“พิพัฒน์”ถก 15 โรงแรมดังวันนี้ ฟื้นเที่ยวไทยพยุงเลิกจ้าง

“พิพัฒน์”ถก 15 โรงแรมดังวันนี้ ฟื้นเที่ยวไทยพยุงเลิกจ้าง

แรงงานท่องเที่ยวระส่ำ “แอตต้า” ชี้หากไตรมาส 1 ปีหน้า ยังไม่มีทัวริสต์ตบเท้าเข้าไทย คาดมีคนตกงานในอุตฯท่องเที่ยวกว่า 2 ล้านคน ด้าน “พิพัฒน์” ถก15 กลุ่มโรงแรมดังวันนี้ ฟังปัญหา ไอเดียฟื้นท่องเที่ยว ฟาก “ททท.เตรียมชงครม.ปี 2564-2565 ปีท่องเที่ยวไทย

การระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบันกัดกินเศรษฐกิจโลกเป็นระยะเวลานานร่วม 10 เดือนส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วง ทำให้เศรษฐกิจไทยถดถอย โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งมีแรงงานไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคน ผู้ประกอบการท่องเที่ยวจำเป็นต้องปิดกิจการทั้งแบบชั่วคราวและถาวร เลิกจ้างพนักงานไปเป็นจำนวนมากเพราะแบกต้นทุนประคองธุรกิจต่อไปไม่ไหว

นายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่าแอตต้าได้ประเมินว่าหากในไตรมาส1ปี2564ยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาคาดว่าจะมีคนตกงานในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกว่า2ล้านคน ซึ่งจะเป็นการสร้างภาระให้แก่รัฐบาล

แอตต้าจึงได้ยื่นหนังสือต่อนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเสนอขอให้พิจารณาการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก 22 มณฑลในประเทศจีนซึ่งปลอดภัยจากโควิดอย่างสูง นานกว่า 150 วัน เทียบเท่าประเทศไทย เช่น มณฑลกวางตุ้ง เจ้อเจียง อานฮุย ฉงชิ่ง เหอเป่ย์ หูเป่ย์ หูหนาน ฝูเจี้ยน เจียงซี ไหหนาน ยูนนาน เจียงซู ซื่อชวน เหอหนาน และอื่นๆ

“ทั้งนี้แอตต้ามั่นใจว่าจะไม่สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทย แต่จะนำรายได้ท่องเที่ยวเข้ามาช่วยเหลือเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังถดถอยและสร้างงานให้คนไทยเป็นจำนวนมาก โดยแอตต้าประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มนี้เข้ามาไม่น้อยกว่า 3 แสนคนต่อเดือน และสร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 1.5 หมื่นล้านบาทต่อเดือน”

บ.ทัวร์เลิกจ้างชั่วคราว 90%

เมื่อเจาะเฉพาะสถานการณ์แรงงานในกลุ่มธุรกิจบริษัทนำเที่ยวขณะนี้ เบื้องต้นประเมินว่าจำนวนพนักงานที่มีอยู่ประมาณ 1.5 แสนคนจากบริษัทนำเที่ยวกว่า 1 หมื่นแห่ง ปัจจุบันมีการเลิกจ้างถาวรราว 10%และเลิกจ้างชั่วคราว 90%

“สำหรับข้อเสนอต่อภาครัฐให้ช่วยพยุงการจ้างงานแรงงานท่องเที่ยว แอตต้ายังคงมองว่าควรช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟท์โลนมากกว่านี้ พร้อมขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ต่อไปอีกระยะเพื่อให้มีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ และถ้าจะให้ผู้ประกอบการรักษาการจ้างงานจริงๆ อยากให้รัฐพิจารณาช่วยจ่ายค่าจ้าง 50%ซึ่งจะเริ่มช่วยตอนนี้ก็ยังไม่สาย แต่สุดท้ายแล้วเราอยากให้มีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มปลอดภัย ถือเป็นทางออกที่ดีที่สุดของการรักษาการจ้างงานภาคท่องเที่ยวไทย” นายวิชิตกล่าว

รถบัสฯโวยซอฟท์โลนไม่ถึงมือ

นายจิระเดช ห้วยหงษ์ทองกรรมการผู้จัดการ หงษ์ทองกรุ๊ป หนึ่งในผู้ให้บริการเช่ารถบัสนำเที่ยวรายใหญ่ของไทย กล่าวในฐานะอุปนายกสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทยว่าเนื่องจากยังไม่มีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วไป ทำให้ธุรกิจรถบัสนำเที่ยวไปต่อไม่ได้ และซอฟท์โลนก็ไม่ถึงมือธุรกิจรถนำเที่ยว เนื่องจากธนาคารไม่รับพิจารณารถและทะเบียนรถเป็นตัวค้ำประกันสินเชื่อ ทั้งที่รายได้ของธุรกิจรถนำเที่ยวครองส่วนแบ่ง 8-10%ของรายได้ท่องเที่ยวไทยในภาพรวม

โดยปัจจุบันมีรถบัสรับจ้างในระบบกว่า 4 หมื่นคัน แบ่งเป็นรถบัสรับขนส่งพนักงานโรงงาน 40% ส่วนรถบัสนำเที่ยวครองสัดส่วน 60%ซึ่งไม่มีงานวิ่งรถตั้งแต่ต้นปีที่เกิดวิกฤติโควิด ส่งผลกระทบต่อพนักงานกลุ่มธุรกิจรถบัสรับจ้างซึ่งมีกว่า 4 หมื่นคนทั่วประเทศ โดยขณะนี้มีคนตกงาน 70%ของจำนวนดังกล่าวหรือคิดเป็นกว่า 3 หมื่นคน

เสนอรัฐช่วยจ่ายค่าจ้าง

“อยากให้กระทรวงแรงงานช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยตรง ด้วยการช่วยจ่ายเงินค่าจ้างผ่านผู้ประกอบการ โดยรัฐช่วยจ่ายในสัดส่วน 50%ส่วนผู้ประกอบการจ่ายอีก 50%ที่เหลือ เพื่อช่วยกันรักษาการจ้างงาน เนื่องจากขณะนี้ภาคท่องเที่ยวยังไม่สามารถขยับได้จริงๆ”

พิพัฒน์ถก 15 โรงแรมดังวันนี้

ด้านนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า วันนี้ (16 พ.ย.) กระทรวงการท่องเที่ยวฯจะร่วมหารือกับกลุ่มบริษัทเจ้าของโรงแรมชื่อดัง 15 รายซึ่งมีโรงแรมและรีสอร์ทกระจายทั่วประเทศ เพื่อรับฟังปัญหากับอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจช่วงวิกฤติโควิดว่ามีข้อเสนออะไรที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเพิ่มเติม

“ที่ผ่านมากระทรวงฯได้หารือและรับฟังปัญหากับอุปสรรคจากผู้บริหารโรงแรมขนาดใหญ่แล้ว แต่ครั้งนี้จะหารือเพื่อรับฟังปัญหาและแลกเปลี่ยนมุมมองการฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจากผู้ที่เป็นเจ้าของว่าต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลืออะไรบ้าง เพื่อเป็นมุมมองใหม่ๆ ที่จะช่วยพยุงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เดินหน้าได้อย่างยั่งยืน”

สำหรับเจ้าของและผู้ประกอบการโรงแรม 15 รายที่เข้าร่วมหารือกับกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ประกอบด้วย 1.กลุ่มรีสอร์ตหรูในภาคใต้ของนายสมพงศ์ ดาวพิเศษ ผู้ก่อตั้งบริษัท ฮาโก้ กรุ๊ป (1991)จำกัด 2.กลุ่มบริษัทและโรงแรมในเครือสุโกศล 3.กลุ่มบริษัทดุสิตธานี 4.เลเชอร์ เคป แอนด์ แคนทารี โฮเทลส์ 5.เสม็ดรีสอร์ทกรุ๊ป 6.สันธิญา รีสอร์ท แอนด์ สปา 7.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป 8.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชันแนล 9.แลนด์มาร์ก แอนด์ แลงคาสเตอร์ กรุ๊ป 10.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป หรือAWC11.กลุ่มเซนเตอร์ พอยท์ และแกรนด์ เซนเตอร์ พอยท์ 12.ชาเทรียม โฮเทลส์ แอนด์ เรสซิเดนส์ 13.เดอะ ทวิน ทาวเวอร์ โฮเทล กรุงเทพฯ 14.กลุ่มบริษัทพรีเมียร์ เรียล เอสเตท แอนด์ โฮเทล และ 15.ปิยะสมบัติ พร็อพเพอร์ตี้

ชงครม.ปี64-65“ปีท่องเที่ยวไทย

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ททท.ได้หารือกับภาคเอกชน อาทิ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.),สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า),สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ),สมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) และผู้ประกอบการท่องเที่ยวหลากหลายสาขา เพื่อรับฟังปัญหากับอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ นำข้อมูลไปประเมินและจัดทำแผนฟื้นฟูภาคท่องเที่ยว หลังจากปี 2563 เจอการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ตลอดทั้งปีไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามแผนที่วางไว้

“ดังนั้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ จะเรียกประชุมผู้บริหารของ ททท.ที่ดูแลทุกตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก เพื่อทำแผนฟื้นฟูภาคท่องเที่ยวระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2565”

สำหรับแผนฟื้นฟูฯระยะเวลา 2 ปีนี้ วางเป้าหมายให้ภาคท่องเที่ยวยังเป็นเครื่องจักรสำคัญ เป็นพระเอกตัวจริงที่จะขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยยังครองสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประมาณ 20%เหมือนก่อนวิกฤติโควิด-19 จะเกิดขึ้น

และหลังจากจัดทำแผนฟื้นฟูท่องเที่ยวเสร็จ จะต้องนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติแผน โดยใช้งบประมาณเดิมของปี 2564-2565 แต่หากมีมาตรการเพิ่มเติม เช่น มาตรการด้านภาษีกระตุ้นท่องเที่ยว เพิ่มเติมจากแผนที่ใช้งบปกติได้ ก็ต้องเสนอ ครม.เพื่อของบประมาณเพิ่มเติมเป็นเรื่องๆ ไป แต่ทั้งหมดต้องเสร็จภายในปี 2563 และสามารถดำเนินการตามแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวในปี 2564 ได้เลย

“ททท.อาจประกาศให้ปี 2564-2565 เป็นปีท่องเที่ยวไทย เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวให้กลับมาเติบโตอย่างยั่งยืนอีกครั้งเหมือนนกฟีนิกซ์ภายใต้แนวคิดPheonixiativeแต่ต้องเร่งดำเนินการฟื้นฟูภาคท่องเที่ยว เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจแย่ไปกว่าปัจจุบัน หลังจากวิกฤติโควิดส่งผลให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนถ่างออกไปมากกว่าเดิม ต้องเร่งฟื้นฟูให้ท่องเที่ยวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วง 1-2 ปีนี้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของคนไทยที่นับวันจะเพิ่มขึ้น” นายยุทธศักดิ์ กล่าว