พาณิชย์ย้ำไต่สวน AD สินค้าฟิล์ม BOPP จากมาเลย์ จีน และอินโด อย่างเป็นธรรมโดยคำนึงถึงทุกฝ่าย

พาณิชย์ย้ำไต่สวน AD สินค้าฟิล์ม BOPP จากมาเลย์ จีน และอินโด อย่างเป็นธรรมโดยคำนึงถึงทุกฝ่าย

กรมการค้าต่างประเทศพร้อมรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายหลังทดอ.เปิดไต่สวนAD สินค้าฟิล์ม BOPP จากมาเลย์ จีน และอินโด เหตุพบนำเข้าสูง85.33 %ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมดหวั่นกระทบอุสาหกรรมภายในประเทศ

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ  เปิดเผยว่า คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.) ได้มีมติให้เปิดไต่สวนเพื่อพิจารณาการใช้การทุ่มตลาดมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD)สินค้าฟิล์มบรรจุภัณฑ์ไบแอคเซียลลี ออเรียนเต็ดโพลิโพรพิลีน (Biaxially Oriented Polypropylene) (บีโอพีพี) เกรดทั่วไป จาก 3 ประเทศ คือ มาเลเซีย จีน และอินโดนีเซีย  เพราะมีการนำเข้าสินค้าดังกล่าวเข้ามาขายในราคาทุ่มตลาดและก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ผลิตสินค้าในประเทศ และกรมการค้าต่างประเทศได้ประกาศเปิดไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้าดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา
     
จากนั้นกรมฯ ได้จัดส่งแบบสอบถามให้ผู้มีส่วนได้เสีย ได้แก่ ผู้ผลิตในประเทศไทย ผู้ส่งออกจาก 3 ประเทศดังกล่าว และผู้นำเข้าของไทย ตอบข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการไต่สวนฯ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคำตอบแบบสอบถาม และได้เปิดรับฟังข้อคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดทั้งกระบวนการไต่สวน
นายกีรติฯ กล่าวว่า  การนำเข้าสินค้าฟิล์มบีโอพีพี เกรดทั่วไป จากมาเลเซีย คิดเป็นปริมาณ 75.58% จีน79.89% และอินโดนีเซีย 87.50 % ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมดในปี 2560-2562  โดยมีปริมาณและมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือมีปริมาณนำเข้า 12,410.89 ตัน15,074.88 ตันและ 18,541.18 ตัน ตามลำดับ และคิดเป็นมูลค่า 717.67 ล้านบาท 902.10 ล้านบาทและ 1,019.37 ล้านบาท ตามลำดับ โดยในปี 2563 (ม.ค. - ก.ย.) ไทยมีปริมาณและมูลค่าการนำเข้าสินค้าฟิล์มบีโอพีพีจากมาเลเซียสูงที่สุด รองลงมาคือ จีน และอินโดนีเซีย โดยมีปริมาณการนำเข้าอยู่ที่ 7,257.23 ตัน 5,605.14 ตันและ 3,080.52 ตัน โดยมีมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 355.55 ล้านบาท 271.40 ล้านบาทและ 213.07 ล้านบาท ตามลำดับ
     
โดยสัดส่วนการนำเข้าจากทั้ง 3 ประเทศรวมกันคิดเป็น85.33 %ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด ซึ่งหากปล่อยให้มีการทุ่มตลาดสินค้าดังกล่าวจากทั้ง 3 ประเทศ โดยไม่มีมาตรการให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐจะทำให้ผู้ประกอบการฟิล์มบีโอพีพีได้รับความเดือดร้อน และอาจต้องปิดกิจการลง หรือจำเป็นต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงานภายในประเทศ และส่งผลให้ไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าฟิล์มบีโอพีพีจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว
นายกีรติ กล่าวว่า กรมฯ พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อกังวลต่างๆและข้อมูลจากทุกฝ่ายเพื่อลดผลกระทบอาจเกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง เนื่องจากสินค้าดังกล่าวมีห่วงโซ่อุปทานยาวและเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมต่อเนื่องจำนวนมากซึ่งใช้ฟิล์มบีโอพีพี เช่น อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติก รวมถึงอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องใช้ในครัวเรือน เป็นต้น
โดยเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 กรมฯ จึงได้จัดประชุมหารือร่วมกับผู้ผลิต ผู้นำเข้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย เพื่อหารือถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และแนวทางเยียวยาหากมีการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าฟิล์มบรรจุภัณฑ์บีโอพีพีฯ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาไต่สวนฯ โดยที่ผู้ผลิตได้ชี้แจงและทำความเข้าใจกับผู้ที่มีส่วนได้เสียในเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันในหลายประเด็น อาทิ การกำหนดราคาสินค้าที่แข่งขันได้ การส่งมอบสินค้าที่ทันต่อความต้องการ และการผลิตสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ผลิตยังรับที่จะเดินสายคุยกับผู้นำเข้า และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจอันดี และสร้างความเชื่อมั่นในการทำการค้าระหว่างกันต่อไป
ที่ผ่านมา กรมฯ ได้ดำเนินการไต่สวนการทุ่มตลาดอย่างรอบคอบและคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายทั้งอุตสาหกรรมภายใน อุตสาหกรรมต่อเนื่อง ผู้บริโภค และประโยชน์สาธารณะอย่างรอบด้าน เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางการค้า และปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทยมาโดยตลอด ทั้งนี้ ผู้มีส่วนได้เสียสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กองปกป้องและตอบโต้ทางการค้าของกรมการค้าต่างประเทศได้