รวมทั้งเป็นการรักษาความมั่นคงด้านอาหารของประเทศโดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด19  นี้ด้วย

ทั้งนี้ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้เห็นชอบงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรค ASF สำหรับค่าชดใช้สุกรที่ถูกทำลาย ตามมาตรา 13 (4) แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 วงเงินงบประมาณ 279ล้านบาท ให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันโรค ดังกล่าว 

 ซึ่งกรมปศุสัตว์สามารถสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาโดยได้สำเร็จสามารถลดจำนวนประชากรของสุกรที่มีความเสี่ยงสูง ในพื้นที่จังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน อัตรา 15% ใน 27 จังหวัด 108 อำเภอ เกษตรกรประมาณ 6,485 ราย จำนวนสุกรประมาณ 77,578 ตัว

นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการยกระดับมาตรการจัดการฟาร์มเลี้ยงสุกรให้ได้มาตรฐาน เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันโรคระบาดสัตว์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะในเกษตรกรรายย่อยที่มีการเลี้ยงแบบเปิดซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ และอาจเป็นพาหะในการแพร่กระจายเชื้อโรคในวงกว้างอีกด้วย

สำหรับการดำเนินการลดจำนวนประชากรของสุกรที่มีความเสี่ยงสูงในพื้นที่อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มาตรา 13 (4) และกฎกระทรวงกำหนดค่าชดใช้ราคาสัตว์ที่ถูกทำลายอันเนื่องจากเป็นโรคระบาด หรือมีเหตุอันสงสัยว่าเป็นโรคระบาด หรือสัตว์หรือซากสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคระบาด พ.ศ. 2560 กำหนดให้ชดใช้ราคาแก่เจ้าของสัตว์หรือซากสัตว์สามในสี่ของราคาสัตว์ หรือซากสัตว์ ซึ่งขายได้ในตลาดท้องที่ก่อนเกิดโรคระบาด โดยการชดใช้ราคาสัตว์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการประเมินราคาสัตว์ ประกอบด้วย สัตวแพทย์ 1 คน พนักงานฝ่ายปกครองท้องที่ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น อย่างน้อย 2 คน เป็นกรรมการ ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการชดเชยตามระเบียบฯ โดยเร็ว เพื่อบรรเทาผลกระทบของเกษตรกรจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรค ASF  ต่อไป

สำหรับเหตุผลและความจำเป็น ที่ต้องสกัดการระบาดของโรค  ASF  เนื่องจาก ไทยมีผู้เลี้ยงหมูจำนวน 187,993 รายเป็นเกษตรกรรายย่อย 184,091 รายเลี้ยงหมูขุนจำนวน 2,246,332 ตัว หมูพันธุ์ 390,993 ตัว ลูกหมู 689,562 ตัว เป็นเกษตรกรรายใหญ่ 3,181 ราย เลี้ยงหมูขุน 5.74 ล้านตัวหมูพันธุ์ 683,998 ตัวและลูกหมู 1.53 ล้านตัว

หากมีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู ในเมืองไทย จะมีการสูญเสียทางเศรษฐกิจ ดังนี้ คือ กรณีเกิดโรคระบาด 30% จะทำให้สูญเสียประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท หากเกิดการระบาด 50% ของหมูทั้งระบบ จะสูญเสียประมาณ 2.77 100% ของหมูทั้งระบบ จะสูญเสียประมาณ 5.55 หมื่นล้านบาท และเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมดังนี้ ไทยจะถูกระงับการส่งออกเนื้อหมูชำแหละ เนื้อหมูแปรรูปปีละ 6,000 ล้านบาท สูญเสียโอกาสการส่งออกหมูมีชีวิดปีละ 1.6 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ยังกระทบไปถึงธุรกิจอาหารสัตว์หากโรคระบาดประมาณ 50% จะเสียหายประมาณ 6.66 หมื่นล้านบาท ธุรกิจเวชภัณฑ์หายไปประมาณ 3.5 พันล้านบาท แต่ที่ผ่านมา ไทยสามารถควบคุมการระบาดของเอเอสเอฟ ได้ ส่งผลให้ ไทยสามารถส่งออกเนื้อหมูไปยังประเทศเพื่อนบ้านประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 300%

อย่างไรก็ตามหาก ไทยไม่สามารถควบคุมโรคระบาดในหมูได้ จะทำให้ภายในประเทศเกิดความตระหนกไม่กล้ากินหมู ราคาจะลดลง หากราคาลดลง 10 บาทต่อกิโลกรัม (ก.ก.) เกษตรกรจะสูญเสียรายได้ 2.2 หมื่นล้านบาท/ปี หากราคาลดลง 20 บาท/ ก.ก. เกษตรกรจะสูญเสียรายได้ 4.4 หมื่นล้านบาท/ปี และหากราคาลดลง 30 บาท/ก.ก. เกษตรกรจะสูญเสียรายได้ 6.6 หมื่นล้านบาท/ปี