ดัชนีเศรษฐกิจดีขึ้น แต่จ้างงานยังไม่ฟื้น

ดัชนีเศรษฐกิจดีขึ้น แต่จ้างงานยังไม่ฟื้น

ขณะนี้สถานการณ์เศรษฐกิจหลายส่วนเริ่มปรับตัวขึ้น โดยเฉพาะการส่งออก ซึ่งถือเป็นเซ็กเตอร์สำคัญของเศรษฐกิจไทย ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ต.ค.2563 เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน แต่ในทางกลับกันการจ้างงานยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการ

สถานการณ์เศรษฐกิจหลายส่วนเริ่มปรับตัวขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกที่ตัวเลขล่าสุดเดือน ก.ย.2563 มีมูลค่า 19,621 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว ลดลง 3.86% แต่เป็นการส่งออกไทยฟื้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ถือเป็นสัญญาณที่ดีเนื่องจากการค้าโลกฟื้นตัวจากการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การส่งออกรวม 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ การส่งออกมีมูลค่า 172,996 ล้านดอลลาร์ ลดลง 7.33% และทำให้กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่าการส่งออกทั้งปีของไทยจะติดลบไม่เกิน 7% ซึ่งดีกว่าประมาณการที่หลายฝ่ายเคยคาดว่าอาจจะติดลบ 2 หลัก

ในขณะที่การสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ต.ค.2563 อยู่ที่ระดับ 50.9 ปรับเพิ่มขึ้น หากเทียบกับเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ระดับ 50.2 ซึ่งศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยืนยันว่าการที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นเป็นผลมาจากรัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านการกระตุ้นกำลังซื้ออย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาพืชผลเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีผลโดยตรงในด้านจิตวิทยาเชิงบวกมากขึ้น แม้ว่าผู้บริโภคจะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศค่อนข้างมาก

ส่วนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.ย.2563 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 3.25% เป็นการขยายตัวติดต่อกันเดือนที่ 5 รวมถึงอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน ก.ย.ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 63.07 จากเดิมที่ระดับ 60.86 ในเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 ปี 2563 อยู่ที่ระดับ 91.22 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ที่ 13.73% สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นใกล้ระดับก่อนสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคและบริโภค เช่น อุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรหลายรายการปรับตัวขึ้น โดยราคายางพาราแผ่นดิบรมควันชั้น 3 ตลาดกลางสงขลา วันที่ 13 พ.ย.2563 กิโลกรัมละ 66.76 บาท เทียบกับราคายางพาราเฉลี่ยของเดือน พ.ย.2562 ที่กิโลกรัมละ 40.44 บาท ถือว่าปรับราคาขึ้นมามาก ถึงแม้ว่าบางช่วงราคาจะลดต่ำไป ในขณะที่ราคาปาล์มน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาปาล์มน้ำมันรับซื้อที่หน้าโรงงานในแหล่งผลิตที่สำคัญ (สุราษฎร์ธานี กระบี่ และชุมพร) ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 4.10-5.00 บาท (1 ต.ค.2563) เพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 6.00-7.90 บาท (10 พ.ย.2563)

ถึงแม้ดัชนีชี้วัดหลายรายการปรับตัวดีขึ้นแต่การจ้างงานยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยวและบริการที่ยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นส่วนที่มีการจ้างงานถึง 20% ของการจ้างงานรวม โดยการว่างงานที่สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 724,000 คน ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วที่มีผู้ว่างงาน 382,000 คน ในขณะที่ผู้มีชั่วโมงทำงานต่ำกว่าสัปดาห์ละ 20 ชั่วโมง มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์การจ้างงานยังไม่ฟื้นตัว และจำเป็นที่ภาครัฐต้องเข้ามาแก้ปัญหาจุดนี้ให้เร็วขึ้นเพื่อไม่ให้ปัญหาขยายวง