ซีไอเอ็มบี แนะกู้ทะลุเพดานหนี้สาธารณะเยียวยากลุ่มหาเช้ากินค่ำ

ซีไอเอ็มบี แนะรัฐบาลใช้มาตรการเยียวยาโควิดกลุ่มหาเช้ากินค่ำ ทั้งการจ่ายเงินทางตรงและจ้างงาน เพราะเป็นกลุ่มได้รับผลกระทบหนักสุดของการระบาดรอบใหม่ ชี้ พักเงินต้นและดอกเบี้ยกระทบวินัยการคลังระยะยาว

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า มาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ขณะนี้ รัฐบาลควรต้องมุ่งไปยังกลุ่มหาเช้ากินค่ำ ไม่มีรายได้ประจำ ซึ่งต้องมีมาตรการเร่งด่วนเยียวยา เพื่อประคองเศรษฐกิจ ซึ่งอาจเป็นรูปแบบโอนเงินให้ หรือใช้การจ้างงานในชุมชน 

ส่วนข้อเสนอการพักเงินต้นและดอกเบี้ยนั้น มองว่าจะส่งผลเสียในระยะยาวของวินัยการคลัง ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องการคือแหล่งสินเชื่อมากกว่า เพราะปัญหากลุ่มนี้คือธนาคารไม่กล้าปล่อยกู้ จะทำให้หาสินเชื่อได้ยาก

“พักเงินต้นและดอก เป็นเรื่องที่ทุกคนอยากทำ แต่ต้องคิดถึงศักยภาพเศรษฐกิจระยะยาวด้วย คือรอดก็จริง แต่เศรษฐกิจจะไม่โต จะเสียวินัยระยะยาวด้วย เราเองก็อยากรอดพ้นระยะสั้น แต่ก็คิดผลระยะยาวด้วย”

161000831626

ส่วนเม็ดเงินที่รัฐบาลจะนำมาเยียวยา มองว่ารัฐบาลไม่ควรกลัวหนี้สาธารณะจะทะลุ 60% ของจีดีพี เพราะถ้าไม่ใช้นโยบายคลังประคอง คนล้มหายตายจาก เศรษฐกิจไทยก็จะแย่ระยะยาว ซึ่งรัฐบาลก็ต้องทำให้เร็วที่สุดในวิธีการที่จะเยียวยาทั้งการจ่ายเงิน หรือมาตรการใดๆ ผู้ได้รับผลกระทบมีค่อนข้างมาก ต่างจากรอบเดิม คือตลาดหุ้น การเงิน รอบนี้คือเศรษฐกิจฐานรากได้รับผลกระทบ อาจไม่มีสายป่านเงินทุนเหลือพอ จึงต้องทำให้เร็วที่สุด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการระบาดโควิด-19 รอบใหม่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมาก แต่ถ้าเทียบกับการระบาดรอบแรกเมื่อปีที่ผ่านมาในแง่ของเศรษฐกิจมีผลกระทบรุนแรงน้อยกว่า แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรอบใหม่จะพุ่งจนน่าตกใจเมื่อเทียบกับรอบแรก เพราะรัฐบาลไม่ได้มีการล็อกดาวน์ทั้งประเทศเหมือนกับรอบแรก

“จำนวนผู้ติดเชื้อรอบนี้น่าตกใจหากเปรียบเทียบกับรอบแรก แต่ในมุมเศรษฐกิจมองว่าวันนี้สถานการณ์ไตรมาส 1 เทียบกับไตรมาส 2 ปีที่แล้วรุนแรงน้อยกว่า เพราะไม่ได้ล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ผู้ได้รับผลกระทบมี แต่หาหนทางได้อยู่ ไม่เหมือนรอบแรกที่ภาคต่างประเทศล็อกดาวน์หมด รอบนี้การส่งออกยังเห็นสัญญาณการฟื้นตัวได้อยู่ เพราะสหรัฐอัดฉีดเงิน ทำให้ส่งออกดีกว่าปีที่แล้ว”