'เออาร์วี' เตรียมรุก 'โดรนบิสซิเนส' ปี64 โกยรายได้

'เออาร์วี' เตรียมรุก 'โดรนบิสซิเนส' ปี64 โกยรายได้

เออาร์วี ซุ่มเจรจาพันธมิตร รุก “โดรน บิสซิเนส” แผนชัดเจนต้นปี2564 หวังดันรายได้โตก้าวกระโดด ด้าน กฟผ. ชวน เออาร์วี ร่วมธุรกิจนำโดรนให้บริการตรวจสอบสภาพระบบส่ง สรุปเร็วๆนี้

นายธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (เออาร์วี) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า เออาร์วี อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตร เพื่อเตรียมจัดทำธุรกิจนวัตกรรมอากาศยานไร้คนขับ หรือ “โดรน บิสซิเนส” ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ในขณะนี้ แต่คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงต้นปี 2564 เบื้องต้น จะเป็นลักษณะเน้นการใช้งานโดรน กับงานโครงสร้างพื้นฐานต่างๆรวมถึงงานด้านอื่นๆด้วย

“ตอนนี้ เออาร์วี เรารุกธุรกิจเต็มที่แล้ว จะเห็นว่าปีนี้ เราขยายความร่วมมือกับพันธมิตรหลายราย ทั้งบริษัทในเครือของไทยคม ทำเรื่องโดรนเกษตรอัจฉริยะ และจับมือกับบริษัท เมอร์เมด ยกระดับบริการงานวิศวกรรมใต้ทะเลด้วยหุ่นยนต์และเอไอ และปีหน้าเราก็จะมี โดรน บิสซิเนส”

160828008074

ทั้งนี้ ในปี 2564 การดำเนินธุรกิจของเออาร์วี จะเป็นเชิงรุกในทุกภาคส่วนทั้ง โดรน บิสซิเนส,งานวิศวกรรมใต้ทะเล ภาคพื้นน้ำ และภาคสมาร์ทฟาร์ม หรือ เกษตรอัจฉริยะ เป็นต้น ดังนั้น ปี2564 รายได้ของเออาร์วี จะเติบโตก้าวกระโดด หรือ โตขึ้นเกิน 100% อย่างแน่นอน

ขณะที่ปีนี้ รายได้ของเออาร์วี ถือว่ายังเติบโตแต่ไม่มากนัก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัญหาสงครามราคาน้ำมัน ที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) เลื่อนแผนการตรวจสอบและงานซ่อมบำรุงต่างๆ ออกไป

แต่ในปีหน้า คาดว่ารายได้จะเข้ามามากขึ้น เนื่องจากมีสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาเสร็จหลายตัวในปีนี้ และพร้อมเร่งเครื่องจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในปี 2564

160828012562

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.อยู่ระหว่างหารือกับ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (เออาร์วี) เพื่อหาโอกาสในการทำธุรกิจร่วมกันในอนาคต คาดว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะมีความชัดเจนในเร็วๆนี้ เบื้องต้น กฟผ.เล็งเห็นโอกาสในการทำธุรกิจร่วมกัน เช่น การใช้โดรน เพื่อตรวจสอบสภาพระบบส่งและสายส่งของ กฟผ. ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและลดต้นทุนจำนวนมาก เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศไทยมีระบบสายส่ง ความยาวทั่วประเทศ คิดเป็นระยะทางประมาณ 3 หมื่นกิโลเมตร

“กฟผ.มีดีมานด์ ส่วน เออาร์วี ก็มีองค์ความรู้ในการใช้โดรนและประมวลผลข้อมูล ช่วยยกประสิทธิภาพตรวจระบบส่งและสายดีขึ้น และอาจไปทำธุรกิจร่วมกันได้มากขึ้น เช่น การไปให้บริการการ กฟภ. และ กฟน. หรือขยายความร่วมมือไปต่างประเทศได้" นายบุญญนิตย์ กล่าว