กรมสุขภาพจิตส่ง 'ทีมเยียวยาจิตใจ”'บุคลากรการแพทย์เหยื่อวัยรุ่นตีกันใน รพ. 

กรมสุขภาพจิตส่ง 'ทีมเยียวยาจิตใจ”'บุคลากรการแพทย์เหยื่อวัยรุ่นตีกันใน รพ. 

กรมสุขภาพจิต เตรียมส่ง "ทีมเยียวยาจิตใจ" บุคลากรการแพทย์ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุวัยรุ่นตีกันในโรงพยาบาล พร้อมเน้นย้ำผู้ปกครองต้องสอนจิตสำนึกลูกหลานให้ต่อต้านความรุนแรง

เมื่อวันที่ 20 ก.ค.63  กรมสุขภาพจิต เตรียมส่งทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT) ประกอบด้วย ศูนย์สุขภาพจิตที่ 6 และหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่เยียวยาจิตใจบุคลากรทางการแพทย์ที่ประสบเหตุความรุนแรงจากวัยรุ่นก่อเหตุทะเลาะวิวาทและไล่ทำร้ายกันในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการ และแนะนำผู้ปกครองที่มีบุตรหลานในวัยเรียนสามารถใช้เหตุการณ์นี้ในการสอนให้เข้าใจถึงความรุนแรง ที่เกิดขึ้นในสังคม และผลกระทบที่เกิดขึ้น

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สำหรับเหตุการณ์วัยรุ่นวิวาทกันในโรงพยาบาลนี้เป็นเหตุการณ์ที่เริ่มเกิดบ่อยมากขึ้นในประเทศไทย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความรู้สึกไม่ปลอดภัยหรือขวัญกำลังใจในการทำงานของบุคลากร ทางการแพทย์ได้ รวมถึงอาจส่งผลต่อผู้มาใช้บริการด้านสาธารณสุขอีกด้วย กรมสุขภาพจิตจะดำเนินงานอย่างเร่งด่วนผ่านการทำงานของทีมเอ็มแคทสุขภาพจิตในพื้นที่ โดยจะมีการคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้น คัดกรองความเครียด มีการให้คำปรึกษาสุขภาพจิต การพูดคุยให้กำลังใจกับบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โดยตรงและโดยอ้อม เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบสามารถดูแลสุขภาพจิตตัวเองได้หลังจากเกิดเหตุการณ์ ตลอดจนมีแนวทางการส่งต่อผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตให้เข้ารับการรักษาเฉพาะทางจิตเวช หากพบกลุ่มเสี่ยงที่มีผลกระทบต่ออารมณ์และพฤติกรรม จะให้มีการพูดคุยกับจิตแพทย์หรือพยาบาลจิตเวชโดยตรง ซึ่งจะมีแผนการดูแลเฉพาะกลุ่มเสี่ยงนี้ โดยการเฝ้าระวังดูแลปัญหาสุขภาพจิต และส่งต่อการรักษาให้หน่วยที่รับผิดชอบต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ความรุนแรงทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับใครหรือที่ใด ในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่อย่างโรงพยาบาลซึ่งมีผู้ที่กำลังมีความทุกข์ทางกายและทางจิต มารับความช่วยเหลือ เป็นสถานที่ด้านมนุษยธรรมของประชาชนที่ควรปราศจากความรุนแรงในทุกระดับ ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันจะมีการปรับระดับรักษาความปลอดภัย ที่มากขึ้นในหลายๆสถานพยาบาลจากบทเรียนในเหตุการณ์ที่ผ่านมาหลายๆครั้ง แต่จิตสำนึกของสังคมก็มีส่วนสำคัญอย่างมากในการลดความรุนแรงในโรงพยาบาลให้หมดไปอย่างสิ้นเชิง 

159525724115

โดยจิตสำนึกที่สำคัญที่พ่อแม่และผู้ปกครองควรนำเหตุการณ์นี้สอนบุตรหลาน คือ การมีจิตสำนึกเรื่องการต่อต้านการใช้ความรุนแรง และไม่เห็นว่าความรุนแรงเป็นเรื่องที่ปกติ ซึ่งที่บ้านและโรงเรียนจะต้อง เป็นจุดเริ่มต้นและปลูกฝังเด็กในเรื่องของความรุนแรงและการทำร้ายกันทั้งอารมณ์จิตใจและร่างกาย ในวัยเด็กหากถูกใช้ความรุนแรงบ่อยๆจะนำไปสู่การทำร้ายคนอื่นในอนาคต ส่วนเด็กที่เริ่มใช้ความรุนแรง เมื่อทำบ่อยครั้งจนกลายเป็นความเคยชิน จะพัฒนา เป็นความก้าวร้าว ความรุนแรงต่อผู้อื่น ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา เป็นอันธพาลหรืออาชญากรได้ ดังนั้น สังคมจึงต้องช่วยกันใส่ใจ เร่งสร้างวัฒนธรรมไร้ความรุนแรงในสังคม ทั้งที่บ้านและในที่สาธารณะ เพื่อลดการสูญเสียคุณภาพประชากรในสังคมที่เกิดขึ้นจากผลกระทบปัญหานี้ในระยะยาว หากผู้ปกครองท่านใดเริ่มเห็นบุตรหลานมีแนวโน้มใช้ความรุนแรงมากขึ้น สามารถปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือ สถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อได้รับการดูแลรักษาจากผู้เชี่ยวชาญต่อไป