เปิดปูม 'ผู้นำสหรัฐ' ปิดบังอาการป่วย

เปิดปูม 'ผู้นำสหรัฐ' ปิดบังอาการป่วย

แม้กรณี "โดนัลด์ ทรัมป์" ติดโควิด-19 ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเขาตั้งใจปกปิดอาการป่วยแต่แรกหรือไม่ แต่ก่อนหน้านี้ อดีตผู้นำสหรัฐหลายคนก็เคยปกปิดอาการป่วยของตัวเอง ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของประเทศ ที่จำเป็นต้องมีผู้นำที่มีความสามารถในการบริหารประเทศ

หากว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐเลือกที่จะปิดบังอาการป่วยของตัวเอง กรณีติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 เขาจะถูกนำเข้าไปอยู่ในทำเนียบผู้นำในอดีตของสหรัฐที่ปกปิดอาการป่วยของตัวเอง ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของประเทศที่จำเป็นต้องมีผู้นำที่มีความสามารถในการบริหารประเทศ หนึ่งในอดีตผู้นำสหรัฐที่ถูกกล่าวถึงในทีนี้ รวมถึง ประธานาธิบดีวู้ดโรว์ วิลสัน เมื่อปี 2462 ที่ปิดบังอาการป่วยจากโรคไข้หวัดสเปน

เมื่อวันศุกร์ (2 ต.ค.) โฆษกประธานาธิบดีทรัมป์ แถลงว่า ประธานาธิบดีมีไข้เล็กน้อย ซึ่งเป็นภาวะอาการแบบไม่รุนแรงของโควิด-19 และมีกำลังใจที่ดีแต่ในความเป็นจริงคือ ประชาชนยังไม่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับอาการป่วยของประธานาธิบดีอีกมาก แถมทีมแพทย์ยังเผยข้อมูลเพิ่มเติมไม่มากในช่วงบ่ายของวันศุกร์ว่า ให้การรักษาประธานาธิบดีด้วยยาต้านไวรัส ซึ่งผู้นำสหรัฐมีอาการอ่อนล้าแต่มีกำลังใจที่ดี ก่อนจะถูกส่งตัวไปเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทหารวอลเตอร์ รีดในช่วงวันนั้น

ฌอน คอนลีย์ แพทย์ประจำทำเนียบขาวเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ได้รับการรักษาด้วยการให้ยาเรมเดซิเวียร์ ซึ่งเป็นยารักษาโรคโควิด-19 ที่ผลิตโดยบริษัทกิลเลียด ไซแอนเซส (Gilead Sciences) และปธน.ทรัมป์ ซึ่งขณะนี้พักรักษาตัวอยู่ที่ศูนย์การแพทย์ทหารแห่งชาติวอลเตอร์ รีดในเมืองเบเธสดา รัฐแมริแลนด์ ได้รับประทานยาโดสแรกเสร็จแล้ว และกำลังพักผ่อนอย่างสบาย

คอนลีย์ ระบุด้วยว่า เขาแนะนำให้ย้ายปธน.ทรัมป์ไปที่วอลเตอร์ รีดในช่วงบ่ายวันศุกร์เพื่อเฝ้าระวังอาการเพิ่มเติม โดยจะมีการปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญต่างๆ จากโรงพยาบาลทหาร และมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์

"ผมมีความยินดีที่จะรายงานให้ทราบว่า ท่านปธน.ทรัมป์สบายดีอย่างมาก ท่านไม่ต้องการออกซิเจนเสริมใดๆ และในการปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญ เราได้เลือกที่จะเริ่มการรักษาท่านด้วยยาเรมเดซิเวียร์" คอนลีย์ กล่าว

ด้านปธน.ทรัมป์ได้ทวีตจากวอลเตอร์ รีดเมื่อคืนวันศุกร์ว่า “การรักษาเป็นไปด้วยดี ขอบคุณทุกคน รักนะ!!!”

อย่างไรก็ตาม หากประธานาธิบดีทรัมป์ และผู้ดูแลอาการป่วยของเขาไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียดใดๆเกี่ยวกับอาการป่วยของผู้นำสหรัฐ ทรัมป์ก็จะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอีกคนที่ปกปิดปัญหาสุขภาพ หรืออาการป่วยไม่ให้สาธารณชนได้รับรู้ ซึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐ มีผู้นำที่ปกปิดเรื่องนี้หลายคน เริ่มจาก ประธานาธิบดีวู้ดโรว์ วิลสัน ที่ป่วยด้วยโรคไข้หวัดสเปนในเดือน เม.ย. 2462 ขณะที่เดินทางเข้าร่วมประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งบรรดานักประวัติศาสตร์และนักเขียนประวัติบุคคลสำคัญขุดคุ้ยรายละเอียดอาการป่วยของเขาในอีกหลายสิบปีต่อมา แต่ทีมบริหารของวิลสัน บอกผู้สื่อข่าวในขณะนั้นว่า ประธานาธิบดีป่วยเป็นไข้หวัด ต้องขอบคุณฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องในกรุงปารีสช่วงนั้น

ต่อมาคือ ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี รูสเวลต์ ซึ่งเป็นโรคโปลิโอตั้งเด็กและส่งผลให้เขาเป็นอัมพาตท่อนล่าง หลังจากนั้นเขาก็พยายามฟื้นฟูร่างกายเพื่อหวังกลับมาเดินได้ตามปกติอีกครั้ง และรูสเวลต์ไม่เคยแสดงความอับอายต่อโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้น แต่มุ่งมั่นกับการทำงานการเมืองจนได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้วาการรัฐนิวยอร์กในปี 2471 และได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐในปี 2475

แต่สิ่งที่แทบไม่มีคนรู้คือในเดือน ก.ค. 2487 เมื่อรูสเวลต์ลงสมัครรับเลือกตั้งชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสมัยที่4 นายแพทย์คนหนึ่งที่เป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพให้เขาอย่างลับๆ ระบุในบันทึกความจำที่ถูกนำออกเผยแพร่ในเวลาต่อมาว่าประธานาธิบดีอาจจะเสียชีวิตจากอาการหัวใจวายก่อนช่วงปลายของการดำรงตำแหน่งผู้นำในเทอมต่อไป

ประธานาธิบดีรูสเวลต์ เสียชีวิตจากอาการเลือดคั่งในสมอง หลังจากบริหารประเทศในฐานะประธานาธิบดีสมัยที่ 4 ในปี 2488 ได้ 82 วัน

คนต่อมาคือประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้ ที่บริหารประเทศตั้งแต่ปี 2504 จนถึงปี 2506 ที่ถูกลอบสังหาร ต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการป่วยหลายโรคตลอดชีวิต แต่อาการป่วยของเขาถูกปกปิดจากสาธารณชนอย่างมิดชิดก่อนจะมาถูกเปิดเผยหลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้วหลายปี

“ในช่วงวัยเด็ก เขาเป็นเด็กขี้โรค ป่วยตลอดทั้งในช่วงก่อนเข้าเรียนและช่วงเรียนวิทยาลัยก็เข้าออกโรงพยาบาลอยู่หลายปีเพื่อรักษาโรคลำไส้ ติดเชื้อ และลูคีเมีย” โรเบิร์ต ดัลเล็ก ผู้เขียนประวัติของเคนเนดี้ เขียนบทความลงในดิ แอตแลนติก ทั้งยังบอกด้วยว่า ประธานาธิบดีเคนเนดี้เป็นฝี เป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง และเป็นโรคแอดดิสัน คือโรคเรื้อรังที่เกิดจากต่อมหมวกไตทำงานสร้างฮอร์โมนต่อมหมวกไตได้น้อยกว่าในภาวะปกติมาก ซึ่งจำเป็นต้องรับการรักษาโดยใช้สเตียรอยด์ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้รู้กันโดยทั่วไปว่าประธานาธิบดีเคนเนดี้มักมีอาการปวดหลังบ่อยๆ

“หลังจากเข้าบริหารประเทศ เคนเนดี้เชื่อว่าเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากที่ต้องปกปิดอากาป่วยที่เขาเป็น ในวันหลังจากชนะเลือกตั้ง เขาจึงประกาศต่อหน้าผู้สื่อข่าวว่าร่างกายแข็งแรงและปฏิเสธข่าวลือที่ว่าเขาเป็นโรคแอดดิสัน” บทความของดัลเล็ก ระบุ

ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน วันที่ 30 มี.ค. 2524 เป็นวันแห่งชะตากรรมของประธานาธิบดีคนที่ 40 ของสหรัฐอย่างแท้จริง ในฐานะที่เป็นเป้าหมายความพยายามลอบสังหารในวอชิงตัน ดีซี แต่อีก 30 ปีต่อมา สาธารณชนได้รับรู้ว่าเรแกนเผชิญหน้านาทีเฉียดตายหลังจากผ่านการถูกลอบสังหารครั้งนั้นมาได้

เดวิด เกอร์เจน โฆษกทำเนียบขาวบอกผู้สื่อข่าวว่า หลังรอดพ้นจากความพยายามลอบสังหาร ท่านประธานาธิบดีได้เดินเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลด้วยตัวเอง ส่วนลิน นอฟซิเกอร์ ที่ปรึกษาประธานาธิบดีบอกว่า ประธานาธิบดีมีสติและสภาพร่างกายแข็งแรง และในวันต่อมา รองประธานาธิบดีจอร์จ เอชดับเบิลยู บุช บอกว่าได้ไปเยี่ยมประธานาธิบดีเรแกนและเห็นว่า“แก้มเขามีสีแดงเรื่อ...เขาดูแข็งแรงดี”

แต่สิ่งที่สาธารณชนไม่รู้คือทันทีที่เรแกนเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาล เขาก็ล้มลงในอ้อมแขนของเจ้าหน้าที่หน่วยสืบราชการลับ ส่วนหมอและพยาบาลที่ดูแลเขาต่างลงความเห็นว่า ประธานาธิบดีกำลังจะตายหรือไม่ก็ตายแล้ว

“คณะแพทย์ไม่คิดว่าท่านประธานาธิบดีจะรอด ท่านมีปัญหารุนแรงเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ อาการหนักมาก และนั่นคืออาการเฉียดตายของประธานาธิบดีเรแกน” เดล ควินติน วิลเบอร์ ผู้เขียนหนังสือชื่อ Rawhide Down: The Near Assassination of Ronald Reagan กล่าวต่อผู้ฟังที่มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเมื่อปี 2555