กรมชลประทานประกาศงดสนับสนุนทำนาปรัง

 กรมชลประทานประกาศงดสนับสนุนทำนาปรัง

กรมชลประทาน ย้ำ แล้งนี้มีน้ำน้อย ลุ่มเจ้าพระยา งดทำนาปรัง 4 เขื่อนหลัก 5,771 ล้าน ลบ.ม. ใช้เพื่ออุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เท่านั้น

นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทน อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูแล้งปี 63/64 กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำ(ระหว่าง 1 พ.ย. 63 – 30 เม.ย. 64) ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ใช้น้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ รวมกันประมาณ 5,771 ล้าน ลบ.ม. เน้นสนับสนุนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก ให้กับ 22 จังหวัดภาคกลาง ตลอดระยะเวลา 9 เดือน

160491190146

 แบ่งเป็นฤดูแล้ง 6 เดือน(ระหว่าง 1 พ.ย. 63 – 30 เม.ย. 64)และสำรองไว้ใช้กรณีฝนทิ้งช่วงต้นฤดูฝนปี 64 อีก 3 เดือน(ระหว่าง พค. - กค. 64) ส่วนข้าวนาปี ปี 63 ที่มีบางส่วนปลูกล่าช้า เนื่องจากมีฝนตกน้อยในช่วงต้นฤดูฝน นั้น กรมชลประทาน จะช่วยเหลือพื้นที่เหล่านี้ด้วยการใช้น้ำท่าในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อไม่ให้ข้าวที่กำลังออกรวงได้รับความเสียหาย

ทั้งนี้ เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในช่วงฤดูแล้งนี้อยู่ในเกณฑ์น้อย ทำให้ไม่สามารถส่งน้ำสนับสนุนการทำนาปรังได้ จึงขอให้เกษตรกรหันมาทำการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน เพื่อลดความเสียหายต่อผลผลิต

160491194612

ยกเว้นเกษตรกร ที่มีแหล่งน้ำของตนเองเพียงพอ เช่น สระน้ำ บ่อน้ำบาดาลน้ำตื้น สามารถทำการเพาะปลูกข้าวนาปรังได้ตามศักยภาพของตน เนื่องจากการทำนาปรังในฤดูแล้ง อากาศจะแห้ง ไม่มีความชื้น ทำให้ต้องใช้น้ำมาก ซึ่งในส่วนของลุ่มเจ้าพระยา หากจะให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการทำนาปรังได้นั้น ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก จะต้องมีปริมาณรวมกันมากกว่า 12,000 ล้าน ลบ.ม. ขึ้นไป

 

 สำหรับเกษตรกรที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถปรึกษาหรือสอบถาม เส้นทางน้ำ และปริมาณน้ำ ได้ที่ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษา โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา หรือโครงการชลประทาน ใกล้บ้าน รวมไปถึงกลุ่มผู้ใช้น้ำกว่า 3,000 กลุ่มในภาคกลางท และอาสาสมัครชลประทานอีกกว่า 1,500 คน ที่พร้อมจะให้ข้อมูลน้ำที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรได้อย่างทั่วถึง หรือสอบถามได้ที่สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ชลประทานบริการประชาชน