กฟผ.เร่งสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เขื่อนผาจุก คาด ซีโอดี ธ.ค.64

กฟผ.เร่งสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เขื่อนผาจุก คาด ซีโอดี ธ.ค.64

กฟผ. เดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เขื่อนผาจุก กำลังผลิตรวม 14 เมกะวัตต์ คาดจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ ตามแผน ธ.ค.ปี 64 เสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า พร้อมบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นายทิเดช เอี่ยมสาย ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมและก่อสร้างโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ยังอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนผาจุก อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ กำลังผลิตไฟฟ้ารวม 14 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง (เครื่องละ 7 เมกะวัตต์) คิดเป็นพลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยรายปี 74 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าเข้าระบบได้ปีละ 90 ล้านหน่วย ทำให้ลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละ 45,833 ตัน คาดว่า จะสามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์(COD) ได้ตามแผนภายในเดือน ธ.ค. 2564

โดยโครงการนี้ เป็นการนำน้ำที่ระบายผ่านเขื่อนทดน้ำผาจุกมาใช้ประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นการบูรณาการการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่กระทบกับวัตถุประสงค์ของการใช้น้ำเดิมขณะที่ ชุมชนได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาด้านต่างๆ จากกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนผาจุก อีกทั้งยังเป็นพลังงานสะอาด ต้นทุนต่ำ อายุการใช้งานยาวนานกว่าเมื่อเทียบกับพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2563 กฟผ. ได้เปิดดำเนินการเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์(COD) โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนคลองตรอน อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ มีขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 1.25 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง รวม 2.5 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 11.83 ล้านหน่วย (กิโลวัตต์-ชั่วโมง) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนชลประทาน ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้ กฟผ. ดำเนินงานโครงการเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2554 เพื่อเป็นการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามยุทธศาสตร์การผลักดันส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนของกระทรวงพลังงาน สนองนโยบายรัฐบาลตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (ADEP 2015)

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อน เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ใช้พลังน้ำในการผลิตไฟฟ้า ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว 9 แห่ง ได้แก่ เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนแม่กลอง เขื่อนนเรศวร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนคลองตรอน รวมกำลังผลิตติดตั้ง 87.95 เมกกะวัตต์

นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กล่าวว่า สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ (Floating Solar) หรือ โซลาร์ลอยน้ำ ในเขื่อนของ กฟผ.ที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงพลังงาน ให้ดำเนินการก่อสร้าง ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) จำนวน 9 แห่ง 16 โครงการ กำลังผลิตไฟฟ้ารวม 2,725 เมกะวัตต์ ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินโครงการนำร่องที่เขื่อนสิรินธร กำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ จะก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2564 

“ยอมรับว่า ล้าช้ากว่าแผนที่จะแล้วเสร็จในช่วงต้นปี64 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปีนี้ ทำให้การขนส่งอุปกรณ์ต่างผ่านตู้คอนเทนเนอร์จากจีนเกิดความล่าช้า จึงต้องเลื่อนการติดตั้งออกไป”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการดำเนินโครงการอื่นๆนั้น คาดว่าจะดำเนินการได้ หลังจากประเมินผลการติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนสิรินธรเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งโครงการนี้ กฟผ.คาดหวังว่า จะเป็นโครงการผลิตไฟฟ้ารูปแบบใหม่ที่ผสมผสานการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำกับพลังงานแสงอาทิตย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด