เจ้าหนี้ 16 ราย ค้านชื่อผู้ทำแผนฟื้นฟู ‘การบินไทย’ ห่วง EY ไม่มีประสบการณ์ธุรกิจการบิน

เจ้าหนี้ 16 ราย ค้านชื่อผู้ทำแผนฟื้นฟู ‘การบินไทย’ ห่วง EY ไม่มีประสบการณ์ธุรกิจการบิน

"การบินไทย" แจงฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้คัดค้าน 16 ราย อัดปมว่าจ้าง "อีวายคอร์ปอเรท" ไม่มีประสบการณ์ด้านการบิน และไม่มีคุณสมบัติบริหารองค์กรขนาดใหญ่ ศาลนัดสืบพยานเพิ่มอีกครั้ง 20 ส.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก ศาลล้มละลายกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ วันนี้ (17 ส.ค.) เมื่อเวลา 10.15 น. ศาลล้มละลายกลางได้นัดไต่สวนครั้งแรกเรื่องการขอฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยมีผู้ยื่นคัดค้านรวมทั้งหมด 16 ราย แบ่งเป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ถือบัตรโดยสาร เจ้าหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์วชิรพยาบาล จำกัด

รวมทั้งเจ้าหนี้จากบริษัท ทิพยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) โดยส่วนใหญ่ได้ยื่นคัดค้านคณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการที่การบินไทยเสนอมา รวมทั้งมีการซักถามถึงรายละเอียดของการจัดทำแผนที่จะมีความสามารถเพียงพอต่อการชำระหนี้

ทั้งนี้ศาลล้มละลายกลาง ได้ให้พยานฝ่ายลูกหนี้คือ การบินไทย ขึ้นชี้แจง โดยกำหนดทั้งหมด 3 ปาก คือ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการ (บอร์ด) การบินไทย และตัวแทนบริษัท อีวายคอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด โดยมีผู้คัดค้านคือ เจ้าหนี้ 16 ราย ได้ส่งตัวแทนซักถามพยาน

สำหรับพยานปากแรกที่ได้ขึ้นชี้แจง และตอบข้อซักถามของผู้ยื่นคัดค้าน คือ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการ การบินไทย โดยประเด็นที่ถูกซักถามอย่างหนัก คือ กรณีของการตั้งบริษัทอีวายคอร์ปอเรทฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้ทำแผน ไม่มีประสบการณ์ด้านธุรกิจการบิน และไม่เคยบริหารงานธุรกิจระดับแสนล้านบาท

อีกทั้งยังมีทุนจดทะเบียนเพียง 10 ล้านบาท แต่จะต้องมาช่วยบริหารธุรกิจระดับแสนล้านอย่างการบินไทย ประกอบกับบริษัทอีวายคอร์ปอเรทฯ ยังเป็นคนละบริษัทกับบริษัทอีวาย คอร์ปอเรท เซอร์วิสเซส ที่เป็นผู้ตรวจสอบบัญชี และมีเครือข่ายระดับโลก

นายชาญศิลป์ ชี้แจงต่อศาลในประเด็นของการแต่งตั้งบริษัทอีวายคอร์ปอเรทฯ ว่า รับทราบว่าการแต่งตั้งบริษัทอีวายคอร์ปอเรทฯ เป็นการคัดเลือกมาตามกระบวนการที่โปร่งใส มีคณะกรรมการคัดเลือก แต่เป็นเรื่องที่ตั้งขึ้นมาก่อนที่จะเข้ามาเป็นรักษาการดีดีการบินไทย และยืนยันว่าปัจจุบันยังไม่ได้มีการจ่ายเงินให้กับบริษัทอีวายคอร์ปอเรชั่นฯ แต่อย่างใด

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการการบินไทย ตอบข้อซักถามประเด็นเดียวกับนายชาญศิลป์ โดยระบุว่า ตนได้รับรายงานเรื่องการคัดเลือกบริษัทอีวายคอร์ปอเรทฯ เข้ามาเป็นคณะผู้ทำแผน ซึ่งทราบว่าเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ และเป็นบริษัทระดับโลก ส่วนกรณีที่มีการตั้งคำถามว่าบริษัทอีวายคอร์ปอเรทฯ เป็นคนละบริษัทอีวาย ที่เป็นผู้ตรวจสอบบัญชี และมีเครือข่ายระดับโลก ตนยอมรับว่าทราบข้อมูล

ขณะที่ประเด็นบริษัทอีวายคอร์ปอเรทฯ ระบุว่ามีประสบการณ์ช่วยฟื้นฟูกิจการมา 3 บริษัท เช่น บริษัทสหฟาร์ม แต่ล้มเหลวนั้น ตอบว่าทราบ ส่วนที่ว่าสามารถชำระเงินให้เจ้าหนี้ได้เพียงเล็กน้อย แต่เรื่องดังกล่าวอยู่กระบวนการชำระหนี้ ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ

นางสาวชุติมา ปัญจโภคากิจ กรรมการบริษัท อีวายคอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นพยานที่ 3 ขึ้นตอบข้อซักถาม โดยระบุถึงประเด็นของการได้รับว่าจ้างเข้ามาเป็นที่ปรึกษาและผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยว่า บริษัทฯ ได้รับคัดเลือกเข้ามาเป็นผู้ทำแผน โดยมีการติดต่อจากการบินไทยให้เข้าไปเสนอแผน ซึ่งมีบริษัทอีกรายเข้ามาเสนอด้วย แต่บริษัทฯ ได้รับคัดเลือก โดยงานหลักคือการเข้ามาเป็นผู้ทำแผน เสนองานที่จะต้องทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการบิน

อย่างไรก็ดี หากบริษัทฯ ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาเป็นผู้ทำแผน จะต้องบริหารทรัพย์สินของลูกหนี้ และบริหารกิจการของลูกหนี้ตามกฎหมาย ทั้งนี้ ยอมรับว่าบริษัทฯ ไม่เคยมีประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจในระดับหมื่นล้าน หรือแสนล้านมาก่อน เนื่องจากที่ผ่านมา บริษัทฯ ในระดับแสนล้านไม่ได้มีการยื่นฟื้นฟูกิจการบ่อยครั้ง แต่บริษัทฯ จะเข้ามาเป็นผู้ทำแผนของการบินไทย โดยบริหารจัดการทำงานร่วมกับคณะกรรมการบริษัทอยู่ตลอด