วิกฤติฝุ่น PM2.5 กทม.ยกระดับมาตรการ ห้ามเผา-งดก่อสร้าง-พิจารณาปิดเรียน

วิกฤติฝุ่น PM2.5 กทม.ยกระดับมาตรการ ห้ามเผา-งดก่อสร้าง-พิจารณาปิดเรียน

กทม.ยกระดับมาตรการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นระดับที่ 2 ไม่ให้มีการเผา งดก่อสร้างขนาดใหญ่ และให้โรงเรียนพิจารณาปิดเรียนตามความเหมาะสม

(15 ธ.ค.63) ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงข่าวสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 และมาตรการดำเนินการในส่วนของกรุงเทพมหานคร พร้อมกับนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย นายเมธี มหายศนันท์ ผู้อำนวยการกองพยากรณ์อากาศ และดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา นักวิชาการ ณ ทำเนียบรัฐบาล


โดยโฆษกกรุงเทพมหานครเปิดเผยกรณีสถานการณ์การสะสมของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครขณะนี้ ว่า วานนี้ (14 ธ.ค.63) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เฉลี่ย 60 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร วันนี้ (15 ธ.ค.63) ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เฉลี่ย 74.6 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร กรุงเทพมหานครได้ปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการที่กำหนดไว้ล่วงหน้ากว่า 2 เดือนแล้ว โดยแบ่งมาตรการดำเนินการตามระดับความเข้มข้นของค่าฝุ่นละออง สำหรับมาตรการที่กรุงเทพมหานครดำเนินการที่ได้ทำไปแล้ว อาทิ การควบคุมพื้นที่ก่อสร้าง การงดกิจกรรมกลางแจ้งในโรงเรียน การเผาในที่โล่ง การล้างถนน การฉีดละอองน้ำ และการเปิดคลินิกมลพิษ

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ที่ยกระดับเพิ่มมากขึ้น กทม.ได้ยกระดับมาตรการเป็นระดับที่ 2 ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมายควบคุมไม่ให้มีการเผาในพื้นที่ โดยให้สำนักงานเขตพื้นที่และเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบ กวดขัน การออกหน่วยสาธารณสุขให้บริการประชาชนในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นสูง ในส่วนของกิจกรรมก่อสร้างขนาดใหญ่ อาคาร รถไฟฟ้า หรือการก่อสร้างอื่นที่ทำให้เกิดฝุ่น การถมดิน การขนย้ายอุปกรณ์ จะประสานเจ้าของกิจการให้งดดำเนินการ ยกเว้นการตกแต่งภายในยังคงสามารถทำได้จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น สำหรับสถานศึกษาสังกัดกรุงเทพมหานคร ให้สำนักงานเขตร่วมกับโรงเรียนพิจารณาว่าโรงเรียนใดอยู่ในพื้นที่เสี่ยง และไม่สามารถจัดหาห้องที่มีเครื่องกรองอากาศได้ ให้ดำเนินการปิดเรียนตามความเหมาะสม


โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรการการฉีดพ่นน้ำ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีหลายวิธี ได้แก่ การฉีดน้ำเพื่อล้างต้นไม้เพื่อชะล้างฝุ่น PM2.5 ที่เกาะอยู่กับใบไม้ ให้ใบไม้สะอาดเพื่อใช้ดักจับฝุ่นใหม่ต่อไป การฉีดน้ำล้างถนนเพื่อล้างฝุ่น PM10 ลงท่อระบายน้ำ ป้องกันไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจายกลับขึ้นมาในอากาศ การฉีดน้ำบริเวณเขตก่อสร้างเพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่น PM10 และไม่ให้แตกตัวเป็น PM2.5 และการฉีดน้ำรอบอาคารสูงเพื่อลดปริมาณฝุ่นรอบๆอาคาร ช่วยให้คนที่อยู่ในอาคารปลอดภัยเนื่องจากฝุ่นในอาคารน้อยลง ทั้งนี้กรุงเทพมหานครจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจลักษณะของการฉีดน้ำที่จะเกิดประโยชน์ รวมทั้งให้รับทราบถึงการดำเนินการตามมาตรการระยะต่างๆ ซึ่งอาจเข้มข้นขึ้นเพื่อให้คนกรุงเทพอยู่อย่างปลอดภัยและมีสุขภาพดี



นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมควบคุมมลพิษ และกรมอนามัย ได้รายงานข้อมูลสถานการณ์ฝุ่นละอองปัจจุบันของประเทศไทย ซึ่งสาเหตุเกิดจากปัจจัยสภาพอากาศที่ควบคุมไม่ได้ และปัจจัยต้นเหตุของปัญหาที่เกิดจากมนุษย์ เช่น รถยนต์ การก่อสร้าง และการเผาในภาคการเกษตร ในส่วนของสภาพอากาศกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในอีก 2-3 วันหลังจากนี้ ความกดอากาศสูงจะเข้าสู่ประเทศไทยทำให้เกิดลมและสภาพอากาศไหลเวียนดีขึ้น ส่วนของการควบคุมรถยนต์ การก่อสร้าง และการเผา ทุกหน่วยงานได้เร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งในพื้นที่กทม.และปริมณฑลภายใต้การกำกับดูแลของศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ