In Porsche Family We Trust: เลือดพอร์ชข้น คนพอร์ชจาง

In Porsche Family We Trust: เลือดพอร์ชข้น คนพอร์ชจาง

ศึกสายเลือดภายในเครือญาติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ เพราะผลประโยชน์นั้นไม่เข้าใครออกใคร แม้แต่เครือญาติของตระกูลธุรกิจรถหรู Porsche

หากยังจำบทความก่อนหน้านี้ของพี่ฮูก "Crash landing on Porsche’’ ผมขอนำเสนอภาคเสริม ซึ่งเป็นเรื่องของศึกสายเลือดภายในเครือญาติของตระกูล Porsche มาเล่าให้ฟังกันต่อ 

เรื่องราวเริ่มต้นจาก Ferdinand Porsche ผู้ก่อตั้งบริษัท Porsche และมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับผู้นำนาซีอย่าง Adolf Hitler และได้มีส่วนทั้งออกแบบและผลักดัน รถแห่งประชาชน หรือ ภาษาเยอรมันเรียกว่า “Volkswagen” ออกสู่สาธารณะ โดยรถรุ่นนี้ก็คือ รถโฟล์คเต่ารุ่นแรกที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง

ครั้นเมื่อฝ่ายอักษะ ที่มี Adolf Hitler เป็นผู้นำได้พ่ายแพ้ให้กับฝ่ายสัมพันธมิตรที่มีอเมริกาเป็นผู้นำ ผลกระทบในครั้งนั้น ได้แสดงผลมาถึง Ferdinand Porsche อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจาก Ferdinand Porsche แล้ว ยังมีผลพวงโยงไปถึงลูกชายสุดรักอย่าง Ferry Porsche และ ลูกเขย Anton Piëch ที่ต้องถูกจำคุกในฝรั่งเศสอีกด้วย

Ferdinand Porsche สามารถเจรจากับทหารฝรั่งเศสให้ลูกชาย Ferry Porsche ได้รับอิสรภาพ ขณะที่ตัวเองและ Anton Piëch บุตรเขยยังต้องได้รับการทรมานอยู่ในคุกต่อไปอีก 2 ปี

ส่วนสาเหตุที่ Ferdinand Porsche เลือกที่จะให้ลูกชายได้รับอิสรภาพแทนที่จะเป็นตนเองหรือลูกเขย Anton Piëch ก็คงเดาได้ไม่ยาก..เพราะด้วยหัวอกคนเป็นพ่อ ไม่ว่าอย่างไร เราก็คงจะตัดสินใจแบบเดียวกัน หลังจาก Ferry Porsche ได้รับอิสรภาพ เขาได้มุ่งมั่นในการออกแบบรถ Porsche จนในที่สุดสามารถสร้างสรรค์รถ Porsche 356 ซึ่งถือเป็นปฐมบทของตระกูล Porsche ทั้งหลายออกมาได้

เมื่อ Ferdinand Porsche และ Anton Piëch ได้รับอิสรภาพ ก็เริ่มเข้าสู่ยุครุ่งเรืองของ Porsche โดยทาง Ferry Porsche สามารถเจรจาเรียกร้องสิทธิ์กับบริษัท Volkswagen ซึ่งอยู่ในการควบคุมกิจการของอังกฤษหลังสงครามโลก เนื่องจากได้อ้างว่าลิขสิทธิ์รถโฟล์คเต่า ได้ถูกจดทะเบียนภายใต้ชื่อ “Ferdinand Porsche” โดยได้รับค่าลิขสิทธิ์ตอบแทนจากรถโฟล์คเต่าทุก ๆ คันที่ได้ผลิต การเจรจาในครั้งนี้เป็นผลให้ทรัพย์สินของตระกูล Porsche เพิ่มมูลค่าขึ้นแบบทวีคูณ

แต่หลังจากนั้น Ferdinand Porsche ได้ล้มป่วยด้วยอาการหัวใจวายและตามด้วยการเป็นอัมพาต จนกระทั่งเสียชีวิตในเดือน มกราคม ค.ศ. 1951 ในที่สุด และได้ทิ้งธุรกิจที่มีทรัพย์สมบัติมูลค่ามหาศาลไว้ให้ลูกหลาน..และนั่นคือที่มาของมหากาพย์ครั้งนี้

  • รอยร้าวเริ่มปรากฏ

หลังการจากไปของ Ferdinand Porsche ความรัก ความเกรงใจกันในครอบครัวก็เริ่มจาง แม้จะมีสายเลือดเดียวกัน ทั้งหมดเริ่มมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย โดยแบ่งเป็น

ครอบครัวฝ่าย Ferry Porsche กับภรรยา และลูกๆ อีก 4 คน ได้แก่

  1. Ferdinand Alexander Porsche
  2. Gerhard Porsche
  3. Hans-Peter Porsche
  4. Wolfgang Porsche

อีกฝ่ายนำโดย Anton Piëch พร้อมด้วยภรรยา Louise Porsche ลูกสาวของ Ferdinand Porsche พร้อมกับลูกๆ อีก 4 คน ได้แก่

  1. Ernt Piëch
  2. Louise-Daxer Piëch
  3. Ferdinand Piëch
  4. Hands-Michel Piëch

ความบาดหมางในครั้งนี้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา จนเป็นที่รับรู้กันทั้งภายในและภายนอกบริษัท แม้สาเหตุที่แท้จริงจะไม่มีใครเคยได้ล่วงรู้และรับทราบอย่างชัดเจน

แต่ก็มีคนสันนิษฐานไว้ว่า น่าจะเริ่มจากรอยร้าวที่ได้ถูกเก็บกดเอาไว้ของฝั่งลูกๆ ครอบครัว Piëch ครั้นเมื่อ Ferry Porsche ได้รับการปล่อยตัวจากคุกในฝรั่งเศส กลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัว แต่ฝั่งครอบครัว Piëch กลับต้องเป็นฝ่ายที่ขาดเสาหลักไป

อีกสาเหตุที่น่าให้น้ำหนักไม่แพ้กันในกรณีนี้ อาจจะเป็นความแตกต่างทางทัศนคติพื้นฐานและวิธีการเลี้ยงลูกที่ตรงกันข้ามอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูของทั้งสองครอบครัว

ฝ่ายครอบครัว Anton Piëch เลี้ยงลูกอย่างเคร่งครัด มีระเบียบวินัย แฝงความกดดันเพื่อความแกร่งและการสร้างสัญชาตญาณการต่อสู้ ในทางตรงกันข้าม ครอบครัวฝ่าย Ferry Porsche ได้รับการสอนแบบปลูกฝังให้เด็กใช้จินตนาการ ให้อิสระทางความคิดอย่างเปิดกว้าง เน้นที่กระบวนการคิดโดยไม่ตีกรอบใดๆ ทั้งสิ้น

ธุรกิจของ Porsche ขณะนั้น เหมือนกับธุรกิจในครอบครัวทั่วไป ที่มีการบริหารจัดการกันเองภายในครอบครัว กล่าวคือ Ferry Porsche คุมด้านการออกแบบ ส่วนลูกชายลำดับที่ 3 อย่าง Hans-Peter Porsche เป็นหัวหน้าฝ่ายการผลิต และลูกชายคนสุดท้องของครอบครัว Piëch คือ Hans Michel Piëch เป็นหัวหน้าฝ่าย Logistics โดยมี Ferdinand Piëch เป็นหัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนา

  • ต่างแตกและแยกฝ่าย

ในปี ค.ศ. 1970 ทั้ง Ferry Porsche และ พี่สาว Louise Piëch ในวัย 60 พยายามร่วมมือกันจะสร้างความปรองดองขึ้นระหว่างสองครอบครัว โดยให้ลูกๆ ของแต่ละฝ่ายมาพักผ่อนฤดูร้อนกันที่เมืองเซลอัมเซ ซึ่งเป็นฟาร์มของตระกูลในออสเตรีย ที่ทั้ง 2 ฝ่ายเคยใช้ชีวิตร่วมกันตอนช่วงสงคราม ด้วยความหวังเต็มเปี่ยม ว่าความทรงจำในวัยเด็กจะนำมาซึ่งความสามัคคีปรองดองกันได้อีกครั้ง

ทุกท่านเดาว่าความพยายามครั้งนี้จะเกิดผลมากน้อยแค่ไหนครับ..เดาไม่ผิดครับ

ความพยายามในครั้งนี้ต้องล้มเหลว แถมได้นำไปสู่ความร้าวฉาน เมื่อหัวหน้าใหญ่ฝ่ายวิจัยและพัฒนาอย่าง Ferdinand Piëch ต้องการทุ่มทุนสร้าง Porsche 917 เพื่อใช้ในการแข่งขันรถ ในขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่าควรนำเงินลงทุนมาให้กับรถเพื่อการขาย ทั้งหมดนี้นำมาสู่การโต้เถียงกัน โดย Ferdinand Piëch เรียกตัวเองว่า “wild boar” หรือ หมูป่า และต่อว่าฝั่ง ครอบครัว Porsche ว่า หมูบ้านที่รอคอยแต่อาหารมาป้อน ความขัดแย้งในครั้งนี้ทำให้ความสัมพันธ์อันเปราะบางระหว่าง 2 ครอบครัวแตกร้าวรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นนั่นเอง การเจรจาแบ่งสมบัติจึงอุบัติขึ้น โดยทรัพย์สินของตระกูลได้ถูกแบ่งออกเป็น 10 ส่วนเท่าๆ กัน Ferry Porsche และ ลูกทั้ง 4 ได้รับไปคนละ 10% รวมเป็น 50% ขณะที่ฝั่ง Louise Porsche และลูกทั้ง 4 ก็ได้รับไปคนละ 10% รวมเป็น 50% เช่นเดียวกัน

เป็นที่น่าสังเกตว่า ภรรยาของ Ferry Porsche และ Anton Piëch สามีของ Louise Porsche ซึ่งถือเป็นคนนอกไม่ได้รับการจัดสรรในครั้งนี้ด้วย ดูแล้วช่างคล้ายคลึงกับการจัดสรรมรดกในครอบครัวคนจีนแท้แต่โบราณ แต่อาจมีส่วนแตกต่างตรงที่ลูกสาวซึ่งก็คือ Louise Porsche ยังคงได้รับการจัดสรรมรดกด้วย

หลังจากการแบ่งสมบัติเป็นที่เรียบร้อย ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะลงเอยอย่างสันติ แต่ทว่าความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่…

  • ร้าว...ฉาว

Ferdinand Piëch กลับมีพฤติกรรมไม่รู้ผิดชอบชั่วดี เขาได้ไปคบชู้กับ Marlene Porsche ซึ่งเป็นภรรยาของ Gerhard Porsche ลูกพี่ลูกน้องในครอบครัวฝ่าย Porsche ทั้งที่ตัวเองมีภรรยาอยู่แล้วและลูกๆ อีก 5 คน

ประเด็นสำคัญอีกอย่างของเรื่องฉาวนี้ คือ Ferdinand Piëch ได้สมบัติฝ่ายครอบครัว Porsche ไปด้วย เพราะตอนที่ Gerhard Porsche หย่าจาก Marlene Porsche เขาต้องยกส่วน 10% ในทรัพย์สินของตระกูลให้ Marlene ไปด้วย ส่วนเหตุผลเป็นอย่างไรไม่มีใครทราบได้ แต่การย้ายฝ่ายของ Marlene Porsche มีนัยสำคัญอย่างมาก เพราะว่ามันส่งผลให้ครอบครัว Piëch มีส่วนแบ่งในสมบัติตระกูลมากกว่าฝ่ายครอบครัว Porsche นี่จึงทำให้ความบาดหมางถึงระดับเคียดแค้นเกลียดชังกันของทั้ง 2 ครอบครัว

ในอีกด้านก็มีเรื่องเกิดขึ้น โดยในปี ค.ศ.1983 พี่ชายคนโตของฝั่ง Piëch ซึ่งก็คือ Ernst Piëch ได้แอบขายหุ้นของตนให้กับนักลงทุนชาวอาหรับ ทำให้ครอบครัวทั้งฝ่าย Porsche และฝ่าย Piëch เกิดความกังวลถึงขั้นเกรงว่าจะเกิดการ “Hostile Takeover” หรือการครอบครองโดยปรปักษ์โดยไม่รู้ตัว จึงรวมตัวกันเพื่อเจรจาขอซื้อหุ้นกลับจากนักลงทุนชาวอาหรับ ซึ่งคาดว่าคิดเป็นจำนวนเงินก็คงหลายอยู่ เป็นเหตุให้เฉพาะครอบครัว Piëch เพียงฝ่ายเดียวอาจจะมีเงินไม่เพียงพอที่จะไปเจรจาขอซื้อหุ้นกลับ จึงต้องระดมทุนจากทั้งครอบครัวฝ่าย Piëch และฝ่าย Porsche เหตุการณ์ในครั้งนี้ Porsche ได้ใช้โอกาสในการเจรจาครั้งนี้ซื้อหุ้น เพื่อเพิ่มสัดส่วนให้ครอบครัวฝ่าย Porsche กลับมามีหุ้นในสัดส่วนเหมือนเดิม พร้อมอำนาจและการตัดสินใจทุกอย่างกลับมาอยู่ที่ฝ่าย Porsche

จากดีลในครั้งนี้ ทำให้ทั้ง 2 ครอบครัวมีคำมั่นสัญญาต่อกันว่า จากนี้ไป หากสมาชิกคนใดในครอบครัวต้องการที่จะขายหุ้นส่วนของตน จะฟังความเห็นและต้องได้รับความยินยอมจากทุก ๆ คนก่อน เพื่อความยั่งยืนและมั่นคงของธุรกิจวงศ์ตระกูลต่อไปนั่นเอง

บทเรียนในครั้งนี้ พี่ฮูกว่า สุดท้ายแล้วในชีวิตคนเราเมื่อกลายเป็นผู้ใหญ่จะค้นพบว่าความสงบสุขและความสัมพันธ์ในครอบครัวมีค่าเหนือสิ่งอื่นใด เห็นได้จากทั้ง Ferry Porsche และ พี่สาว Louise Piëch ในวัย 60 ที่พยายามร่วมมือกันจะสร้างความปรองดองขึ้นระหว่างสองครอบครัว

และอีกบทเรียนที่พี่ฮูกได้คือ ความยั่งยืนและมั่นคงของธุรกิจวงศ์ตระกูลต้องมาก่อน แม้นว่าจะบาดหมางกันอย่างไร ครั้นเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของธุรกิจ สมาชิกต่างให้ความร่วมมือ สามัคคีที่จะต่อสู้ร่วมกันจนผ่านอุปสรรคนั้นมาได้

- - -

ติดตามกรณีศึกษาด้านธุรกิจที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่เพจ The Case Study