Digital of Things I ‘Data’ นั้นสำคัญไฉน

‘Data’ นั้นสำคัญแน่ แม้แต่การโยนห่วงเพื่อเฉือนชนะในเกมบาสเกตบอล ไปจนถึงโหราศาสตร์ ล้วนควบคุมได้โดย Data ทว่า Data อย่างเดียวคงไม่พอ ต้องอาศัยปัจจัยอื่น เพื่อความแม่นยำ หรือผลลัพธ์ที่ต้องการ

อย่างที่เคยคุยกันไว้นะครับ ว่าหนึ่งในเสาหลักของโลก Digital คือการนำข้อมูลจากทุกหนทุกแห่งมารวมไว้ในที่เดียวกัน และนำระบบประมวลผลมาวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมดเพื่อให้ได้วิธีการหรือแนวทางที่จะทำให้ได้ผลลัพธ์ออกมาอย่างที่ต้องการ จากนั้นเราก็แค่ปฏิบัติตามแนวทางเพื่อให้บรรลุไปสู่เป้าหมายที่ประสงค์ ฟังแล้วอาจจะดูง่ายนะครับ แต่มันก็อยู่ที่ว่า data หรือข้อมูลที่มีอยู่นั้นเพียงพอ ถูกต้อง ครบถ้วนหรือไม่

การตัดสินใจภายใต้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ไม่เพียงพอหรือข้อมูลอันเป็นเท็จ มีโอกาสสูงที่จะทำให้แนวทางที่ได้มาไม่สามารถนำไปสู่เป้าหมายตามที่คาดหวัง นอกจากนั้นความเปลี่ยนแปลงในโลกยุคปัจจุบันก็เป็นตัวแปรสำคัญที่เกิดขึ้นได้แบบปัจจุบันทันด่วน ไม่สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้า ดังนั้นการวางแผนที่ดีจึงมิใช่แผนที่ตายตัว วางทีเดียวแล้วใช้ไปยาวๆ แต่ควรจะเป็นแผนที่สามารถปรับเปลี่ยนได้อยู่ตลอดเวลา ทุกอย่างจึงจะสมบูรณ์ ทันสมัยและทันเวลา

In God we trust but we believe in data.

ถ้าท่านผู้อ่านท่านใดได้เคยสัมผัสหรือผ่านการศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกา น่าจะพอทราบนะครับว่า อเมริกาเป็นสุดยอดของการเก็บสถิติ เก็บทุกอย่าง เก็บแล้วก็ไม่เก็บไว้เฉยๆ แต่นำสถิติมาใช้วิเคราะห์ทุกอย่างได้อย่างละเอียด และเชื่อมั่นในข้อมูลที่ได้จากระบบสถิติอย่างแท้จริง

“อเมริกาวางใจในพระผู้เป็นเจ้า แต่เชื่อมั่นในข้อมูล” เป็นคำพูดที่อาจารย์ในวิชาสถิติ 101 ของผมพูดหน้าชั้นเรียนเมื่อหลายสิบปีก่อน และผมก็เห็นว่าอเมริกาก็ดำเนินทุกอย่างตามนั้นจริงๆ

เรื่องที่พอจะยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ คือเรื่องกีฬาครับ กีฬาที่สะท้อนความเป็นอเมริกันชนอย่างแท้จริงมีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ อเมริกันฟุตบอล บาสเกตบอล และเบสบอล การวางแผน การบริหารจัดการเวลา ยุทธวิธี การเลือกตัวผู้เล่นหรือการเรียกแผนการเล่นล้วนมีพื้นฐานมาจากหลักสถิติทั้งสิ้น

ผมขอยกตัวอย่างการบริหารเวลาและการเรียกแผนรวมทั้งการเลือกผู้เล่นในช่วง 10 วินาทีสุดท้ายของเกมส์บาสเกตบอล

ในกรณีที่เกมส์ห่างกันไม่เกิน 2-3 แต้ม โค้ชจะจัดตัวเด็ดๆ หรือตัวที่เป็นขาประจำในช่วงวินาทีทองนั้นลงมา วางแผนการเล่น ทุกอย่างเตรียมการไว้ล่วงหน้า ผู้เล่นคนไหนจะส่งบอลไปที่ใคร แล้วใครจะเป็นคนชู้ตในวินาทีสุดท้าย ก่อนที่ลูกจะกระโจนลงห่วงพร้อมเสียงนกหวีดหมดเวลาการแข่งขันแบบดราม่าสุดๆ จนดูเหมือนโชคช่วย

แต่ในความเป็นจริงนั้น ทุกอย่างมีสถิติรองรับอยู่ตลอดเวลาครับ ผู้เล่นที่ถูกเลือกให้ลงไปในช่วงวินาทีสุดท้าย จะเป็นคนที่มีสถิติในการทำคะแนนในวินาทีสุดท้ายได้ดีที่สุด จะไม่ใช่คนที่เล่นเก่งที่สุดในทีม ดีที่สุดในเวลาปกติ แต่จะเป็นคนที่ทำคะแนนได้ในสภาพความกดดัน

แน่นอนว่าการฝึกฝนเป็นสิ่งสำคัญ แต่ที่สำคัญอีกอย่างคือสภาพจิตใจ นักกีฬาแต่ละคนมีสภาพจิตใจแตกต่างกันอาจจะเป็นเพราะการเลี้ยงดูในครอบครัว ความเป็นอยู่ในวัยเด็ก สภาพแวดล้อมหรือนิสัยใจคอ จนทำให้เวลาหรือความกดดันทำอะไรนักกีฬาคนนั้นไม่ได้ ซึ่งเรื่องแบบนี้อเมริกาใช้สถิติที่เก็บมาเป็นเวลานานตั้งแต่ผลงานสมัยมัธยม สมัยมหาวิทยาลัย จนก้าวสู่นักกีฬาอาชีพ ในบางประเทศอาจจะเรียกว่าประสบการณ์หรือลูกเก๋า แต่อเมริกาเรียกมันว่าสถิติที่มีวิทยาศาสตร์รองรับ และนี่คือตัวอย่างง่ายๆ ในเรื่องของ data ที่ประเทศอย่างอเมริกานำมาใช้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Data กับการพยากรณ์

สิ่งที่ดูจะเป็นเอกลักษณ์ไทยอย่างหนึ่งก็คือโหราศาสตร์ การพยากรณ์ หรือทำนายโชคชะตา ซึ่งดูไปแล้วก็คือการเก็บสถิติแบบไทยๆ ถ้าได้คุยกับนักพยากรณ์ ส่วนใหญ่จะบอกว่าการพยากรณ์ดวงชะตาก็คือการรวบรวมสถิติที่บันทึกต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นและนำมาทำนายทายทักสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของบุคคลซึ่งเกิดตามวันเวลาเหมือนๆ กัน โดยใช้ข้อมูลที่เก็บไว้ดังกล่าว

ส่วนใครจะดูแม่นดูไม่แม่นก็อาจจะเป็นประสบการณ์ความละเอียดของการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งถูกบันทึกไว้ในรูปแบบดวงดาวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตหลายครั้งหลายหน ใครเก็บรายละเอียดและตีความได้ถูกต้องคนนั้นก็จะแม่นกว่า

ถ้าเอามาเทียบกับนักบาสเกตบอลที่ทำคะแนนได้ในวินาทีสุดท้ายก็อาจจะบอกได้ว่าพฤติกรรม การกระทำหรือการฝึกฝนเป็นส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่อยู่ลึกๆ ของสภาพจิตใจก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จตามที่ต้องการ

Data นั้น สำคัญฉะนี้

เพื่อไม่ให้ยาวเกินไป ผมอยากจะขมวดตรงนี้ว่าข้อมูลหรือ data เป็นสิ่งที่สำคัญมากในการวางแผนการทำงาน การดำเนินชีวิต หรือการนำมาวิเคราะห์เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคตจากการกระทำที่ผ่านมาหรือสิ่งทีทำอยู่ในปัจจุบัน สถิติหรือประวัติศาสตร์ใช้ทำนายอนาคตได้ครับ เหมือนที่นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเสมอ หรือคนขี้ประชดจะบอกว่า มีแต่คนบ้าเท่านั้นที่เชื่อว่าการกระทำแบบเดิมๆ แต่คาดหวังจะได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไปนั้นมีอยู่จริง

ผมอยากจะชวนท่านผู้อ่านทุกท่านลองนึกย้อนดูนะครับ ว่ามีครั้งไหนบ้างที่เราทำเรื่องซ้ำๆ แล้วได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างบ้าง