"แอมเนสตี้" จี้ "ไทย" เคารพสิทธิ ผู้ชุมนุม

"แอมเนสตี้" จี้ "ไทย" เคารพสิทธิ ผู้ชุมนุม

แอมเนสตี้ฯ ไทย ออกแถลงการณ์ผ่านเว็ปไซต์ให้รัฐบาลไทยเคารพสิทธิชุมนุม-ความเห็นต่าง ตามพันธกรณีระหว่างประเทศ

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มิงยู ฮาห์ รองผู้อำนวยการภูมิภาคด้านการรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ ผ่านหน้าเว็ปไซต์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์ เรียกร้องให้ทางทางไทยหาทางเจรจากับผู้ชุมนุม เพื่อให้สถานการณ์การชุมนุมเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น พร้อมให้ความเห็นต่อการจับกุมมวลชนที่เข้าร่วมชุมนุมกับคณะราษฎร63 รวม 22 คนว่า เป็นวิธีที่ไม่ชอบธรรม ทั้งนี้การชุมนุมที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างสงบ ทั้งนี้ควรเปลี่ยนแนวทาง โดยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ที่จะเคารพสิทธิของบุคคลทุกคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นโดยสงบ ทั้งผ่านทางโซเชียลมีเดียและการชุมนุมบนท้องถนน

         “การดำเนินงานของรัฐเช่นนี้มีเจตนาอย่างชัดเจนเพื่อปราบปรามผู้ที่มีความเห็นต่าง ทำให้เกิดความหวาดกลัวในกลุ่มประชาชนที่เห็นด้วยกับผู้ชุมนุม เราขอเรียกร้องให้ตำรวจไทยปล่อยตัวผู้ชุมนุมโดยสงบทั้งหมดทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข และผู้ชุมนุมทุกคนที่ถูกควบคุมตัวจะต้องสามารถติดต่อทนายความได้ การจับกุมครั้งนี้และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างฉับพลันในยามวิกาล เป็นการเพิ่มมาตรการปราบปรามเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบของไทย”

160272753057

         ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในแถลงการณ์ดังกล่าว ยังให้ข้อมูลด้วยว่า เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ทางการไทยสั่งห้ามการชุมนุมของบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปในกรุงเทพฯ โดยไม่มีเวลากำหนด คำสั่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อยุติการชุมนุมที่บานปลาย คำสั่งห้ามดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เวลาสี่นาฬิกา ทั้งยังเป็นคำสั่งห้ามการตีพิมพ์เผยแพร่ข่าวสารหรือข้อความออนไลน์ซึ่ง “อาจทำให้เกิดความหวาดกลัว” ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือทำลายศีลธรรมอันดีของสังคม

         ตามรายงานข่าว มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 20 คนช่วงเช้ามืด ในข้อหาละเมิดการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 เพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งในตอนนั้นแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เรียกร้องไม่ให้ทางการไทยใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน