นายกฯ เน้นทำความเข้าใจให้คุมเข้มมาตรการตามข้อกำหนด ไม่มี VIP

นายกฯ เน้นทำความเข้าใจให้คุมเข้มมาตรการตามข้อกำหนด ไม่มี VIP

นายกฯ เน้นทำความเข้าใจให้คุมเข้มมาตรการตามข้อกำหนด ไม่มี VIP

วันนี้ (22 กรกฎาคม 2563) เวลา 09.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) โดยศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้


นายกรัฐมนตรีขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันชี้แจง ทำความเข้าใจกับประชาชนในทุกช่องทาง โดยภายหลังเกิดเหตุการณ์ที่จังหวัดระยอง ตนได้ลงพื้นที่ทันทีในวันรุ่งขึ้น เพื่อไปตรวจสถานการณ์และสร้างขวัญกำลังใจแก่ประชาชน ประชาชนกำลังคาดหวังกับเหตุการณ์ที่กำลังดีขึ้นโดยเฉพาะเตรียมตัวรับนักท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวที่กำลังจะมาถึง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงกระทบกับเศรษฐกิจในจังหวัดค่อนข้างมาก โชคดีที่ผลการตรวจสอบสวนโรคกระทำได้อย่างดี โดยมีการให้บริการของรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัยซึ่งเป็นรถพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันเยียวยา โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง โดยพิจารณาจัดกิจกรรมการประชุม สัมมนา ส่งเสริมการท่องเที่ยวต่างๆ ตามที่ภาคเอกชนในจังหวัดระยองได้ร้องขอด้วย


ด้านสถานการณ์การชุมนุม เป็นอีกเหตุการณ์ที่น่าห่วงกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาด โดยนายกฯ ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการอย่างเข้มงวดรอบคอบ ทั้งฝ่ายมั่นคง และสาธารณสุขต้องดูแล ไม่ละเลยมาตรการป้องกันโรค โดยภาครัฐต้องส่งเสริมช่องทาง และเปิดโอกาสให้แสดงความเห็นอย่างสันติ


ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายเกี่ยวกับ ประเด็นเรื่องการอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาในราชอาณาจักร ยังอยู่ในช่วงเตรียมการ ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขอให้ทุกฝ่ายสร้างการรับรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง พัฒนาปัจจัยความพร้อมในการดำเนินการ โดยขอให้จัดทำสื่อ infographic ประชาสัมพันธ์เพื่อชี้แจงให้ประชาชนทราบ ให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้อง และทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกเวลา เพื่อให้ประชาชนคลายความตระหนกและเป็นการป้องกันการเผยแพร่และขยายผลของข่าวปลอมได้อีกช่องทางหนึ่ง


ส่วนการนำแรงงาน 3 สัญชาติ (ลาว เมียนมา กัมพูชา) กลับเข้ามาทำงาน นายกฯ สั่งการให้กระทรวงแรงงานพิจารณาวางแผนการนำเข้าในรายละเอียดตามห้วงเวลาที่เหมาะสม แบ่งกลุ่มจัดลำดับตามความจำเป็น และปฏิบัติตามมาตรการที่ ศบค. กำหนดโดยกำหนดลำดับความเร่งด่วนของแรงงานตามกลุ่มธุรกิจที่มีความจำเป็น และมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ ตามลำดับเวลา (Timeline) เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินการ ณ บริเวณด่านช่องทางเข้าราชอาณาจักรที่ได้รับอนุญาตไว้ รวมถึงขีดความสามารถในการตรวจคัดกรองโรคต่อวัน โดยจะต้องเข้มงวดกับมาตรการในการขนส่งแรงงานดังกล่าวไปยังสถานที่กักกันโรค ซึ่งสถานที่ฯ ดังกล่าวจะต้องมีการควบคุมมาตรฐานให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ส่วนมาตรการบุคคลต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมือง ขอให้ทุกฝ่ายดำเนินการอย่างเข้มงวด ระมัดระวัง ไม่ปกปิดข้อมูล และพร้อมชี้แจงในทุกรายละเอียด ทั้งนี้ ต่อปัญหาเรื่องศักยภาพการตรวจ การกักกัน ไม่สอดรับกับจำนวนแรงงาน ซึ่งส่วนนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องค่าใช้จ่ายจึงจะมีการหารือกันเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาปัญหา โดยต้องร่วมมือกับนายจ้างต่อไป



ส่วนการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ นายกฯ สั่งการให้กระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ติดตามการดำเนินมาตรการช่วยเหลือให้ครอบคลุมและทั่วถึงทุกกลุ่ม และกำหนดมาตรการเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพ ให้เพียงพอรองรับแรงงานที่ต้องการทำงาน และเร่งสร้างทักษะใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางอาชีพหรือลักษณะการทำงานที่จะเปลี่ยนแปลงไป


ด้านความก้าวหน้าในการสนับสนุนวัคซีนโรคโควิด – 19 ในประเทศไทย นายกฯ ยินดีสนับสนุนงบประมาณในการคิดค้นและผลิตวัคซีน โดยการพัฒนาวัคซีนมีพัฒนาการอย่างมากทั้งในต่างประเทศ และในประเทศไทย โดยต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาครัฐ และภาคเอกชนในไทยกับภาคเอกชนในต่างประเทศ โดยประเทศไทยมีผู้ผลิตที่มีศักยภาพที่จะผลิตวัคซีนนี้ จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ และได้มาตรฐานสากล

ส่วนการพิจารณาความเหมาะสมในการขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรนั้นสภาความมั่นคงแห่งชาติพิจารณาเห็นว่า ในภาพรวมทั่วโลกยังคงมีการระบาดที่รุนแรง อีกทั้ง มีคนไทยจากต่างประเทศและชาวต่างชาติที่ได้รับการผ่อนผันเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ มาตรการผ่อนคลายภายในประเทศที่ดำเนินการอยู่ เป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรค จึงจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลโดยเจ้าหน้าที่รัฐตามกฎหมายเชิงป้องกันในการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ ต้องมีระบบการบริหารในลักษณะการรวมศูนย์ที่เป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ และอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะเป็นเครื่องมือเตรียมความพร้อมประเทศในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ฐานชีวิตใหม่ ในส่วนนี้นายกรัฐมนตรีขอให้ทำความเข้าใจว่ารัฐบาลไม่ได้อนุญาตหรืออนุโลมให้ VIP การปฏิบัติเป็นไปตามข้อกำหนดและความจำเป็น และมีมาตรการเข้มข้นขึ้น


ด้านการจัดทำข้อตกลงพิเศษ (Special Arrangement) มีกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญ ที่เดินทางเข้าไทยในระยะสั้นไม่เกิน 14วัน และพิจารณาภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด การพิจารณาการเตรียมความพร้อมเพื่อผ่อนคลายการบังคับใช้กฎหมายในอนาคต เช่น การอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาจัดการแสดงสินค้าในราชอาณาจักร การอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ การอนุญาตให้ชาวต่างชาติในรูปแบบ Package Tour ที่เชื่อมโยงกับ Medical and Wellness เข้ามาในราชอาณาจักร การดำเนินการต่อผู้ถือบัตรสมาชิกพิเศษประเทศไทย หรือไทยแลนด์ อีลิท การ์ด (Thailand Elite Card) ที่ประชุมได้มอบหมายกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยพิจารณารายละเอียดที่เกี่ยวข้องร่วมกับคณะกรรมการเฉพาะกิจ และกระทรวงสาธารณสุข โดยนายกรัฐมนตรีสั่งการให้กำหนดข้อปฏิบัติอย่างชัดเจน ควบคุม ติดตามตัวผู้เดินทางเข้าประเทศได้