ธปท. คลอด มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ ผ่านรวมหนี้รายย่อย หวังลดเกิดหนี้เสีย

ธปท. คลอด มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ ผ่านรวมหนี้รายย่อย หวังลดเกิดหนี้เสีย

ธปท. ออกมาตรการช่วยลูกหนี้รายย่อยเพิ่มเติม ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ โดยวิธีการรวมหนี้ หวังลดภาระผู้กู้ ลดการเป็นหนี้เสีย เริ่ม1ก.ย.ถึงสิ้นปี 64

159852065648      นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่ ธปท. มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 19 (COVID-19) มาอย่างต่อเนื่อง นั้น

     ปัจจุบัน สถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง ภาคธุรกิจบางส่วนยังไม่สามารถดำเนินกิจการได้ตามปกติ ส่งผลกระทบต่อรายได้ของประชาชนทั่วไป

     ดังนั้น เพื่อเป็นทางเลือกในการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพิ่มเติม ธปท. ได้เห็นร่วมกันกับสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้รายย่อยด้วยวิธีการรวมหนี้ (debt consolidation)

    โดยให้สามารถนำสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นที่อยู่ภายใต้ผู้ให้บริการทางการเงิน หรือบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของผู้ให้บริการทางการเงินเดียวกัน อาทิ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อที่เกิดจากการให้เช่าซื้อ มาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วยวิธีการรวมหนี้กับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพื่อใช้ประโยชน์จากหลักประกัน

.    ซึ่งจะทำให้ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถลดอัตราดอกเบี้ยในส่วนของสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นให้เหลือไม่เกินอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate: MRR) และขยายระยะเวลาการชำระหนี้ตามความสามารถของลูกหนี้โดยที่ผู้ให้ บริการทางการเงินต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วนเพียงพอต่อการตัดสินใจของลูกหนี้

    เช่น ข้อดีข้อเสียของการเข้าร่วมมาตรการ ข้อมูลเปรียบเทียบภาระหนี้เดิมกับภาระหนี้ใหม่ และทางเลือกการปรับปรุงโครงสร้างหนี้รูปแบบอื่นที่ลูกหนี้สามารถทำได้

159852067379 มาตรการดังกล่าวจะช่วยลดภาระการชำระหนี้.       

      โดยที่ลูกหนี้ไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น ค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการอื่นใดโดยไม่จำเป็น และยังสามารถใช้วงเงินบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มีลักษณะหมุนเวียนที่ยังเหลือได้ รวมทั้งไม่ต้องจ่ายเบี้ยปรับการชำระหนี้ก่อนกำหนด (prepayment fee)

.   ทั้งนี้ ลูกหนี้สามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการและแสดงข้อมูลว่าได้รับผลกระทบต่อผู้ให้บริการทางการเงินได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564

     ธปท. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในครั้งนี้จะช่วยบรรเทาภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ในช่วงที่ยากลำบากนี้ได้ ขณะเดียวกันผู้ให้บริการทางการเงินสามารถบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยเหลือลูกหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป