Digital of Things I Big Data ที่ไม่ค่อยจะ Big

การเปลี่ยนผ่านของดิจิทัลมีองค์ประกอบมากมาย สำคัญที่สุดน่าจะเป็น Big Data องค์กรที่มีข้อมูลสะสมไม่พ้นหน่วยงานรัฐ ทว่า การเก็บข้อมูลของแต่ละหน่วยงานแยกขาด ไม่บูรณาการร่วมกัน Big Data ก็จะไม่ Big แล้วควรทำอย่างไรให้ Big ได้จริงๆ

กระบวนการเปลี่ยนผ่านของดิจิทัลมีองค์ประกอบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีอันทันสมัย ระบบประมวลผลที่ละเอียดและรวดเร็ว วิธีคิดที่มีระบบมากกว่าที่ผ่านมา แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของการเปลี่ยนผ่านน่าจะเป็น Data หรือข้อมูลในรูปแบบต่างๆ ที่มีการรวบรวมสะสมในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ด้วยวิธีที่แตกต่างกัน ภาษาที่แตกต่างกัน ในสถานที่ และลักษณะที่แตกต่างกัน

ปัจจุบันไม่ว่าท่านผู้อ่านจะประกอบอาชีพด้านใดก็ตาม สิ่งที่ทุกท่านจะต้องได้ยินก็คือ Information หรือ data ยิ่งถ้าท่านเคยเฉียดเข้ามาในวงการ Digital Transformation สิ่งที่ท่านจะต้องได้ยินอย่างแน่นอนก็คือ “Big Data” หรือแนวคิดที่จะรวบรวมข้อมูลจำนวนมหาศาลจากที่ต่างๆ เข้ามารวมไว้ในที่เดียวกันเพื่อใช้ในการประกอบการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ของผู้บริหารองค์กรหรือแม้กระทั่งผู้นำประเทศ

ภายใต้กรอบนโยบายไทยแลนด์ 4.0

Big Data เป็นยุทธศาสตร์หลักที่สำคัญยุทธศาสตร์หนึ่งในการนำพาประเทศไปสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ แน่นอน ภาครัฐเป็นองค์กรที่มีข้อมูลของประชาชน ตัวเลขทางสถิติ รายรับรายจ่ายของประเทศ ตลอดจนข้อมูลในการให้บริการประเภทต่างๆ มากกว่าหน่วยงานใดๆ

แต่การที่ภาครัฐมีระบบราชการที่ซับซ้อน มีกฎ ระเบียบในการทำงานที่ขาดการบูรณาการทำให้การจัดเก็บข้อมูลหรือ Data ของภาครัฐเป็นไปได้ยาก ตลอดระยะเวลากว่า 6 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้รัฐจะต้องมีการบูรณาการและมี Big Data ขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยดำริของนายกรัฐมนตรี ทำให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม มีการจัดทำระบบ Big Data ขึ้น ซึ่งหากทุกกระทรวง ทบวง กรม ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ต่างมี Big Data แนวคิดและภาพรวม Data ภาครัฐก็จะไม่ Big ดังที่นายกรัฐมนตรีได้ดำริไว้

การบูรณาการข้อมูลภาครัฐ

ทำได้ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะดำเนินการ ทางออก ทางแก้ไขน่าจะพอมีอยู่บ้าง ลองคิดตามและแลกเปลี่ยนกันดูนะครับ

จริงๆ แล้วขั้นตอนของการบูรณาการข้อมูลภาครัฐน่าจะเริ่มจาก

การจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานต่างๆ ในการจัดรูปแบบเอกสารแบบกระดาษหรือ Analog ให้เป็นรูปแบบ Digital เสียก่อน ซึ่งในความเป็นจริงข้อมูลที่ภาครัฐมีอยู่ส่วนใหญ่ก็ถูกเก็บในรูปแบบ Digital อยู่แล้ว อาจจะแตกต่างกันที่ Format เท่านั้น

ข้อดีอย่างหนึ่งของ Technology โดยเฉพาะ Computer Technology คือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้ง Hardware, Software และอื่นๆ จะมีวันหมดอายุ  หรือ Obsolete อยู่เสมอ

ดังนั้น ภาครัฐน่าจะจัดให้มีหน่วยงานที่มีอำนาจในการวางมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ที่จะต้องจัดหาใหม่ให้กับทุกหน่วย ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นยี่ห้อเดียวกัน บริษัทเดียวกัน แต่จะต้องวางกรอบมาตรฐานในการเชื่อมโยงกันให้ได้ หากภาครัฐดำเนินการให้ทุกส่วนราชการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันได้เรียบร้อยแล้ว

สิ่งที่จะต้องทำต่อมาก็คือการกำจัดกฎหมายที่ล้าหลังเป็นอุปสรรคเงื่อนไขในการแลกเปลี่ยนข้อมูลให้หมดไป หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า Regulatory Guillotine หรือการกิโยติน (ตัดหัว) กฎหมายที่เป็นอุปสรรคออกไป เหมือนที่ในหลายๆประเทศได้ดำเนินการไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

การเชื่อมโยงข้อมูลให้เกิด Big Data ของภาครัฐก็จะเหลือเพียงอุปสรรคเดียว และเป็นอุปสรรคที่ต้องใช้วิสัยทัศน์ พลังงานและความกล้าหาญอย่างมาก ที่จะปรับ Mindset ของข้าราชการที่เคยชินกับการทำงานในอาณาจักรของตนเอง ให้ยอมสละขนบประเพณี สละข้อมูลที่ทุกหน่วยหวงแหนที่ทุกคนคิดว่าข้อมูลของตนสำคัญ ข้อมูลของตนเป็นที่มาของอำนาจที่จะสั่งการและออกแบบนโยบายอะไรก็ได้ เพราะในความเป็นจริงแล้วแม้ว่าข้อมูลของภาครัฐจะถูกนำมาบูรณาการเข้าด้วยกันแล้ว อำนาจในการตัดสินใจ ในการลงนามก็ยังคงอยู่ในมือของพวกท่านอยู่ดี

ยิ่งไปกว่านั้นหากข้อมูลมีการบูรณาการจริง ทุกส่วนราชการก็จะได้รับประโยชน์จากข้อมูลที่หามาร่วมกันมากกว่าที่จะไปเสียเวลาควานหาด้วยตนเองอีกด้วย

ส่วนราชการบางส่วนอาจจะเปิดประเด็นโต้แย้งในเรื่องของความลับและความมั่นคงของข้อมูลซึ่งในทางเทคนิคแล้วยิ่งไม่น่ามีปัญหาเข้าไปอีก เพราะ Big Data สามารถจะกำหนดชั้นความลับ มีระบบป้องกันในการเข้าถึงอนุญาตให้เฉพาะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเท่านั้นที่จะเข้าถึงข้อมูลได้

การเก็บข้อมูลใน Big Data ปลอดภัยยิ่งกว่าการเก็บไว้ในแฟ้มประทับตราลับมากใส่เซฟล๊อคกุญแจ เพราะโลกของ digital การกระทำทุกอย่างจะปรากฏร่องรอยหรือ Digital Footprint ที่มิสามารถลบล้างออกไปได้ ใครที่เข้าไปในระบบจะถูกบันทึกไว้อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ การตรวจสอบหาหลักฐานกระทำได้ง่ายกว่าระบบเก่าๆ

ด้วยเรื่องราวต่างๆ ที่ผมเล่ามา การนำ Big Data มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนและการใช้ข้อมูลต่างๆ ในการประกอบการตัดสินใจของผู้บริหารน่าจะเกิดขึ้นได้ไม่ยากหากหน่วยงานภาครัฐมองเห็นและตั้งใจที่จะบูรณาการข้อมูลอย่างแท้จริง ด้วยความชัดเจนของนโยบาย การรุกคืบหน้าเพื่อทำความเข้าใจกับข้าราชการ ผู้บริหารในทุกกระทรวงทบวงกรม ผมคิดว่าทิศทางของ Big Data ภาครัฐมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้ในไม่ช้า ขอบคุณครับ