‘เจเน็ต เยลเลน’ ดีต่อไทยไหม?

‘เจเน็ต เยลเลน’ ดีต่อไทยไหม?

ทำความรู้จัก "เจเน็ต เยลเลน" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ ทีมคณะรัฐมนตรีของ "โจ ไบเดน" พร้อมเปิดบทวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย ของเจเน็ต เยลเลน และจะส่งผลต่อประเทศไทยอย่างไรบ้าง?

ก่อนอื่นต้องบอกว่า โจ ไบเดน กำลังอยู่ระหว่างการฟอร์มทีมคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้เปิดตัวทีมงานด้านเศรษฐกิจ ต่างประเทศ และความมั่นคงไปหลายท่านแล้ว อย่างไรก็ดี ในส่วนของทีมการเจรจาการค้ากับทีมที่ดูแลจีนและเอเชีย ยังไม่ได้ถูกเปิดตัวออกมาอย่างชัดเจน

ดังนั้น บทความนี้จะขอโฟกัสในส่วนของทีมเศรษฐกิจที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปก่อน เธอคือ เจเน็ต เยลเลน โดยจะกล่าวถึงข้อดีและข้อด้อย สำหรับการที่เยลเลนทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีคลังของไบเดน รวมถึงผลกระทบต่อไทย ดังนี้

เริ่มจากข้อดีแรก อย่างที่ทราบกันว่าทั้งเจเน็ต เยลเลน และเจย์ พาวเวล ต่างก็เคยเป็นเพื่อนร่วมงานในคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด โดยที่เยลเลนถือว่าเป็นรุ่นพี่ทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์ ในช่วงต้นๆ ของพาวเวลในเฟด เยลเลนก็เป็นรองประธานธนาคารกลางสหรัฐ และก่อนที่พาวเวลจะขึ้นประธานธนาคารกลางสหรัฐ ตัวเยลเลนก็เป็นประธานเฟดคนก่อนหน้าพาวเวล

อย่างไรก็ดี ทั้งคู่ถือว่าสามารถทำงานกันได้ค่อนข้างดี โดยในช่วงที่พาวเวลเข้ามาเริ่มทำหน้าที่ในเฟดเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน เขาเริ่มจากการดูแลด้านสถาบันการเงิน ในขณะเดียวกันก็เริ่มเรียนรู้วิชาเศรษฐศาสตร์จากเยลเลนในบางส่วน โดยที่พาวเวลเองถือว่าเป็นคนที่เรียนรู้เร็วมากเพียงไม่กี่ปี เขาก็ถือว่าเข้าใจในเศรษฐกิจสหรัฐแบบที่ดีกว่านักเศรษฐศาสตร์หลายท่าน กระนั้นก็ดี จุดดีของพาวเวลคือเป็นผู้ฟังที่ดี แม้จะรู้เรื่องเศรษฐกิจเป็นอย่างดี ทว่าในช่วงที่เยลเลนอยู่ในเฟดก็เปิดโอกาสให้เยลเลนได้แสดงความคิดเห็นในเฟดด้วยความนับถืออย่างเต็มที่

อย่างไรก็ดี ในวันนี้ที่เขาเป็นประธานเฟด ส่วนเยลเลนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในแง่ของอำนาจตามกฎหมายสหรัฐ เฟดถือว่ามีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน ส่วนกระทรวงการคลังจะทำอะไรก็ต้องผ่านการโหวตของสภาคองเกรส ทำให้ในทางปฏิบัติ ณ วันนี้ ถือว่าพาวเวลดูจะมีอำนาจมากกว่าเยลเลนในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐในตอนนี้

ทำให้ผมไม่แน่ใจว่าด้วยบทบาทที่เปลี่ยนไปของทั้งคู่ จะส่งผลต่อทีมเวิร์คในการทำงานหรือไม่ อันนี้ผมแค่ตั้งข้อสังเกตไว้ เพราะหลายครั้งที่เกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ มักจะทำให้ทีมเวิร์คในการทำงานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ข้อดีที่สองของเยลเลนคือ เธอเป็นคนที่สนใจด้านการจ้างงานเป็นอย่างมาก ซึ่งถือว่าเป็นจุดดีเป็นอย่างมากสำหรับในยุคนี้ เนื่องจากเฟดเองก็เปลี่ยนพันธกิจมาโฟกัสเรื่องการจ้างงานมากกว่าอัตราเงินเฟ้อเช่นกัน ทำให้น่าจะเกิด Synergy ต่อการกระตุ้นตลาดแรงงานสหรัฐ โดยที่ไบเดนยังเลือกอเดวาล อเดเมโย ผู้ชายผิวดำคนแรกขึ้นมาทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และที่สำคัญเลือกเซซิเรีย เราส์ ผู้หญิงผิวดำคนแรกเช่นกันขึ้นมาเป็นประธานที่ปรึกษาสภาเศรษฐกิจ

เราส์ถือว่าทำงานวิจัยด้านความเท่าเทียมของการจ้างงานของคนผิวสีในสหรัฐมาแบบละเอียดและทุกมุมมอง ทำให้ภารกิจการช่วยเหลือภาคการจ้างงานของสหรัฐจากทีมงานของไบเดน ดูแล้วมีความพร้อมมากกว่ารัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ ค่อนข้างมาก

ข้อดีที่สามคือ เงินสกุลดิจิทัล Cryptocurrency น่าจะมีโอกาสเกิดได้ยากมากในช่วงอย่างน้อย 4 ปีต่อไปนี้ เนื่องจากความเปิดกว้างจากทั้งเยลเลนและพาลเวลต่อเงินสกุล Crypto ถือว่ามีน้อยมาก จนอาจจะเรียกว่าไม่มีโอกาสเลยก็ว่าได้ โดยทั้งคู่เชื่อว่าเงินสกุลดังกล่าวไม่มีปัจจัยพื้นฐานหรือ Rationale รองรับเพียงพอที่จะทำหน้าที่เป็นเงินตราในความหมายของธนาคารกลาง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์จะสามารถยืนเป็นพระเอกได้อีกยาวๆ จากจุดยืนดังกล่าวในเรื่องนี้ของทั้งคู่

  • คราวนี้มาดูจุดด้อยของเยลเลน ในฐานะ รมว.คลังสหรัฐกันบ้าง

จุดด้อยแรกคือ แม้ว่าเยลเลนจะอาวุโสพอที่จะพูดคุยกับทุกกลุ่มในพรรคเดโมแครตได้อย่างค่อนข้างดี ทว่าการบริหารด้านการคลังแบบค่อนข้างอนุรักษนิยมของเธอ อาจจะไม่ตอบโจทย์ต่อกลุ่มหัวก้าวหน้าของพรรค ซึ่งต้องการเห็นการลงทุนแบบเต็มที่ในโครงการด้านพลังงานสีเขียว ซึ่งน่าจะทำให้เกิดความเห็นต่างในจุดนี้ภายในพรรคเดโมแครต

จุดด้อยที่สองได้แก่ ตลาดจะเริ่มสับสนเมื่อสัญญาณจากทางการสหรัฐแบ่งเป็น 2 เสียง คือจากเฟดผ่านเจย์ พาวเวล และจากกระทรวงการคลังสหรัฐผ่านเจเน็ต เยลเลน ซึ่งทั้งคู่ถือว่าทรงอิทธิพลต่อตลาดใกล้เคียงกัน โดยแม้ในทางโครงสร้างองค์กร เฟดจะเด่นกว่ากระทรวงการคลัง แต่ด้วยความเก๋าและบารมี เยลเลนดูจะมีมากกว่าพาวเวลในตอนนี้ สิ่งนี้อาจทำให้ตลาดเกิดความสับสนขึ้นมาได้ไม่ยาก หากทั้งคู่มีจุดยืนที่ไม่เหมือนกันในเรื่องใหญ่ๆ ทางเศรษฐกิจที่ตลาดให้ความสนใจในอนาคต ปรากฏการณ์นี้ถือเป็นครั้งแรกที่อาจจะเกิดขึ้นมา

สำหรับผลกระทบต่อไทยสำหรับเยลเลนในฐานะ รมว.คลัง ผมมองว่าเป็นผลดีต่อไทย เนื่องจากเยลเลนเป็นนักวิชาการยุค 80-90 ที่เชื่อในความคิดที่ว่าการค้าแบบเสรีและเปิดกว้าง เป็นผลดีต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลก ดังนั้น จุดยืนด้านการปกป้องทางการค้าต่อไทยจากเยลเลนน่าจะมีน้อยกว่าจากสตีเฟน มนูชิน รมว.คลังของทรัมป์

อย่างไรก็ดี ต้องมาลุ้นกันว่าทีมเจรจาการค้ากับทีมที่ดูแลจีนและเอเชียของไบเดนที่ยังไม่ได้ถูกเปิดตัวออกมาอย่างชัดเจนจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรประกอบด้วย