ความปลอดภัยทางไซเบอร์ ‘โมเดลจีน’

ความปลอดภัยทางไซเบอร์ ‘โมเดลจีน’

ส่องโมเดล "ความปลอดภัยทางไซเบอร์" ของจีน ที่มีกฎหมายกำกับดูแลเศรษฐกิจดิจิทัลจีน แม้นำมาใช้กับไทยไม่ได้โดยตรง เนื่องจากบริบททางเศรษฐกิจ การเมือง และระบบโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตที่ต่างกัน แต่ก็สามารถนำมาถอดบทเรียนเพื่อปรับใช้กับยุคไทยแลนด์ 4.0 ได้

หากเราศึกษากฎหมายความปลอดภัยทางไซเบอร์ของจีน จะพบว่าสะท้อนแนวคิดที่เป็นเอกลักษณ์ของจีนเกี่ยวกับระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ และความมุ่งมั่น ที่จะกำกับดูแลเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและไซเบอร์สเปซแบบจีน ซึ่งแตกต่างจากโมเดลเสรีนิยมในฝั่งตะวันตก

คำถามคือโมเดลจีนเป็นตัวอย่างให้กับโมเดลไทยได้หรือไม่? คำตอบที่ชัดเจนคือไม่ได้ เพราะบริบทเศรษฐกิจการเมืองและระบบโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตที่แตกต่างกัน นี่เป็นผลสรุปจากโครงการศึกษากฎหมายความปลอดภัยทางไซเบอร์กับการกำกับดูแลเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศจีน เพื่อถอดบทเรียนสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลในยุคไทยแลนด์ 4.0 ภายใต้แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ในมุมมองของจีน การกำกับดูแลเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและไซเบอร์สเปซมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับความมั่นคงของรัฐจีน แนวคิดนี้ยังสะท้อนภาพความเป็นจริงเกี่ยวกับภูมิรัฐศาสตร์ การเมือง และเทคโนโลยีระหว่างประเทศในปัจจุบัน

จอร์จ โซรอส พ่อมดการเงินโลกได้เคยกล่าวในงานเลี้ยงอาหารค่ำในการประชุม World Economic Forum ที่ดาวอส เมื่อเดือน ม.ค.2562 ว่า จีนเป็นเผด็จการที่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการควบคุมจัดการสังคมได้ในระดับสูงด้วยการปรับใช้เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือบิ๊กดาต้า ซึ่งมีพื้นฐานคือโลกไซเบอร์สเปซ ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีเครื่องมือใหม่ในการควบคุมจัดการสังคม

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนกลายเป็นสถาบันการเมืองที่มั่นคงแข็งแรงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และมีกลไกที่รัดกุมในการควบคุมการใช้ไซเบอร์สเปซและเทคโนโลยียุคใหม่ ที่เชื่อมโยงกับอินเทอร์เน็ตในการส่งเสริมระบบการปกครองและระบบเศรษฐกิจของจีนเอง

เทคโนโลยียุค 4.0 ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ บิ๊กดาต้า หรือสัญญาณ 5G จีนได้พัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว การแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีนในเทคโนโลยีเหล่านี้ แตกต่างจากการแข่งขันระหว่างสหรัฐกับสหภาพโซเวียตในเรื่องเทคโนโลยีอวกาศและเทคโนโลยีการทหารในอดีต

นั่นก็เพราะเทคโนโลยีอวกาศและเทคโนโลยีการทหารไม่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของคนหมู่มาก แต่เทคโนโลยีสมัยใหม่ในยุค 4.0 นี้ ทุกคนใช้กันในชีวิตประจำวัน ดังที่วันนี้เรามีสมาร์ทโฟนกันคนละเครื่อง และอีกไม่นานก็จะถึงยุคที่ข้าวของเครื่องใช้ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นตู้เย็น โทรทัศน์ ลำโพง สามารถพูดคุยกับเราและเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้

การที่จีนกำลังก้าวขึ้นมาเทียบชั้นสหรัฐในเทคโนโลยีเหล่านี้ จึงมีมิติด้านความมั่นคงและเป็นภัยคุกคาม เพราะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของข้อมูล และด้วยความเชื่อที่ว่าใครที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มต่างๆ ในอนาคต ย่อมเป็นมหาอำนาจทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งเดิมฝั่งตะวันตก ได้แก่ ยุโรปและสหรัฐ เป็นผู้นำในเชิงตลาดอุปกรณ์โครงข่ายและเครื่องรับส่งสัญญาณ 4G และแพลตฟอร์มบนอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็น Google, Facebook, Amazon รวมทั้งแพลตฟอร์มที่เป็นฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ เช่น Apple หรือ Microsoft

แต่ในปัจจุบัน จีนเป็นชาติเดียวที่ขึ้นมาแข่งขันในแพลตฟอร์มบนอินเทอร์เน็ตเต็มตัว รวมทั้งยังมีแนวทางการกำกับดูแลไซเบอร์สเปซตามแนวคิดการกำกับดูแลอย่างรัดกุม เพื่อเอื้อกับการส่งเสริมระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจของจีน ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดเสรีนิยมของตะวันตกที่มองว่าไซเบอร์สเปซเป็นพื้นที่เสรี

สาเหตุที่จีนเป็นชาติเดียวที่ขึ้นมาแข่งขันในแพลตฟอร์มบนอินเทอร์เน็ตเต็มตัว แม้จะไม่ได้เดินตามแนวทางเสรีนิยมดังแนวทางของตะวันตก เนื่องด้วยปัจจัยด้านเศรษฐกิจการเมืองที่พิเศษของจีน อาทิ ระบบเศรษฐกิจที่มีเอกลักษณ์ของจีนที่รัฐมียุทธศาสตร์อินเทอร์เน็ตที่ชัดเจน การวางแผนสร้างระบบ Great Firewall ของจีนตั้งแต่เริ่มแรกที่ทำให้สามารถควบคุมอินเทอร์เน็ต รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากตลาดขนาดใหญ่ และพลังสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการแพลตฟอร์มบนอินเทอร์เน็ตของจีน

ในขณะที่มองย้อนกลับมาที่ไทย ซึ่งรับแนวความคิดสากลในเรื่องอินเทอร์เน็ตตั้งแต่เริ่มแรก และไม่มีระบบ Great Firewall มาตั้งแต่เริ่มต้น หากต่อมาโมเดลไทยมีแนวคิดต้องการที่จะรักษาและควบคุมอินเทอร์เน็ตตามโมเดลจีน ผลคือ “ยาก” ที่จะบังคับใช้กฎหมายได้ตามวัตถุประสงค์ทางการเมืองและเศรษฐกิจดังเช่นในจีน

เบื้องหลังแพลตฟอร์มไซเบอร์สเปซของจีนก็คือรัฐจีน ซึ่งสะท้อนระบบความคิดความเชื่อที่แตกต่างจากตะวันตก ถึงแม้ว่าหลายบริษัทด้านเทคโนโลยีของจีนจะเป็นบริษัทเอกชนจีน แต่กฎหมายความปลอดภัยทางไซเบอร์ของจีนบัญญัติไว้ชัดเจนว่า บริษัทเอกชนจีนต้องให้ความร่วมมือกับรัฐในเรื่องความมั่นคง รวมทั้งปัญหาที่ว่าบริษัทเทคโนโลยีจีนเหล่านี้ก้าวขึ้นมาได้ขนาดนี้ย่อมเป็นเพราะการช่วยเหลือ อุดหนุน และส่งเสริมจากรัฐบาลจีนทั้งในเรื่องแหล่งเงินทุนและการปิดกั้นต่างชาติผ่านกลไกกฎหมาย

คนไทย 4.0 จึงกำลังเผชิญกับโลกภูมิรัฐศาสตร์การเมืองและเทคโนโลยีระหว่างประเทศที่มีความซับซ้อน และแตกต่างจากโลกเดิมที่มีความเห็นร่วมกันเกี่ยวกับไซเบอร์สเปซที่ค่อนข้างชัดเจน สำหรับคนไทย 4.0 ซึ่งต่อไปในทุกมิติของชีวิต ย่อมมีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรตระหนักว่าการเชื่อมโยงกับไซเบอร์สเปซมีมิติด้านความมั่นคงของรัฐเสมอ

คำถามใหญ่ต่อไปก็คือเราจะเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์มสหรัฐหรือจีน และไม่ว่าในประเด็นไหนหรือเทคโนโลยีใด เราจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์มของใครก็ตาม คำถามสำคัญถัดมาก็คือเราจะแสวงหาแนวทางการกำกับดูแลที่เหมาะสมอย่างไร เพื่อประกันความปลอดภัยทางไซเบอร์และความมั่นคงของชาติ โดยสร้างสมดุลทั้งคุณค่าในเรื่องความมั่นคงของรัฐและคุณค่าเสรีนิยม