กทม. พบผู้ป่วยโควิดเพิ่ม 19 ราย ลุ้นยกระดับมาตรการควบคุม

กทม. พบผู้ป่วยโควิดเพิ่ม 19 ราย ลุ้นยกระดับมาตรการควบคุม

ยอดผู้ติดเชื้อ 'โควิด-19' ในกรุงเทพมหานครพุ่งไม่หยุด วันนี้พบติดเชื้อใหม่อีก 19 ราย รวม 94 รอลุ้นยกระดับมาตรการควบคุมเพิ่ม

เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2563 ที่ศาลาว่าการกทม.(เสาชิงช้า) ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง แถลงภายหลังการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) ว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานครเพิ่ม 19 ราย รวมแล้ว 94 ราย โดย 19 รายวันนี้ เป็นคนกรุงเทพฯ 12 ราย ส่วนที่เหลือเข้ามารักษาตัวในพื้นที่ และใน 19 รายนี้มีจำนวน 10 ราย ที่เกี่ยวข้องกับจ.สมุทรสาคร และอยู่ระหว่างสอบสวนโรค 9 ราย ซึ่งในวันนี้จะมีการประชุม คณะกรามการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ในเวลา 16.00 น. เพื่อพิจารณาว่า จะมีการยกระดับมาตรการหรือไม่อย่างไร

เนื่องจากมีหลายเหตุการณ์ ที่เป็น spreader ในหลายพื้นที่ในต่างจังหวัด ซึ่งกรุงเทพมหานครก็อาจจะต้องมีการยกระดับมาตรการควบคุมในสถานที่ต่างๆ เนื่องจากลักษณะการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่กรุงเทพฯ ขณะนี้เปลี่ยนไป บ่งบอกว่ามีการส่งต่อโรคในทอดที่ 2 ซึ่งเรามีการควบคุมสถานที่ในตอนนี้แล้ว 3 สถานที่ได้แก่ ตลาด สถานบริการ สนามมวย และใน 3 สถานที่ที่คนต่างชาติมักจะไปรวมตัว ได้แก่ สวนสาธารณะ ตลาด และศาสนสถาน 

สำหรับที่ประชุมวันนี้ ได้แจ้งให้ทุกหน่วยงานใช้แนวทางประชาสัมพันธ์ D M H T เพื่อป้องกันโควิด-19 โดย D หมายถึง Social Distancing เว้นระยะห่าง M หมายถึง Mask wearing สวมหน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน อยู่ในพื้นที่สาธารณะ H หมายถึง Hand washing ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ และ T หมายถึง Testing การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย การตรวจหาเชื้อเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็ว ลดการแพร่กระจายของเชื้อ โดยต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจะช่วยป้องกันโรคได้ รวมทั้งต้องใช้แพลตฟอร์มไทยชนะทุกครั้ง นอกจากนี้ขอให้ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงต้องกักตัวเอง 14 วัน และให้ข้อมูลที่เป็นจริงหากมีการสอบสวนโรค 

ในส่วนของเจ้าหน้าที่ได้กำชับให้เพิ่มความเข้มข้นการสอดส่องแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ เร่งสำรวจจุดที่พักและสถานที่ทำงานของแรงงานต่างด้าว เพื่อให้มีฐานข้อมูลเส้นทางการเดินทางของแรงงาน สำหรับสถานประกอบการหรือสถานบริการที่พบผู้ป่วยยืนยันและมีคำสั่งให้ปิดสถานที่ หากพบว่ามีการฝ่าฝืน ลักลอบเปิดกรุงเทพมหานครจะดำเนินการตามกฎหมายทันที ในส่วนของการดูแลผู้ป่วย โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครและเครือข่ายสถานพยาบาลได้เตรียมความพร้อมเตียงไว้สำหรับผู้ป่วย จำนวน 2,700 เตียง มีผู้ป่วยเข้าพักกว่า 200 เตียง สามารถรองรับผู้ป่วยได้อีก 2,500 เตียง
แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อสนับสนุนการทำงานของสำนักอนามัย การเก็บข้อมูลให้เป็นระบบ มีข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนมากขึ้น โดยมีนายชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานครซึ่งกำกับดูแลสำนักอนามัยเป็นประธาน และนางวิภารัตน์ ไชยานุกิจ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นรองประธาน มีสำนักอนามัย สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักการแพทย์ สำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร