'อ็อกแฟม'ชี้รัฐบาลทั่วโลกล้มเหลว3ด้านทำคนติดโควิดเพิ่ม

'อ็อกแฟม'ชี้รัฐบาลทั่วโลกล้มเหลว3ด้านทำคนติดโควิดเพิ่ม

อ็อกแฟมชี้โลกล้มเหลว3ด้านทำคนติดโควิดเพิ่ม ขณะ10ประเทศรวมสิงคโปร์และเซียร์รา ลีโอนไม่มีกฏหมายการจ่ายค่าจ้างอย่างเท่าเทียมหรือการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมทางเพศในที่ทำงาน

อ็อกแฟม เผยแพร่รายงานล่าสุดบ่งชี้ว่ารัฐบาลประเทศต่างๆทั่วโลกประสบความล้มเหลวมานานหลายทศวรรษ โดยเฉพาะล้มเหลวใน 3 ด้านหลักๆ ที่ทำให้ประชากรโลกมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 นั่นคือ ความล้มเหลวด้านการใช้จ่ายเพื่อการดูแลและรักษาสุขภาพพลเมืองในประเทศ ความล้มเหลวในการเก็บภาษีคนรวยมาช่วยคนจน และความล้มเหลวในการสร้างหลักประกันด้านสิทธิแรงงาน ทำให้คนตกงาน ไร้ที่อยู่อาศัย เร่รอนตามท้องถนน

รายงานวิเคราะห์จากอ็อกแฟมและการพัฒนาการเงินระหว่างประเทศ(ดีเอฟไอ) ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันพุธ(7ต.ค.)ระบุว่า ความล้มเหลวที่กล่าวมาทำให้ไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนและคนรวยได้และทำให้เศรษฐกิจของประเทศต่างๆตั้งรับไม่ทันเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

“รัฐบาลประเทศต่างๆไม่สามารถผลักดันให้มีการใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพอย่างเพียงพอ ล้มเหลวในการให้ความคุ้มครองแรงงานในประเทศของตน โดยเฉพาะในเรื่องการได้รับเงินชดเชยเมื่อเจ็บป่วย และไม่สามารถเก็บภาษีจากคนรวยเพื่อนำมาช่วยคนจนได้ ”เชมา เวรา รักษาการณ์ผู้อำนวยการบริหารของอ็อกแฟม กล่าว

ข้อมูลจากประเทศต่างๆที่ให้คำมั่นร่วมมือลดความเหลื่อมล้ำในสังคมโลกในการจัดทำดัชนีลดความไม่เท่าเทียม (CRI) บ่งชี้ว่า มีแค่ 26 ประเทศจากทั้งหมด 158 ประเทศเท่านั้นที่จัดสรรงบประมาณ 15% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ไปกับการดูแลสุขภาพ ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 และมี 103 ประเทศที่หนึ่งในสามของแรงงานไม่ได้รับการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐาน อาทิ ได้รับเงินชดเชยเมื่อเจ็บป่วย

160220099831

รายงานล่าสุดฉบับนี้ของอ็อกแฟม ยังระบุว่า มีเพียง53ประเทศเท่านั้นที่มีแผนให้ความคุ้มครองทางสังคมแก่แรงงานเมื่อถูกนายจ้างบอกเลิกจ้างและเจ็บป่วย และแรงงานในส่วนนี้มีสัดส่วนแค่ 22% ของแรงงานทั่วโลก

ก่อนโควิด-19 ระบาด อินเดีย จัดสรรงบประมาณแค่ 4% ให้กับการดูแลสุขภาพ และขณะนี้อินเดียอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการระบาดของโรคโควิด-19รุนแรงที่สุดในโลก แต่ประชากรแค่50% เท่านั้นที่เข้าถึงการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน

“ตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ความเหลื่อมล้ำไม่ใช่แค่เป็นปัญหาใหญ่ของประชาคมโลก แต่กลับขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆในพื้นที่ต่างๆที่มีศักยภาพในการรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ”เปโดร คอนเซกัว ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนามนุษย์ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นดีพี)ระบุ

เมื่อมองภาพรวมทั่วโลก จะพบว่า ผู้หญิงได้รับผลกระทบหนักสุดจากปัญหาการชลอตัวของเศรษฐกิจและการตกงานของผู้คนจำนวนมาก และในยุคที่โรคโควิด-19ระบาดหนัก ผู้หญิงก็ต้องดูแลลูกโดยไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินใดๆ ทั้งยังเผชิญกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นทั่วโลกด้วย

รายงานอ็อกแฟม ระบุว่า เกือบครึ่งของประเทศที่มีชื่ออยู่ในดัชนี CRI ไม่มีกฏหมาย หรือบทบัญญัติที่จะรับมือกับการข่มขืน หรือ ล่วงละเมิดทางเพศ และ10ประเทศซึ่งรวมถึง สิงคโปร์ และเซียร์รา ลีโอนไม่มีกฏหมายการจ่ายค่าจ้างอย่างเท่าเทียม หรือการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมทางเพศในที่ทำงาน

รายงานชิ้นนี้ของอ็อกแฟมระบุว่า ความล้มเหลวในการจัดการทั้ง3ด้านดังที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้คนจนยิ่งจนลงไปอีกแม้แต่ในประเทศที่มีฐานะมั่งคั่ง โดยแม้แต่ประเทศที่มีอันดับดีในดัชนี อย่าง เยอรมนี เดนมาร์ก นอร์เวย์ และสหราชอาณาจักรยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินนโยบายสำคัญๆที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมมานานหลายทศวรรษ

160220103499

เดนมาร์ก สนับสนุนนโยบายด้านภาษีที่เพิ่มความไม่เท่าเทียมกันในสังคมมากขึ้น ในช่วง10ปีที่ผ่านมา การเติบโตของรายได้ประชากรในแต่ละวันหยุดชะงักอยู่กับที่และลดงบประมาณด้านการศึกษาจนทำให้เกิดความวิตกกังวล และขณะนี้คนที่มีฐานะร่ำรวยที่สุด 10% ถือครองความมั่งคั่งของประเทศโดยรวมเกือบ50%

“รัฐบาลประเทศต่างๆต้องกระจายความมั่งคั่งอย่างทั่วถึงและผลักดันนโยบายต่างๆที่ต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ผลักดันนโยบายที่สร้างหลักประกันว่าจะเป็นทางออกให้แก่ความยากจนแบบถาวร แม้ท่ามกลางสถานการณ์ช็อคโลกอย่างการระบาดของโรคโควิด-19 ”เวรา จากอ็อกแฟม กล่าว

ขณะที่รายงานวิเคราะห์ของสหรัฐเกี่ยวกับการรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นเพียงส่วนประกอบข้อกังวลของบรรดาผู้เชี่ยวชาญจากกลุ่มอ็อกแฟม โดยในสหรัฐ การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชากรผิวดำและชุมชนลาตินอเมริกาอย่างมาก ตอกย้ำถึงความไม่เท่าเทียมกันในด้านต่างๆ ทั้งการดูแลสุขภาพ ที่อยู่อาศัยและการจ้างงาน

ข้อมูลในรายงานเป็นเหมือนสัญญาณเตือนที่ส่งไปถึงรัฐบาลประเทศต่างๆที่กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตด้านสาธารณสุขโลกในขณะนี้

“ช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยที่เพิ่มขึ้นเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 จะยิ่งขยายกว้างขึ้นไปอีก และจะนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยทางการเมือง รวมทั้งสร้างความโกรธแค้นในหมู่ประชาชน ความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่เรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เป็นทางเลือกในการดำเนินนโยบาย ซึ่งถ้าหากรัฐบาลประเทศต่างๆเลือกที่จะเพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคมต่อไป สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือหายนะของประเทศ”เวรา กล่าว