การย้ายถิ่นกับโอกาสทางศก.ของคนไทยในต่างแดน

การย้ายถิ่นกับโอกาสทางศก.ของคนไทยในต่างแดน

การส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนไทยในต่างประเทศเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของ “นโยบายการทูตเพื่อประชาชน” สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ทั่วโลกจึงสนับสนุนการรวมกลุ่มของชาวไทยผ่านกิจกรรมทางศาสนา ประเพณี กีฬา การจัดตั้งเครือข่ายคนไทยและองค์กรที่เป็นประโยชน์

การส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนไทยในต่างประเทศเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของ “นโยบายการทูตเพื่อประชาชน” สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ทั่วโลกจึงสนับสนุนการรวมกลุ่มของชาวไทยผ่านกิจกรรมทางศาสนา ประเพณี กีฬา การจัดตั้งเครือข่ายคนไทยและองค์กรที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต รักษาผลประโยชน์ตามกฎหมายและยกระดับคุณภาพของชาวไทยในต่างประเทศ

รวมถึงการส่งเสริมทักษะอาชีพด้านต่าง ๆ เพื่อให้ชาวไทยมีโอกาสสร้างอาชีพและรายได้ที่เพียงพอเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวอย่างมีศักดิ์ศรีและยั่งยืนในต่างประเทศ แต่ประวัติศาสตร์และกระบวนการย้ายถิ่นของคนไทยในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเข้าเมืองของชาวต่างชาติและสิทธิพำนักของประเทศปลายทางล้วนส่งผลต่อรูปแบบการย้ายถิ่นฐาน สัดส่วนและคุณลักษณะประชากรไทยในประเทศในแต่ละช่วงเวลา ด้วยเหตุนี้ การทำความเข้าใจบริบทต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้อย่างรอบด้าน จึงมีความสำคัญต่อการวิเคราะห์แนวทางสนับสนุนอาชีพและโอกาสทางเศรษฐกิจของชาวไทยในต่างแดน

จากกรณีศึกษาของการย้ายถิ่นฐานของชาวไทยในเยอรมนี พบว่า ปัจจุบัน มีคนไทยอาศัยในเยอรมนีกว่า 6 หมื่นคน มีสัดส่วนผู้หญิงสูงถึงร้อยละ 87 และส่วนใหญ่แต่งงานอย่างถูกกฎหมายกับพลเมืองเยอรมัน งานวิจัยหลายชิ้นระบุ ความเชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญระหว่างการย้ายถิ่นของชาวไทยกับกฎหมายชาวต่างชาติ (Aliens Acts) ของเยอรมนีซึ่งเริ่มบังคับใช้ในปี 2533 ผู้หญิงไทยส่วนใหญ่เลือกใช้การแต่งงานเป็นช่องทางรับสิทธิพำนักในเยอรมนี ซึ่งจะทำให้พวกเธอมีโอกาสทำงานอย่างถูกกฎหมาย

จึงอาจกล่าวได้ว่า กฎหมายการเข้าเมืองของเยอรมนีเป็นกลไกสำคัญที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการย้ายถิ่นของหญิงไทยให้กลายเป็นการย้ายถิ่นฐานผ่านการสมรส (Marriage Migration) ต่อมา ในปี ค.ศ. 2005 เยอรมนีได้ประกาศใช้กฎหมายสิทธิพำนัก (Residence Act) ซึ่งรวบรวมบทบัญญัติเกี่ยวกับการเข้าเมืองของชาวต่างชาติ ได้แก่ สิทธิพำนัก วัตถุประสงค์ของการพำนัก การยกเลิกสิทธิพำนัก และกระบวนการขอลี้ภัย

และในปี 2550 ได้มีการปรับปรุงเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิพำนักและการขอลี้ภัยตามข้อกำหนดของสหภาพยุโรป การป้องกันการแต่งงานแบบหลอกลวงหรือถูกบังคับ การเพิ่มความมั่นคงภายในประเทศ การดำเนินการตามข้อมติในการประชุมรัฐมนตรีมหาดไทยที่เกี่ยวกับกฎหมายภายในประเทศ รวมทั้งบทบัญญัติเกี่ยวกับการเข้าสู่สังคมของผู้ย้ายถิ่นฐานที่ถูกกฎหมาย

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวระบุด้วยว่า ผู้ย้ายถิ่นฐานมีหน้าที่ต้องเรียนภาษาเยอรมันและผ่านหลักสูตรการเข้าสู่สังคมเยอรมัน ต้องมีความรู้ เคารพ และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายของเยอรมนี ผู้ย้ายถิ่นที่ผ่านหลักสูตรการเข้าสู่สังคมแล้ว จะสามารถลดระยะเวลาในการขออนุญาตมีถิ่นพำนักและการขอสิทธิ์เป็นพลเมืองได้

จากผลงานวิจัยเกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานของคนไทยหลังการประกาศใช้กฎหมายสิทธิพำนักปี 2548 พบว่า กฎหมายดังกล่าวได้นำไปสู่แบบแผนการปรับตัวของชาวไทยที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อน โดยเฉพาะการเรียนรู้ภาษาและความพยายามที่จะเข้าสู่สังคมเยอรมัน อย่างไรก็ตาม แม้ชาวไทยย้ายถิ่นฐานรุ่นหลังจะมีระดับการศึกษาสูงกว่าคนรุ่นก่อน แต่ก็ยังประสบความยากลำบากกับการหางานในเยอรมนี

สำหรับผู้หญิงที่เป็นเสาหลักทางการเงินของครอบครัวในไทยและจำเป็นต้องหารายได้ส่งกลับไปเลี้ยงพ่อแม่และบุตร จะนิยมประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนวดและสปา เนื่องจากใช้ทุนต่ำและมีกฎระเบียบข้อบังคับน้อยกว่าหลายกิจการ เช่น ร้านอาหาร นอกจากนี้ คนไทยย้ายถิ่นส่วนใหญ่ยังมีข้อจำกัดด้านการเงินและความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจในต่างแดน จึงยากที่จะมีโอกาสเป็นเจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการโดยปราศจากการสนับสนุนของคู่สมรส รวมไปถึงไม่มีความสามารถที่จะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เพื่อนผู้ย้ายถิ่นคนอื่นๆ ได้ เนื่องจากการตัดสินใจทางการเงินส่วนใหญ่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากคู่สมรส เป็นต้น

ในอดีต การย้ายถิ่นฐานของคนไทยส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อโอกาสทางเศรษฐกิจแต่ในปัจจุบันพบว่า มีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง อาทิ การสร้างครอบครัว การเปิดประสบการณ์ใหม่ในชีวิต

นอกจากนี้ การย้ายถิ่นฐานยังไม่ได้นำมาซึ่งโอกาสทางเศรษฐกิจหรือการเติบโตด้านรายได้เสมอไป ในกรณีของผู้ย้ายถิ่นผ่านการสมรส พบว่า จำนวนไม่น้อยต้องประสบปัญหาว่างงาน รายได้ลดลง ทำงานที่ระดับต่ำกว่าหรือไม่ตรงกับวุฒิการศึกษาดังที่เคยทำในประเทศไทย ด้วยข้อจำกัดด้านภาษาและมาตรฐานทักษะฝีมือแรงงานของผู้ย้ายถิ่นฐาน การสนับสนุนจากภาครัฐของทั้งประเทศต้นทางและประเทศปลายทางจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน การเข้าสู่สังคม และโอกาสทางเศรษฐกิจของกลุ่มชาวไทยย้ายถิ่นฐานเหล่านี้