เช็คความพร้อม "รถยนต์" ก่อนเดินทางปีใหม่

เช็คความพร้อม "รถยนต์" ก่อนเดินทางปีใหม่

คณบดีวิศวะฯ ธรรมศาสตร์ เปิดคัมภีร์CAR CHECK-UPS for Safety เช็คความพร้อมรถยนต์ก่อนเดินทางปีใหม่

เข้าสู่ห้วงเวลาของการส่งท้ายปีที่เวียนกลับมาอีกครั้ง แม้ตลอดปี 2563 นี้เราจะเผชิญหน้ากับสิ่งต่างๆ ดีหรือร้ายมากน้อยเพียงใด แน่นอนว่าสิ่งที่อยู่ในใจทุกคนขณะนี้คือการเฝ้ารอเตรียมตัวที่จะได้ใช้ช่วงเวลาพักผ่อนหย่อนกาย คลายความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ทั้งได้อยู่พร้อมหน้าคนที่เรารักอีกครั้ง

เมื่อเป็นช่วงเทศกาลแห่งการเดินทางแล้ว สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือความอันตรายบนท้องถนนที่เข้ามาเป็นของแสลงกับการแสวงหาความสุขในช่วงวันหยุดยาว ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เราสามารถป้องกันได้ด้วยความตระหนัก และการเตรียมตัวที่ดีก่อนที่จะก้าวสู่การพักผ่อนได้อย่างสบายใจ

การเตรียมความพร้อมในการขับรถทางไกลสำหรับช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้ คำแนะนำจาก รศ.ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้ให้มุมมองและทรรศนะเอาไว้ในหลายประการ เริ่มตั้งแต่การเตรียมความพร้อมตรวจเช็คสภาพรถยนต์ก่อนการเดินทาง

รศ.ดร.ธีร ให้คำแนะนำว่า ในกรณีที่เราไม่ได้มีโอกาสนำรถเข้าศูนย์บริการ ก็สามารถทำการตรวจสอบสภาพรถยนต์ด้วยตัวเองได้ เริ่มด้วยสิ่งแรกที่สำคัญที่สุดคือ “ยางรถยนต์” เพราะเมื่อรถวิ่งอยู่บนถนนแล้วนั้น ส่วนเดียวที่จะสัมผัสกับพื้นถนนก็คือยางเหล่านี้ ซึ่งนั่นตอกย้ำความสำคัญได้เป็นอย่างดี

ฉะนั้นคำแนะนำแรก คือการเพิ่มลมยางเข้าไปมากกว่าปกติราว 3-5 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว (psi) เพราะในการเดินทางระยะไกลนั้นมีความเสี่ยงที่ลมของล้อยางจะค่อยๆ หายไปได้ ซึ่งหากเมื่อลมยางอ่อนแล้วหน้าสัมผัสยางกับพื้นถนนก็จะมากขึ้น จนเกิดความร้อนและเสี่ยงยางระเบิดได้ ขณะเดียวกันแรงต้านที่มากขึ้น ก็จะทำให้รถยนต์กินน้ำมันมากขึ้นด้วย

ขณะที่สิ่งสำคัญลำดับถัดมาและอยู่ใกล้กับล้อยางนั่นก็คือ “เบรค” สามารถสำรวจด้วยตนเองได้ โดยเมื่อเวลาขับรถ หากเมื่อไรที่ทำการเบรคแล้วได้ยินเสียงโลหะสัมผัสกับจานเบรคที่ดัง ถือเป็นสัญญาณว่าผ้าเบรกกำลังจะหมด หรือช่วงหลังฤดูฝนคุณภาพของผ้าเบรคก็จะต่ำลงตามไปด้วย ฉะนั้นทางที่ดีในการดูแลรักษา คือการนำรถเข้าศูนย์บริการเพื่อตรวจเช็คความหนาของผ้าเบรก

จากนั้นจึงเป็นการดูเรื่องของ “ยางปัดน้ำฝน” ซึ่งอาจารย์รายนี้เปรียบความสำคัญเสมือนกับการใส่แว่นตา และหากไม่ได้รับการทำความสะอาดก็จะมองเห็นไม่ชัด จนเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางได้ ฉะนั้นจึงควรตรวจสอบด้วยการทดลองกดฉีดน้ำและปัดน้ำฝนดูว่าใบปัดสามารถกวาดน้ำได้ดีหรือไม่ หากปัดแล้วละอองน้ำยังเหลืออยู่นั่นอาจแสดงถึงปัญหาและควรเริ่มเปลี่ยน

นอกจากนี้ยังเป็นการดูแล “ไฟส่องสว่าง” ซึ่งรวมไปถึงไฟให้สัญญาณต่างๆ ของรถยนต์ ที่ผู้ขับขี่ควรจะต้องตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นไฟหน้า ไฟเบรค หรือไฟถอยหลัง ว่าทั้งหมดยังทำงานได้ดีหรือไม่ รวมถึงในบางครั้งหากมีละอองน้ำเข้าไปภายใน หรือไฟส่องสว่างมีสีหมองลง เหล่านี้ก็ถือว่าจะต้องมีการเปลี่ยนหรือทำความสะอาดด้วย

160896949323

ส่วนสุดท้ายที่คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แนะนำให้มีการเตรียม นั่นคือเรื่องของ “เอกสารสำคัญ” ไม่ว่าจะเป็นใบขับขี่ ทะเบียนรถ หรือสำคัญที่สุดคือข้อมูลประกันภัย เบอร์โทรศัพท์ที่จะติดต่อในกรณีฉุกเฉินต่างๆ เพราะสิ่งเหล่านี้จะถือว่าล้วนมีความสำคัญในการเดินทางระยะไกล

นอกจากความพร้อมในส่วนของรถยนต์แล้ว การเตรียมตัวของ “ผู้ขับขี่” ก็เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญเช่นเดียวกัน ซึ่งในส่วนนี้ รศ.ดร.ธีร อธิบายว่าเมื่อผู้ขับขี่แต่ละคนมีอายุไม่เท่ากัน ฉะนั้นอาจจะต้องประเมินจากศักยภาพของตนเอง ว่าโดยปกติแล้วเคยขับรถระยะทางไกลสุดเท่าไร หรือหากเมื่ออายุมากขึ้นแล้วก็อาจต้องประเมินตนเองต่ำลง และพิจารณาการหยุดพักที่มากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตามข้อแนะนำก่อนวันเดินทางนั้น คือผู้ขับขี่ควรจะต้องนอนให้ได้อย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงก่อนออกเดินทาง เพราะเมื่อพักผ่อนน้อยแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือการตัดสินใจระหว่างขับขี่ที่ย่อมทำได้ช้าลง ขณะเดียวกันเมื่อเกิดอาการง่วงขึ้นมาแล้ว ผู้ขับขี่ก็ควรจะต้องจอดแวะงีบหลับในจุดที่เหมาะสม และหลีกเลี่ยงบริเวณไหล่ทางหรือจุดที่จะเป็นอันตราย

ในส่วนของเครื่องดื่ม ซึ่งผู้ขับขี่หลายคนมักจะเลือกดื่มกาแฟ โดยเชื่อว่าจะช่วยให้รู้สึกสดชื่นขึ้น หรือหายจากอาการอ่อนเพลียได้ แต่หากมีการดื่มมากการสูบฉีดเลือดก็จะสูงตามไปด้วย ดังนั้นอาจารย์รายนี้จึงแนะนำให้ดื่มประเภทน้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มที่มีวิตามินซี เพราะจะช่วยให้สดชื่นขึ้นได้ แทนการดื่มเครื่องดื่มชูกำลังซึ่งไม่ค่อยจะมีประโยชน์

ขณะเดียวกันในส่วนของ “ท่านั่ง” ที่ถูกต้องสำหรับผู้ขับขี่ คือจะต้องนั่งให้ก้นเต็มเบาะและหลังชิด โดยปรับระยะเบาะกับพวงมาลัยให้พอดี มีลักษณะที่แขนหย่อนลงเล็กน้อย ไม่ตึงเกินไป ซึ่งจะเป็นระยะที่ดีที่สุด เนื่องจากควรเป็นท่าที่นั่งสบาย ในทางกลับกันหลายคนมักนั่งติดพวงมาลัย และโยกตัวออกมาข้างหน้า ซึ่งเป็นท่าที่ไม่ถูกต้องเพราะจะทำให้เรารู้สึกเพลียได้ง่าย

ท่าแบบนี้คือคนที่ขับเส้นทางตรงระยะไกล มี cruise control ให้มันขับไปด้วยความเร็วคงที่ แต่ปกติแล้วในประเทศไทยมักเกิดอุบัติเหตุมากที่สุดบนทางตรง เพราะรถจะขับด้วยความเร็วสูง ซึ่งการนั่งแบบนี้หากมีอะไรวิ่งตัดหน้ารถ ก็จะเบรคไม่ทัน ต่างจากในต่างประเทศที่ไม่มีปัญหานี้” 

นอกจากนี้ ยังมีหลักการในส่วนของ “ผู้โดยสาร” ที่จะต้องคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลา หากมีเด็กนั่งด้วยก็ไม่ควรนั่งอยู่ด้านหน้า หรือถ้าหากในเด็กอายุประมาณ 2 ขวบ ก็จะต้องมี car seat สำหรับเด็กให้นั่งด้วย นอกจากนี้หากเป็นรถเก๋งก็ควรนั่งมากที่สุดไม่เกิน 5-6 คน โดยประเมินร่วมกับขนาดของบุคคลที่นั่งด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากโดยปกติแล้วในส่วนของรถเก๋งหรือรถแวน อาจไม่ได้ออกแบบไว้ให้บรรทุกน้ำหนักสัมภาระมากๆ จึงอาจต้องระมัดระวังในส่วนนี้ ขณะที่รถกระบะอาจไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เนื่องจากถูกออกแบบมาเพื่อรับน้ำหนักอยู่แล้ว จึงสามารถนั่งได้มาก เพียงแต่จะนั่งแออัดและไม่สบายเมื่อต้องเดินทางระยะไกล

“โดยปกติรถเก๋งเขาจะใช้คอยล์สปริง เพราะปกติจะใช้รับน้ำหนักของคนที่ไม่มากเท่าไร ไม่ได้ออกแบบให้มาบรรทุกน้ำหนักเยอะ ต่างจากรถที่ใช้บรรทุกของเยอะๆ เช่น รถกระบะ ซึ่งด้านหลังจะเป็นแหนบ คือลักษณะแบบชั้นๆ ที่รองรับน้ำหนักได้มาก ฉะนั้นถ้าต้องขนสัมภาระเยอะก็ต้องเป็นรถกระบะ รถบรรทุกที่เขาออกแบบมาให้โดยเฉพาะดีกว่า อย่างไรก็ตามยังคงคิดว่าเรื่องของการขับขี่ ศักยภาพ ความมีสติของผู้ขับขี่ ยังคงเป็นส่วนที่สำคัญมากกว่า” รศ.ดร.ธีร เน้นย้ำ

ฉะนั้น สิ่งที่อาจารย์รายนี้เน้นย้ำมากที่สุด จึงเป็นเรื่องของ “สติ” ซึ่งเมื่อเวลาเราขับรถแล้ว เราอาจมีความมั่นใจสูง แม้อ่อนเพลียแต่ก็เชื่อว่ายังขับได้อยู่ หากแต่การฝืนนั้นอาจเริ่มหมายถึงความไม่มีสติ ซึ่งหากยังคงรั้นตัวเองและขับต่อไปเรื่อยๆ หากเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นก็อาจควบคุมไม่ได้ ฉะนั้นเรื่องของสติจึงเป็นสิ่งที่ผู้ขับขี่จะต้องเตรียมไว้ให้พร้อมสำหรับช่วงวันหยุดยาวนี้