นักการทูตฮังการีติดโควิด-19ในไทยจากรัฐมนตรี

นักการทูตฮังการีติดโควิด-19ในไทยจากรัฐมนตรี

ไทม์ไลน์ นักการทูตฮังการีติดโควิด-19ในไทยจากสัมผัสรมต.ฮังการี ประวัติอยู่ในรถเดียวกัน-รับประทานอาหารร่วม ไม่มีผู้สัมผัสเหตุกักตัวเองอยู่บ้านตั้งแต่ 5 พ.ย. ขณะที่ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงรมต.อีก 16 คนไม่ติด


           เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ที่กรมควบคุมโรค นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากที่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19ในประเทศไทยรายล่าสุด เป็นชาย อายุ 53 ปี สัญญาณฮังการี อาชีพนักการทูตนั้น จากการตรวจสอบไทม์ไลน์พบว่ามีประวัติ วันที่ 3 พ.ย. เดินทางโดยรถยนต์ไปรับรมต.ฮังการีที่ประเทศไทยตรวจพบการติดเชื้อก่อนหน้านี้ และไปส่งที่สถานที่กักกันทางเลือก มีการพูดคุยกันในรถ รับประทานอาหารร่วมกับคณะที่ห้องอาหารประมาณ 30 นาที
160499708960
      วันที่ 4 พ.ย. ผลตรวจรมต.ฮังการีพบติดโควิด-19และเดินทางกลับประเทศฮังการี  วันที่ 5-8 พ.ย.2563 มีการกักกัตนตัวเองที่บ้าน  และวันที่ 9 พ.ย.2563  ตรวจพบเชื้อตามแนวทางเฝ้าระวังกลุ่มผู้สัมผัสไม่มีอาการ ผลพบเชื้อ จึงเข้ารับการรักษาที่สถาบันบำราศนราดู ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงรมต.ฮังการีอีก 16 คน ผลการตรวจครั้งที่ 1 ไม่พบติดเชื้อ ขณะที่ผู้สัมผัสของนักการทูตรายนี้ไม่มี  เนื่องจากได้กักตัวเองตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย.แล้ว
    
     นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาการอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงความคืบหน้าผลการสอบสวนโรคที่เกี่ยวข้องกับกรณีชาวอินเดียติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า ผู้ป่วยชายชาวอินเดียที่เราตรวจพบนั้นมีเชื้อปริมาณน้อย และตรวจพบภูมิคุ้มกัน IgG จึงคาดว่าติดเชื้อนานแล้ว และจากการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดในครอบครัวประกอบด้วย และหลานสาว ผลตรวจเป็นลบ แต่พบว่าภรรยาของผู้ป่วย, น้องชาย, น้องสะใภ้ พบภูมิคุ้มกันขึ้น IgG แปลว่าทั้ง 3 ราย มีการติดเชื้อมานานหลายเดือนแล้ว และตอนนี่ไม่ถือว่าแพร่โรค ขณะที่หลานไม่พบมีภูมิคุ้มกันขึ้นแต่อย่างใด

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ส่วนผลการสอบสวนโรคในพื้นที่จังหวัดกระบี่ ภูเก็ต เชียงใหม่ และสุโขทัย เสี่ยงสูง 79 ราย (รวมคนในครอบครัว) เสี่ยงต่ำ 283 ราย ทั้งนี้ผลการตรวจไม่พบติดเชื้อเพิ่ม อย่างไรก็ตาม จากการประสานไปยังนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกระบี่พบว่าประชาชนในพื้นที่มีการสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าเพิ่มขึ้นเป็น 90% จากที่เคยตกลงไปอยู่ 60% ทั้งนี้ คาดว่าภายใน 4 – 5 วัน หากไม่มีรายงานติดเชื้อเพิ่มจะถือว่าเข้าสู่ระยะปลอดภัย สถานการณ์อยู่ภายใต้การควบคุม อย่างไรก็ตาม จากนี้มีการหารือกันว่าจะมีการสุ่มตรวจหาภูมิคุ้มกันของประชากรในพื้นที่ที่ผู้ป่วยพำนักอาศัยอยู่

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ขณะเชื่อว่าทั่วโลกมีการติดเชื้อโควิด-19 เกิน 100 ล้านราย แม้จะมีรายงานจริงเพียง 50 ล้านรายเท่านั้น ดังนั้นประเทศไทยจะต้องเพิ่มความละเอียดในการตรวจมากขึ้น และมีโอกาสที่เราจะเจอเคสในลักษณะเดียวกับชายชาวอินเดียมากขึ้น คือตรวจเจอเชื้อ มีภูมิคุ้มกันซึ่งแปลได้ว่ามีการติดเชื้อนานแล้ว ซึ่งจากนี้จะเจาะเลือดตรวจภูมิคุ้มกันทุกราย.