การบินเอเชียเร่งขายสินทรัพย์ไม่ทำเงินยุคโควิด

การบินเอเชียเร่งขายสินทรัพย์ไม่ทำเงินยุคโควิด

การบินเอเชียเร่งขายสินทรัพย์เพื่อความอยู่รอดยุคโควิด ซึ่งการขายสินทรัพย์ที่ไม่ทำรายได้จะช่วยลดการเสื่อมค่าของสินทรัพย์ได้และทำให้บริษัทมีโอกาสหวนกลับมาทำกำไรในช่วงสองสามปีข้างหน้าได้

สายการบินรายใหญ่ๆของเอเชียกำลังปรับโครงสร้างการดำเนินงานและสร้างความแข็งแกร่งแก่ฐานะการเงินเพื่อปูทางไปสู่ความสามารถในการทำกำไร หรืออย่างน้อยที่สุดก็มีรายได้เพิ่มขึ้นบ้างท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ที่ยังมองไม่เห็นสัญญาณว่าการแพร่ระบาดจะบรรเทาเบาบางลง

ในการประกาศผลประกอบการล่าสุดในกลุ่มอุตสาหกรรมการบินเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สายการบินใหญ่สุดของภูมิภาคในแง่ของมูลค่าทางการตลาดรายงานตัวเลขขาดทุนสุทธิช่วงไตรมาสเดือนก.ค.-ก.ย.แทบทั้งสิ้น เริ่มจากสิงคโปร์ แอร์ไลน์ รายงานการขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 2.34 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์(1.73 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

การขาดทุนของสายการบินทำให้หุ้นของบรรดาผู้ถือหุ้นหดหายไปและบังคับให้สิงคโปร์ แอร์ไลน์ และสายการบินอื่นๆเตรียมขอเพิ่มทุนจากบรรดาผู้ถือหุ้น ด้วยเหตุนี้ สัดส่วนหุ้นโดยรวมของเหล่าผู้ถือหุ้นในสายการบินใหญ่ๆ10 แห่งตั้งแต่ญี่ปุ่น จีน ไปจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดียร่วงลงประมาณ 8 พันล้านดอลลาร์จากปีก่อน

การูดา สายการบินแห่งชาติของอินโดนีเซีย ที่เมื่อเดือนมิ.ย.มูลค่าทางการตลาดสุทธิติดลบ พอมาถึงไตรมานี้ ตัวเลขขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 360 ล้านดอลลาร์ ทำให้ฐานะการเงินของสายการบินย่ำแย่ลงอีก เช่นเดียวกับไทย แอร์เวยส์ อินเตอร์เนชันแนลที่มูลค่าทางการตลาดสุทธิติดลบในเดือนเดียวกัน

ในญี่ปุ่น เอเอ็นเอ โฮลดิงส์ ขาดทุนรายไตรมาสที่ 79.6 พันล้านเยน (770 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)และเจแปน แอร์ไลน์ ขาดทุน 67.5 พันล้านเยน และเมื่อแยกพิจารณาทีละส่วน จะเห็นว่าสายการบินสิงคโปร์และญี่ปุ่นเสียเงินจำนวนมากไปกับการด้อยค่าของสินทรัพย์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้าง

นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ใหม่ๆ สายการบินต่างๆต้องเจอกับกฏระเบียบด้านการเดินทางที่คุมเข้มมากขึ้น และถูกบังคับให้นำเครื่องบินโดยสารลงจอด รวมถึงการปลดพนักงานในองค์กรเนื่องจากแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจการบินยังไม่สดใส

สมาคมขนส่งระหว่างประเทศ(ไออาต้า)ระบุว่าปริมาณการเดินทางทางอากาศทั่วโลกจะไม่หวนคืนมาเหมือนเดิมจนกว่าจะถึงปี2567 ทำให้สายการบินต่างๆเริ่มปรับโครงสร้างการดำเนินงานและลดขนาดธุรกิจเพื่อความอยู่รอดท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ส่วนสิงคโปร์ แอร์ไลน์ ประกาศปลดเครื่องบินโดยสารจำนวน 26 ลำจากทั้งหมด222 ลำ ซึ่งรวมถึงเครื่องบินโดยสารแอร์บัสA380เพื่อลดต้นทุนด้านการซ่อมบำรุงเป็นเงินถึง 1.33 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

เช่นเดียวกับสายการบินเอเอ็นเอที่ประกาศตัวเลขขาดทุนรายปี ต้องมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่ม 110 พันล้านเยน กับการลดเครื่องบินในฝูงบินลงกว่า10% เจแปน แอร์ไลน์ ก็คาดว่าต้องมีต้นทุนในการซ่อมบำรุงเครื่องบินรุ่นเก่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

การซ่อมบำรุงทำให้บริษัทประสบภาวะขาดทุนครั้งใหญ่ในครั้งเดียว แต่การที่ขายทิ้งสินทรัพย์ที่ไม่ทำรายได้จะช่วยลดการเสื่อมค่าของสินทรัพย์ได้ และทำให้บริษัทมีโอกาสง่ายขึ้นในการหวนกลับมาทำกำไรในช่วงสองสามปีข้างหน้า

“การปรับโครงสร้างมีขึ้นเพื่อให้เราอยู่รอดท่ามกลางวิกฤตโรคโควิด-19ระบาด เรามั่นใจว่าจะปรับปรุงความสามารถในการทำกำไรได้ในปีงบการเงินหน้า”ชินยา คาตาโนซากะ ประธานและซีอีโอเอเอ็นเอ กล่าวย้ำในการประชุมเพื่อเปิดเผยรายได้ช่วงกลางปีของสายการบินเมื่อวันที่ 27ต.ค.

เอเอ็นเอ และเจแปน แอร์ไลน์ยังเผยเค้าโครงสร้างธุรกิจในอนาคต โดยเอเอ็นเอ มีแผนที่จะเปิดตัวสายการบินโลว์คอสต์ให้บริการบินในเส้นทางระหว่างประเทศ ส่วนเจแปน แอร์ไลน์จะขยายแบรนด์สายการบินต้นทุนต่ำเช่นกัน

เมื่อเดือนที่แล้ว สิงคโปร์ แอร์ไลน์ ประกาศโครงการปรับเปลี่ยนองค์กรระยะเวลา 3 ปีเพื่อเป็นหลักประกันว่าบริษัทจะฝ่าฟันความท้าทายต่างๆที่เป็นผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19ได้และกลับมามีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งในระยะยาวได้

แต่การหวนกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง ยังคงเป็นปัญหาคาใจสายการบินหลายแห่ง ซึ่งนักวิเคราะห์ด้านการบินมีฐานดำเนินงานอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ความเห็นว่า การขายสินทรัพย์ไม่ทำเงินออกไปจะช่วยลดการขาดทุนในปีหน้าได้แต่ความสามารถในการทำกำไรได้หรือไม่ได้นั้นขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของวัคซีนและการกระจายวัคซีนให้ทั่วถึง ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

ด้านสายการบินจีน เป็นผู้นำในการฟื้นตัวของธุรกิจการบิน เริ่มจาก ไชนา เซาธ์เทิร์น แอร์ไลน์ หวนกลับมามีกำไรสุทธิที่ 711 ล้านหยวน(108 ล้านดอลลาร์)ในไตรมาสเดือนก.ค.-ก.ย. อานิสงส์จากความต้องการเดินทางในประเทศที่ขยายตัวอย่างมาก

ผลประกอบการในไตรมาสล่าสุดของสายการบินต่างๆไม่ได้บ่งบอกแค่ว่าสายการบินนั้นๆมีผลกำไรอยู่ในระดับไหน แต่ยังทำให้รู้ว่ากระแสเงินสดของสายการบินเหล่านี้ปรับปรุงดีขึ้นแค่ไหนด้วย อย่างกรณี ไชนา อิสเทิร์น แอร์ไลน์ ที่รายงานกระแสเงินสด 9.1 พันล้านหยวน นับจนถึงเดือนก.ย.มากกว่าช่วงต้นปี6.7 เท่า ส่วนความสามารถในการกู้ยืมอยู่ที่ 82.5 พันล้านหยวนเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าของเมื่อปี 2562

แต่เรื่องราวของสายการบินจีนแตกต่างจากสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิก แอร์เวย์ ที่หลังจากประกาศแผนปรับโครงสร้างรอบล่าสุดไปแล้วแต่สายการบินยังต้องใช้จ่ายเงินประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกงต่อเดือนในการให้บริการผู้โดยสารในสัดส่วนไม่ถึง10% ของช่วงก่อนเกิดโรคโควิด-19 ระบาด

ส่วนสายการบินอื่นๆในตลาดเกิดใหม่ก็อยู่ในสถานการณ์เลวร้ายไม่แพ้กัน อย่างอินเตอร์โกลบ อะวิเอชัน ซึ่งบริหารสายการบินอินดิโก สายการบินใหญ่สุดของอินเดีย ขาดทุนสุทธิ11.9 พันล้านรูปี