กรรมการสมานฉันท์ บทพิสูจน์ลดความขัดแย้ง

กรรมการสมานฉันท์ บทพิสูจน์ลดความขัดแย้ง

"คณะกรรมการสมานฉันท์" ไม่ใช่เครื่องมือใหม่ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งของไทย รอบ 15 ปีที่ผ่านมามีการตั้งแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง และล่าสุดการประชุม สมัยวิสามัญ ก็มีการจัดตั้งเช่นกัน เป็นการเปิดเวทีพูดคุยกัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการแก้ปัญหา

การประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 1 (สมัยวิสามัญ) ในวันที่ 26-27 ต.ค.2563 ถือเป็นอีกหนึ่งความพยายามในการใช้กลไกของฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อร่วมกันหาทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งแม้จะไม่สามารถหาข้อสรุปที่จะแก้ปัญหาให้ได้ 100% แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการแก้ปัญหา ซึ่งมีสมาชิกรัฐสภาหลายคนเสนอทางออกด้วยการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ขึ้นมาหรือเปิดเวทีพูดคุยกัน

คณะกรรมการสมานฉันท์ไม่ใช่เครื่องมือใหม่ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งของประเทศไทย ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์อย่างน้อย 2 ครั้งเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในแต่ละยุค โดยในปี 2548 มีการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน มีเป้าหมายเพื่อสร้างสันติสุขให้กับพื้นที่ชายแดนภาคใต้ 3 จังหวัด ซึ่งนำมาสู่ข้อเสนอเอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์ที่ประกอบด้วยมาตรการสมานฉันท์เฉพาะหน้าและมาตรการสมานฉันท์ยั่งยืน

ต่อมาในปี 2553 มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน โดยตั้งขึ้นมาทำหน้าที่ค้นหาความจริงหลังเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่รุนแรง ซึ่งการตั้งคณะกรรมการลักษณะนี้มีหลายประเทศหลังจากเกิดความไม่สงบภายในประเทศ ตั้งแต่การก่อจลาจลไปจนถึงสงครามกลางเมือง โดยรายงานที่ออกสามารถสร้างข้อสรุปของปัญหาเพื่อเป็นบทเรียนให้ประเทศ และนำเสนอทางออกของปัญหา

ในขณะที่รายงานฉบับสมบูรณ์ของ คอป.ได้สรุปข้อเสนอแนะไว้มีเป้าหมายเพื่อสร้างความปรองดองให้กับประเทศ โดยระยะเร่งด่วน ทุกฝ่ายต้องยุติการดำเนินการที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งและทำลายบรรยากาศของการสร้างความปรองดอง ส่วนระยะกลาง ทุกฝ่ายต้องเปิดใจกว้างรับฟังความเห็นแตกต่าง เคารพสิทธิ เสรีภาพและรัฐต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และระยะยาว ประชาชนต้องทำความเข้าใจรากเหง้าของความขัดแย้งเพื่อร่วมหาแนวทางแก้ไข

ถึงแม้มีความเห็นตรงกันหลายฝ่ายถึงการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการเจรจา แต่สิ่งสำคัญจุดหนึ่งที่ผ่านมาคือ การเจรจาที่อยู่บนจุดยืนของตัวเองอย่างเข้มแข็งไม่สามารถหาจุดร่วมในการแก้ปัญหาได้ การชุมนุมทางการเมืองปี 2553 มีการตั้งโต๊ะเจรจาระหว่างรัฐบาลและกลุ่มผู้ชุมนุม แต่การชุมนุมครั้งนี้ไม่ได้จบลงได้ด้วยการเจรจา ในขณะที่รายงาน คอป.ที่เสนอแนวทางสร้างความปรองดองระยะยาว แต่มีการนำข้อเสนอมาใช้เพียงบางข้อเพื่อตอบโจทย์การเมืองมากกว่าการปรองดอง การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์รอบใหม่จึงควรนำข้อสังเกตนี้มาพิจารณาด้วย