โควิด-19ฉุดยอดการใช้น้ำมัน11เดือนหดตัว

โควิด-19ฉุดยอดการใช้น้ำมัน11เดือนหดตัว

กรมธุรกิจพลังงาน เผย ยอดการใช้น้ำมัน 11 เดือนแรกปี2563(ม.ค.-พ.ย.) หดตัว 12.4% รับผลกระทบโควิด-19 ขณะที่น้ำมันเครื่องบิน ยังวูบหนัก 61.1%

แหล่งข่าวกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เฉลี่ยต่อวันรอบ 11 เดือนแรกของปี 2563 (มกราคม-พฤศจิกายน) เฉลี่ยอยู่ที่ 137.6 ล้านลิตร ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 12.4% โดยกลุ่มเบนซิน ลดลง 1% กลุ่มดีเซล ลดลง 3% น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) ลดลง 61.1%น้ำมันเตา ลดลง 13.3% ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ลดลง 14% และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ลดลง 28.6% โดยสาเหตุสำคัญมาจากผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่ นโยบายภาครัฐ เช่น คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ฯลฯ ส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในเดือนพฤศจิกายน 2563 เฉลี่ยต่อวัน อยู่ที่ 143.5 ล้านลิตร ลดลง 10.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 33.9 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนคิดเป็น 4.4% โดยการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 เฉลี่ยอยู่ที่ 15.4 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 22% และแก๊สโซฮอล์ อี20 เฉลี่ยอยู่ที่ 7 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 6% ขณะที่แก๊สโซฮอล์ อี 85 ลดลงมากที่สุด เฉลี่ยอยู่ที่ 0.87 ล้านลิตร/วัน ลดลง 31.8% แก๊สโซฮอล์ 91 เฉลี่ยอยู่ที่ 8.2 ล้านลิตร/วัน ลดลง 12.7% เป็นต้น

ส่วนกลุ่มดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ 69.4 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนคิดเป็น 0.2% โดยการใช้น้ำมันดีเซล(บี10) เฉลี่ยอยู่ที่ 23.54 ล้านลิตร/วัน ขณะที่การใช้ดีเซล บี7 เฉลี่ยอยู่ที่ 40.5 ล้านลิตร/วัน ลดลง 27.4% สะท้อนนโยบายรัฐที่ส่งเสริมให้น้ำมันดีเซล(บี10) เป็นน้ำมันดีเซลเกรดพื้นฐานของประเทศ ส่วนดีเซล(บี20) เฉลี่ยอยู่ที่ 1.2 ล้านลิตร/วัน ลดลง 84% เป็นต้น

การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 5.6 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนคิดเป็น 72.4% เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ภาครัฐยังคงมีมาตรการควบคุมและอนุญาตให้บุคคลเฉพาะกลุ่มเดินทางเข้าออกประเทศ จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไม่มากนัก ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ยังอยู่ในระดับต่ำ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่าความต้องการใช้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 16.9% เนื่องด้วยการท่องเที่ยวภายในประเทศฟื้นตัวจากช่วงวันหยุดยาวที่รัฐบาลประกาศเพิ่มเติม และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว

การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 15.6 ล้านกิโลกรัม (กก.)/วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น10.7 เช่นเดียวกับการใช้ NGV เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 4 ล้านกก./วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น21.9% สอดคล้องกับจำนวนรถยนต์ที่ใช้ NGV เป็นเชื้อเพลิงลดลง

ด้านส่วนแบ่งการตลาดของผู้ค้าน้ำมัน(มาร์เก็ตแชร์) รอบ 11 เดือน(ม.ค.-พ.ย.ปี2563) พบว่า 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับที่ 1 คือ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด(มหาชน) หรือ OR มีปริมาณอยู่ที่ 16,120 ล้านลิตร มีสัดส่วน 37.23%,อันดับที่ 2 คือ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มีปริมาณอยู่ที่ 4,648 ล้านลิตร มีสัดส่วน 10.74%,อันดับที่ 3 คือ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีปริมาณอยู่ที่ 4,372 ล้านลิตร มีสัดส่วน 10.10%,อันดับที่ 4 คือ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จํากัด มีปริมาณอยู่ที่ 3,688 ล้านลิตร มีสัดส่วน 8.52% และอันดับที่ 5 คือ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) มีปริมาณอยู่ที่ 2,639 ล้านลิตร มีสัดส่วน 6.10% ที่เหลือเป็นผู้ค้ารายย่อย มีปริมาณรวมอยู่ที่ 11,827 ล้านลิตร มีสัดส่วน 27.32%