ส่องผลกระทบ COVID-19 ต่อการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ (FDI)

ส่องผลกระทบ COVID-19 ต่อการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ (FDI)

ส่อง 3 สาเหตุสำคัญ ทำไมวิกฤติโควิด-19 ถึงส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่า การลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ หรือ FDI จากทั่วโลกในปีนี้ จะติดลบราว 30-40%

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกในหลายภาคส่วน รวมถึงการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ (FDI) ด้วยเช่นกัน โดย UNCTAD ได้คาดว่า Global FDI จะลดลงประมาณ -30 ถึง -40% ในปีนี้ (คาดการณ์ ณ เดือนมิ.ย. 2020) ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับคาดการณ์ของ OECD โดยมีสาเหตุสำคัญ 3 ประการ ได้แก่

1.มาตรการปิดเมืองทำให้โปรเจคการลงทุนประสบความล่าช้าหรืออาจโดนยกเลิก UNCTAD พบว่าโครงการการเงิน (Project finance) ทั่วโลกในเดือน เม.ย.ลดลงประมาณ 40% จากค่าเฉลี่ยรายเดือนในปี 2019 และลดลงเกือบ 50% จากเดือน มี.ค. โดยส่วนใหญ่เป็นการหดตัวจากโครงการการเงินในประเทศกำลังพัฒนา สะท้อนถึงแนวโน้มการหดตัวของโปรเจคการลงทุน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของ FDI ในปีนี้

2.เศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอยทำให้บริษัทมีกำไรลดลง หรือบางบริษัทอาจมีความจำเป็นต้องปิดกิจการ จึงทำให้เม็ดเงินลงทุนมีแนวโน้มลดลงมาก โดย Multinational enterprises (MNEs) ชั้นนำ 5,000 แห่ง ได้มีการปรับการคาดการณ์กำไรในปี 2020 จะหดตัวมากถึง 36% (เก็บข้อมูลในเดือน ก.พ.-พ.ค.) 

3.หลายประเทศมีแนวโน้มถอนฐานการผลิตกลับประเทศของตนเอง นอกจากความตึงเครียดด้านสงครามการค้าที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้าแล้ว การใช้มาตรการปิดเมืองทั่วโลกเพื่อควบคุมการระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ผลกระทบจากปัญหา supply chain disruption เร่งตัวขึ้น ทำให้หลายบริษัทพิจารณาเน้นการผลิตในประเทศมากขึ้น 

จากแนวโน้มที่ซบเซาด้านการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศของทั้งโลก จึงทำให้คาดว่าเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติที่จะมาลงทุนในไทยปีนี้ก็น่าจะได้รับผลกระทบเช่นกัน 

โดยจากข้อมูลล่าสุดของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่าสถิติการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติโดยรวมและในเขตพื้นที่ EEC มีมูลค่าลดลงถึง 67%YOY และ 70%YOY ตามลำดับ

แม้ว่าในปีนี้ แนวโน้มการลงทุนจากต่างชาติในพื้นที่ EEC อาจมีมูลค่าลดลง แต่ภาครัฐก็ควรเร่งสร้างพื้นที่ EEC ให้มีความพร้อมในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อที่จะสามารถดึงดูดนักลงทุนชั้นนำจากต่างชาติได้ทันท่วงทีเมื่อเหตุการณ์ด้านโรคระบาดคลี่คลายและการลงทุนระหว่างประเทศปรับตัวดีขึ้น 

นอกจากนี้จากการศึกษาข้อแนะนำด้านนโยบายที่ควรทำของ Investment Promotion Agencies (IPAs) ในช่วงวิกฤติ COVID-19 ของทั้ง UNCTAD และ OECD พบข้อแนะนำที่ไทยอาจนำมาประยุกต์ใช้ได้ ดังนี้ 

การให้ข้อมูลที่รวดเร็วเกี่ยวกับ COVID-19 และมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ รวมถึงกฎระเบียบใหม่ๆ ที่ต้องทำ เช่น เงื่อนไขการเดินทางเข้าประเทศ และการกักตัว เป็นต้น, เตรียมกระบวนการขอลงทุนผ่านออนไลน์และเป็นรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น, ภาครัฐอาจต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อให้ความสำคัญต่อการลงทุนในบางอุตสาหกรรมที่อยู่ในกระแสมากขึ้น เช่น ด้านการแพทย์ ด้านสาธารณสุขอิเล็กทรอนิกส์ (e-Health) และ E-commerce เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมีความสำคัญมากขึ้นจากเหตุการณ์การระบาดของ COVID-19

IPAs ควรทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างภาครัฐและนักลงทุนในช่วงวิกฤติ ด้วยการรับฟังความต้องการจากฝั่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบและนำไปเสนอให้ภาครัฐเพื่อออกนโยบายช่วงเหลือให้ตรงจุดและมีประสิทธิผล