กักตัวบนเรือยอร์ช แผนใหม่บูมท่องเที่ยวไทย

กักตัวบนเรือยอร์ช แผนใหม่บูมท่องเที่ยวไทย

ครม.ไฟเขียวเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเรือยอร์ชเข้าประเทศ วางเงื่อนไขกักตัวบนเรือ 14 วันบนเรือก่อนให้วีซ่า STV พำนักในประเทศไทยได้ 90 วันและต่ออายุได้ คาดดึงายได้เข้าประเทศ 2.1พันล้านบาท

ในปี 2563ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างรุนแรงโดยรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศติดลบ100% ตั้งแต่เดือน เม.ย.เป็นต้นมา ขณะที่อัตราการเข้าพักในโรงแรมทั่วประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30% ในเดือนก.ย.เพิ่มขึ้นจากช่วงที่มีการล็อกดาวน์ที่อัตราการเข้าพักในโรงแรมลดลงเหลือ 2.3% ในเดือน เม.ย.และเพิ่มขึ้นเป็น 13.4% ในเดือนมิ.ย.อย่างไรก็ตามอัตรการเข้าพักที่เพิ่มขึ้นยังกระจุกตัวอยู่ในจังหวัดที่อยู่ในรัศมีไม่ไกลจาก กทม.ขณะที่การท่องเที่ยวในภาคใต้ที่ปกติพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติยังซบเซาอย่างมาก

ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบในหลักการแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist Visa (STV) โดยจะออกประกาศให้คนต่างด้าวที่มีคุณสมบัติ ตามที่กำหนดมีสิทธิ์ขอรับการตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยว STV ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมืองได้ภายใน 30 วันหลังจากมีประกาศบังคับใช้ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2564

สำหรับคุณสมบัติที่กำหนดของคนต่างด้าวที่มีสิทธิ์ขอรับการตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยวSTV มีดังนี้ 

-เป็นบุคคลต่างด้าวที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวโดยเรือสำราญและกีฬา(เรือยอร์ช)ในกลุ่มผู้ควบคุมยานพาหนะ หรือเจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะ 

-ผู้โดยสาร ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำหรือความเสี่ยงปานกลาง ตามการจัดกลุ่มประเทศด้านการแพทย์และสาธารณสุข 

สำหรับการผ่อนคลายผู้ไม่มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักรตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวจะต้องยอมรับการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 และยินยอมกักตัวภายในเรือไม่น้อยกว่า 14 วัน พร้อมกับมีหลักฐานเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อท่องเที่ยวโดยเรือสำราญและกีฬา ยกเว้นเป็นคนที่อยู่บนเรือมาตั้งแต่ก่อนการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินในวันที่ 25 มี.ค.2563

นอกจากนี้ ยังต้องมีหลักฐานกรมธรรม์การทำประกันสุขภาพที่คุ้มครองตรวจรักษาโรคโควิด-19 ในวงเงิน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอดช่วงเวลาที่อยู่ในประเทศไทย รวมถึงการทำประกันสุขภาพและอุบัติเหตุของไทยคุ้มครองตลอดระยะเวลาที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยมีจำนวนเงินประกันภัยสำหรับค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยนอก ไม่น้อยกว่า 40,000 บาท และผู้ป่วยในไม่น้อยกว่า 400,000 บาท และมีหลักฐานการชำระเงินล่วงหน้าในการเช่าจองสถานที่จอดเรือ พร้อมปฏิบัติตามประกาศของกรมเจ้าท่าว่าด้วยแนวปฏิบัติสำหรับเรือสำราญและกีฬา(เรือยอร์ช)ที่เข้ามาในน่านน้ำไทย

สำหรับบุคคลต่างด้าวที่มากับเรือยอร์ช ที่ผ่านคุณสมบัติข้างต้นแล้วจะขอรับการตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยวSTV จะเสียค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราครั้งละ 2,000 บาท ได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยได้เป็นเวลา 90 วัน นับแต่วันที่เดินทางเข้ามา 

ก่อนหน้านี้น.พ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกประจำศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินจากโควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่าการผ่อนปรนให้เรือยอร์ชท่องเที่ยวเข้าประเทศจะมีเรือซูเปอร์ยอร์ชและเรือ Cruiser ที่มีความต้องการเดินทางเข้ามาประมาณ 60 ลำ รวมคนที่จะเข้ามาประมาณ 600 – 650 คน คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศประมาณ 2,100 บาทจากการผ่อนคลายมาตรการนี้

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มาเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวว่าในวันจันทร์ที่ 2 พ.ย.นี้ระหว่างการลงพื้นที่ตรวจราชการและประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการจ.ภูเก็ต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวโดยจะประชุมฯร่วมกับผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว จ.ภูเก็ต และจ.ใกล้เคียง ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ทั้งนี้การประชุมในครั้งนี้ภาครัฐต้องการฟังข้อเสนอจากภาคเอกชนเกี่ยวกับมาตรการที่ต้องการให้รัฐให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็น ปัญหาอุปสรรค และแนวทางที่เป็นไปได้ที่จะมีการเปิดให้จังหวัดภูเก็ตเป็นพื้นที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติิเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางที่เคยเสนอมาก่อนหน้านี้แล้วแต่ยังไม่ได้ข้อสรุป

ชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ในการหารือแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวครั้งนี้ ทางภาคเอกชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตจะรายงานสถานการณ์ท่องเที่ยวภายในจังหวัดภูเก็ตให้กับนายกรัฐมนตรีรับทราบ โดยเฉพาะในแนวทางการเตรียมความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตามนโยบายรัฐบาล เช่นเดียวกับการเสนอแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบด้านต่างๆ ซึ่งในรายละเอียดนั้นทางสมาคมท่องเที่ยวของภูเก็ตจะเป็นผู้รายงานด้วยตัวเอง

ดอน ลิ้มนันทพิสิฐ ประธานชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต กล่าวว่า ทางชุมชุนเมืองเก่าจะนำเสนอนายกรัฐมนตรีให้ช่วยหาทางส่งเสริมการท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต เพื่อให้เป็นการท่องเที่ยวโดยชุมชน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมมากยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบันนี้แม้ย่านเมืองเก่าภูเก็ตจะมีชื่อเสียงอยู่แล้วแต่ก็ต้องพัฒนาต่อไป เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชม โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นเสน่ห์ที่สำคัญของที่นี่ ขณะเดียวกันทางชุมชนยังเตรียมความพร้อมในการนำคณะนายกฯ เยี่ยมชมย่านเมืองเก่าภูเก็ตด้วย