เปิดรายงาน "กมธ.รัฐธรรมนูญ ก่อนรับหลักการ" ชี้ไม่ควรรับร่างแก้รัฐธรรมนูญ​รายมาตรา

เปิดรายงาน "กมธ.รัฐธรรมนูญ ก่อนรับหลักการ" ชี้ไม่ควรรับร่างแก้รัฐธรรมนูญ​รายมาตรา

กมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนรับหลักการ หลายประเด็นให้ความเห็นเป็น 2 ฝั่ง แต่มีบทสรุป กรณีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ห่วงรัฐสภารับจะเกิดองค์กรทับซ้อน-ส่อเป็นปัญหาข้อกฎหมาย

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้นัดประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 17 - 18 พฤศจิกายน เพื่อพิจารณาวาระสำคัญ คือ รายงานการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ก่อนรับหลักการจำนวน 6 ฉบับ ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้ว และเรื่องด่วน คือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 7 ฉบับ แบ่งเป็น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่เสนอโดยส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล จำนวน 1 ฉบับ, ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่เสนอโดย ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน จำนวน 5 ฉบับ และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่เสนอโดย นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) กับประชาชนผู้มีสทิธิ์เลือกตั้ง จำนวน 98,041 คน เป็นผู้เสนอ

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายงานการพิจารณาร่างรัฐธรมนูญ ก่อนรับหลักการ ที่มีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานกมธ. นั้น มีสาระที่สำคัญ  คือ การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แยกเป็นรายฉบับทั้งสิ้น 6 ฉบับ โดยนำความเห็นของกมธ.ฯ บรรจุไว้ในรายงาน แต่ไม่สรุปผลในทิศทางใดทิศทางหนึ่งอย่างชัดเจน  ทั้งนี้ความเป็นของกมธ. นั้นแบ่งเป็น 2 ฝั่งอย่างชัดเจน คือ ฝั่งที่เห็นว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่แก้ไขมาตรา 256 และให้ตั้งหมวดว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) นั้น สามารถทำได้ ไม่ขัดต่อหลักการของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นฝั่งของกมธ. ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งสนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะที่อีกฝั่งที่เห็นว่าไม่สามารถแก้ไขโดยตั้งส.ส.ร. ได้ เป็นฝั่งจากส.ว. และมีนายไพบูลย์​ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะผู้นำยื่นญัตติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการแ้กไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยส.ส.ร. นั้นขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา256 ที่กำหนดให้ทำได้ เฉพาะแก้ไขเพิ่มเติม ไม่ใช่ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ได้ให้ความเห็นโต้แย้งไว้อย่างชัดเจน 
      ทั้งนี้ยังมีประเด็นข้อกฎหมายที่น่าสนใจ  คือ กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ที่มีลักษณะการทำงานแบบซ้อนองค์กร หากมีส.ส.ร. และ รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา  ซึ่งกมธ.​ สรุปความเห็นว่า กมธ. สามารถมีมติรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับได้ เพราะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติใช้อำนาจแทนประชาชน แต่หากรัฐสภาลงมติรับร่างแก้ไขเพิ่มเติมที่เสนอแก้รายมาตรา จะมีผลให้เกิดองค์กรที่มีอำนาจทับซ้อนกัน จึงไม่พึงกระทำ เพราะขัดต่อหลักการสำคัญ​ คือ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดและมีผลย้อนแย้งในทางปฏิบัติ
      ขณะที่หากรัฐสภาไม่ลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตรา จะนำเนื้อหาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ ความเห็นของกมธ. สรุปว่า  ทำได้เพราะเป็นสิ่งที่ส.ส.ร. จะดำเนินการแต่ต้องเป็นไปภายใต้กรอบของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาลงมติแล้วอย่างเคร่งครัด.