ขสมก. ผุดสัญญา คุมมาตรฐานจ้างเอกชนร่วมเข้าเดินรถตามแผนฟื้นฟู

 ขสมก. ผุดสัญญา คุมมาตรฐานจ้างเอกชนร่วมเข้าเดินรถตามแผนฟื้นฟู

"สุระชัย" เผยหลักเกณฑ์ ขสมก. ควบคุมมาตรฐานเอกชนเข้าร่วมเดินรถตามแผนฟื้นฟู เพื่อบริการที่ดีที่สุด ลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนได้รับบริการที่คุ้มค่า

เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 63 นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก) เปิดเผยถึงหลักเกณฑ์ที่ ขสมก. จะมีการว่าจ้างเอกชนเดินรถ ตามแผนฟื้นฟูกิจการที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในปลายเดือน ส.ค. 63 โดยการนำรถเอกชนเข้าร่วมถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเดินรถเมล์ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อให้สามารถกำหนดค่าโดยสารในอัตราเดียว 30 บาทต่อวัน มีการเดินรถเส้นทางที่สอดคล้องไม่ทับซ้อนกันเหมือนในอดีต โดยข้อกำหนดว่าจ้างรถร่วมเอกชนเข้าร่วมในแผนฟื้นฟูฯ เอกชนจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ ขสมก. กำหนดไว้อย่างเข้มงวด โดยผู้โดยสารที่ใช้บริการจะได้ประโยชน์สูงสุด

"ยืนยันว่าข้อกำหนดที่ออกมานั้นเป็นสัญญาเชิงคุณภาพ เพื่อให้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานเดียวกันกับบริการของ ขสมก. ทั้งในเรื่องของสภาพตัวรถ พลังงานสะอาด ระบบเทคโนโลยีการให้บริการ สภาพความพร้อมของคนขับและพนักงาน รวมถึงการต้องจัดให้มีปริมาณรถวิ่งไม่น้อยกว่า 95% ตามที่กำหนดในสัญญา เพื่อให้เพียงพอในการให้บริการแก่ประชาชนอย่างสม่ำเสมอ" นายสุระชัย กล่าว

นายสุระชัย กล่าวต่อว่า สำหรับข้อกำหนดที่เข้มงวดให้รถร่วมเอกชนต้องดำเนินการ เช่น ต้องเป็นรถร่วมเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตเดินรถจากกรมการขนส่งทางบก ในเส้นทางปฏิรูป 54 เส้นทาง ต้องเป็นรถเมล์ไฟฟ้า (EV) หรือรถก๊าซ NGV เท่านั้น ต้องเป็นรถโดยสารใหม่ หรือมีอายุการใช้งานไม่เกิน 2 ปี นับตั้งแต่วันจดทะเบียน ต้องติดตั้งอุปกรณ์พร้อมระบบ E-Ticket / GPS / Wi-Fi มาพร้อมรถ ต้องเดินรถตามเงื่อนไขในสัญญาที่ ขสมก. กำหนด และวางหลักประกันสัญญา ไม่น้อยกว่าคันละ 4 ล้านบาท

นอกจากนี้ ต้องเป็นรถโดยสารชานต่ำ Universal Design ต้องวางหลักประกันสัญญาไม่น้อยกว่า 5-10% ของวงเงินตามสัญญา หากทำผิดสัญญา จะถูกริบหลักประกันจำนวนนี้ได้ ต้องจัดหารถสำรอง และต้องมีความพร้อมในการปรับปรุงเส้นทางในอนาคตอีกด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นดังกล่าวผู้ประกอบการรถร่วมเอกชน เห็นว่าข้อกำหนดค่อนข้างเข้มงวด โดยเฉพาะการกำหนดให้ต้องลงทุนจัดหารถใหม่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 2 ปี โดยเป็นรถ low floor มาตรฐานเดียวกับที่ ขสมก. กำหนด และการวางเงินหลักประกันสัญญา ทำให้รถร่วมเอกชนมีต้นทุนเพิ่มขึ้น และต้องควบคุมคุณภาพต่างๆ เพื่อไม่ให้เสียค่าปรับ

กรณีที่กำหนดให้ต้องเสียค่าปรับ เช่น แอร์ไม่เย็น รถเสียระหว่างทาง รถเสียจุกจิก วิ่งไม่ตรงแผนเดินรถที่กำหนดไว้ คนขับรถไม่พร้อม และการขับขี่รถไร้มารยาท

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ประกอบการ รถร่วมเอกชน เข้าใจดีว่า ขสมก. ต้องการทำให้ผู้โดยสารได้รับบริการที่ดีที่สุด ลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนได้รับบริการที่คุ้มค่าอย่างแท้จริง