นักลงทุนขานรับ 'บัฟเฟต' ซื้อหุ้น 'บริษัทญี่ปุ่น'

นักลงทุนขานรับ 'บัฟเฟต' ซื้อหุ้น 'บริษัทญี่ปุ่น'

นักลงทุนในเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ของ "วอร์เรน บัฟเฟต" ขานรับการทุ่มเงิน 6.2 พันล้านดอลลาร์ ซื้อหุ้น 5 บริษัทใหญ่สุดของญี่ปุ่น ชี้อาจส่งสัญญาณว่า "เงินเฟ้อ-ดอลลาร์อ่อน" ทำให้ต้องลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวจากโควิด-19

ตามที่บริษัทเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์แถลงเมื่อคืนวันที่ 30 ส.ค. ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิด 90 ปีของนายวอร์เรน บัฟเฟตว่า เบิร์กเชียร์ซื้อหุ้น 5 บริษัทใหญ่สุดของญี่ปุ่นบริษัทละกว่า 5% ได้แก่ อิโตชู, มารูเบนิ, มิตซูบิชิ, มิตซุย และซูมิโตโม โดยมีแนวโน้มเพิ่มสัดส่วนเป็น 9.9% และหวังถือยาว

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ทั้ง 5 บริษัททำธุรกิจหลากหลาย ตรงกับรสนิยมของนักลงทุนเจ้าตำนานอย่างนายบัฟเฟต ผู้นิยมซื้อหุ้นมูลค่าที่นักลงทุนไม่ค่อยสนใจ

ด้านนักลงทุนในเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ตอบรับการซื้อหุ้นของนายบัฟเฟต ในช่วงที่หุ้นสหรัฐมูลค่าสูงสุดนับตั้งแต่เกิดฟองสบู่เทคโนโลยีเมื่อปลายทศวรรษ 90 ราคาหุ้นสหรัฐที่พุ่งสูงรอบนี้ได้แรงหนุนจากหุ้นแอ๊ปเปิ้ลและอเมซอนที่เบิร์กเชียร์ก็ไปลงทุนอยู่ด้วย

นายบิลล์ สมีด หัวหน้าเจ้าหน้าที่ลงทุน บริษัทสมีด แคปิตอล แมเนจเมนท์ ที่ลงทุนในเบิร์กเชียร์เกือบ 3% เผยว่า เมื่อได้องค์ประกอบด้านเงินเฟ้อเข้ามาผสมโรง นายบัฟเฟตกำลังย้ายการลงทุนไปในที่ที่สามารถสร้างมูลค่าได้ผ่านเงินเฟ้อ บริษัทญี่ปุ่นที่เบิร์กเชียร์เข้าไปซื้อหุ้นเป็นบริษัทที่จะทำเงินให้มากขึ้น

  • ถ้าราคาน้ำมันหรือผลผลิตเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ราคาทองคำ พันธบัตรที่เกี่ยวโยงกับเงินเฟ้อ และสินค้าโภคภัณฑ์ พุ่งสูงขึ้นตั้งแต่เดือน มี.ค. จากความหวาดกลัวว่า ชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 9 ล้านล้านดอลลาร์ของธนาคารกลางทั่วโลกเพื่อต่อกรกับโควิด-19 จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น

สัปดาห์ก่อนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศว่า เฟดจะใช้เครื่องมือใหม่ที่เรียกว่า “เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย” ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อมีความยืดหยุ่นและสามารถดีดตัวขึ้นเหนือ 2% แทนที่จะกำหนดเป้าหมายตายตัวที่ 2%

นายจิม พอลเสน หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุนบริษัทลีโธลด์กรุ๊ป กล่าวว่า ในเวลาเดียวกันเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง นี้ใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี อาจทำให้ญี่ปุ่นและตลาดต่างประเทศอื่นๆ น่าสนใจมากขึ้นสำหรับนักลงทุนสหรัฐ

ความคาดหวังว่าดอลลาร์อ่อนเป็นตัวหนุนให้นักลงทุนสหรัฐต้องการครอบครองหุ้นต่างประเทศ ที่ได้กำไรหากสกุลเงินของประเทศนั้นๆ แข็งค่าขึ้น

“นี่ยิ่งเป็นจังหวะที่ดีต่อการลงทุนในบริษัทเหล่านี้” นายพอลสันอธิบายถึงตัวเลือกของเบิร์กเชียร์ ซึ่งสอดคล้องกับจุดยืนของนายบัฟเฟตที่เน้นลงทุนในหุ้นมูลค่า

“วอร์เรนพยายามขยายขอบเขตการลงทุน แต่ยึดมั่นในอุดมการณ์ลงทุนอย่างมีคุณค่าในช่วงที่หุ้นในตลาดสหรัฐแพงมาก” นายพอล เลาต์ซิส ประธานบริษัทเลาต์ซิส แอสเสส แมเนจเมนท์ ที่ลงทุนในสินทรัพย์ของเบิร์กเชียร์เกือบ 1 ใน 5 แสดงทัศนะ

นายเจมี โรเซนวัลด์ ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้จัดการพอร์ตอาวุโส ฝ่ายการลงทุนในเอเชียและญี่ปุ่น บริษัทดาลตันอินเวสต์เมนต์ กล่าวว่า นายบัฟเฟตได้กำไรจากตลาดหุ้นญี่ปุ่นในทุกวันนี้ที่ราคาต่ำมากแต่มูลค่าสูงมาก

ตอนการประชุมประจำปีของเบิร์กเชียร์เมื่อเดือน พ.ค. บัฟเฟตเคยมองในแง่ดีว่าสหรัฐสามารถทนทานต่อการระบาดของโควิด-19 ได้ แต่ก่อนจะซื้อหุ้นญี่ปุ่นเขาเองเคยมองหาการลงทุนนอกประเทศมาก่อน เช่น เคยซื้อหุ้นบริษัทไอเอ็มซี อินเตอร์เนชันแนล เมทัลเวิร์กกิงของอิสราเอล และบริษัทเดตเลฟ หลุยส์ของเยอรมนี

นายเจมส์ อาร์มสตรอง ประธานบริษัทเฮนรี เอช อาร์มสตรอง แอสโซซิเอตส์ ที่ลงทุนในเบิร์กเชียร์ 1 ใน 4 เผยว่า จริงๆ แล้วนายบัฟเฟตชอบหุ้นสหรัฐ “เมื่อพิจารณาว่าเขาสามารถเจาะบริษัทที่มีเครือข่ายทั่วโลก แล้วเข้าไปซื้อหุ้นในราคาที่น่าสนใจได้ ก็เป็นการผสมผสานที่ลงตัว”

นายกาย สไปเออร์ ผู้จัดการพอร์ตการลงทุนบบริษัทอความารีน แคปิตอล ในซูริค มองว่า การซื้อหุ้นญี่ปุ่นอาจเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งของเบิร์กเชียร์ในตลาดจีน เพราะบริษัทเหล่านั้นใช้เวลาหาทางรับมือกับการผงาดขึ้นของจีนมากกว่าอีกหลายบริษัท

นายชาร์ลี มังเกอร์ รองประธานเบิร์กเชียร์ วัย 96 ปี เคยกล่าวในเดือน ก.พ.ว่า บริษัทจีนเติบโตแรงและเร็วกว่าบริษัทสหรัฐ

เบิร์กเชียร์ลงทุนใน บีวายดีโค บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีน ดีลนี้ช่วยให้เบิร์กเชียร์กระจายเงินสดในกองออกไป 1.45 แสนล้านดอลลาร์ด้วย ถึงตรงนี้โรเซนวัลด์จากดาลตันสรุปว่า เบิร์กเชียร์มีปัญหาระดับไฮคลาสตรงที่จำเป็นต้องใช้เงินหลายพันล้านดอลลาร์ให้ทำงาน